มาแน่! วัตถุจากฟ้าพุ่งลงโลก 13 พ.ย. 13.20 น. เชื่อเป็นขยะอวกาศ-ไม่ใช่

มาแน่! วัตถุจากฟ้าพุ่งลงโลก 13 พ.ย. 13.20 น. เชื่อเป็นขยะอวกาศ-ไม่ใช่อุกกาบาต


(3 พ.ย.58) รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)(สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณีที่หลายพื้นที่ทั่วประเทศมองเห็นลูกไฟสีเขียวพุ่งลงมาจากท้องฟ้าเมื่อช่วงค่ำของคืนวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จนสร้างความแตกตื่นให้กับผู้คนจำนวนมากนั้น การวิเคราะห์เบื้องต้น น่าจะเป็นชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อยที่หลุดเข้ามาในวงโคจรของโลก คาดว่าเดิมน่าจะมีน้ำหนักประมาณ 30-40 ตัน วัตถุดังกล่าวมีองค์ประกอบของโครเมี่ยม ซึ่งทำให้เห็นแสงเป็นสีเขียว ต่างกับชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อยที่ตกลงมายังโลกเมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ที่มีองค์ประกอบของแมกนีเซียม จึงเห็นเป็นแสงสีเหลือง โดยชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อยดวงล่าสุดนี้ คาดว่า น่าจะเป็นเป็นส่วนหนึ่งของฝนดาวตกกลุ่มดาวทอริด ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ด้วย

\"ตอนนี้ทางสดร.ได้รวบรวมข้อมูลทุกอย่าง ทุกทาง ส่งไปให้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา(นาซา) เพื่อให้เขาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้องกลับมาให้ แต่เบื้องต้นคือ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ปกติมาก เพราะแต่ละวันจะมีชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อย หรือขยะอวกาศตกลงสู่โลกทุกวัน วันละหลายหมื่นดวง รวมน้ำหนักแล้วไม่ต่ำกว่า 1 แสนตัน แต่ถือเป็นความบังเอิญที่เราเห็นปรากฏการณ์นี้ถึง 2 ครั้ง ในระยะเวลาที่ใกล้ๆกันคือห่างกันเพียง 2 เดือนเศษเท่านั้น ขอเรียนว่า ไม่ต้องตกใจ หรือกังวลใจเป็นปรากฏการณ์ปกติ\" รศ.บุญรักษา กล่าว

ผู้สื่อข่าวได้ถามว่า ในลูกไฟที่ตกลงมาพื้นโลกนั้น จะมีเชื้อโรคจากนอกโลก หรือมีสารกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนเข้ามาหรือไม่ รศ.บุญรักษา กล่าวว่า เชื้อโรคไม่น่าจะมี เพราะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงผ่านชั้นบรรยากาศจนลุกไหม้ ส่วนกัมมันตภาพรังสี ยังตรวจสอบไม่ได้ คาดว่าไม่น่าจะมีเช่นกัน

ด้านนายวิมุติ วสะหลาย กรรมการวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า ถึงแม้โอกาสที่วัตถุท้องฟ้า หรือดาวเคราะห์น้อย จะชนโลกมีน้อยมาก แต่โอกาสอันน้อยนิดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าโลกจะปลอดภัย 100% เพราะเวลานี้ ยังถือว่า โลกยังมีสายตาที่ไม่มากพอที่จะคอยสอดส่อง ว่ามีวัตถุใดมากที่เข้าใกล้ หรือเฉียดโลกไปบ้าง เพราะหลายครั้งที่วัตถุท้องฟ้า หรือดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกแล้วไม่มีใครมองเห็น จนเข้าระยะจวนเจียนจริงๆ

\"ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่น่าตกใจมาก คือ เมื่อคืนฮาโลวีน หรือเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีดาวเคราะห์น้อยชื่อ 2015 TB 145 เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาด 450 เมตร หรือขนาดภูเขาย่อมๆลูกหนึ่ง เคลื่อนที่เข้าใกล้โลก ด้วยระยะ ห่างแค่ 487,000 กิโลเมตร ไกลกว่าระยะดวงจันทร์แค่ 30%เท่านั้น โดย ดวงจันทร์ห่างจากโลก 384,000 กิโลเมตร หากดาวเคราะห์น้อยดวงดังกล่าว เข้าชนโลกจริงๆโลกจะได้รับความเสียหายอย่างมาก โดยข้อมูลจากองค์การนาซาระบุว่า เพิ่งจะค้นเจอ 2015 TB 145 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ก่อนหน้าที่จะมาเฉียดโลกแค่ 21 วันเท่านั้นเอง\" นายวิมุติ กล่าว และว่า เวลานี้ มีดาวเคราะห์น้อยดวงที่อยู่ใกล้โลกที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เรียกว่า วัตถุใกล้โลก (NEO-- Near Earth Objects) อยู่ประมาณ 1 หมื่นกว่าดวง และในจำนวนนี้ มีประมาณ 1,600 กว่าดวง ที่จัดอยู่ในประเภท อันตราย (PHA--Potentially Hazardous Asteroid) ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

นายวิมุติ กล่าวด้วยว่า แม้ในขณะนี้จะยังไม่พบดาวเคราะห์น้อยดวงใดที่จะชนโลก แต่ในวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ จะมีวัตถุดวงหนึ่งชนโลกอย่างแน่นอน วัตถุดวงนี้ไม่ใช่ดาวเคราะห์น้อย ไม่ใช่ดาวหาง แต่เชื่อว่าเป็นขยะอวกาศ มีชื่อว่า WT1190F ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ติดตามวัตถุดวงนี้ได้อย่างละเอียด จึงพยากรณ์เวลาและจุดตกได้อย่างแม่นยำว่า จะตกลงในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากชายฝั่งของประเทศศรีลังกาไปทางใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร ในเวลา 13:20 น. ของวันที่ 13 พฤศจิกายน ตามเวลาประเทศไทย คาดว่าเป็นชิ้นส่วนของจรวด ซึ่งอาจเป็นของแซทเทิร์น 5 หรืออาจของรัสเซีย หรือ จีน ซึ่งขยะอวกาศดังกล่าวมีลักษณะกลวง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร น่าจะถูกเผาไปจนหมด หรืออาจเกือบหมดในบรรยากาศ เชื่อว่าคนในศรีลังกาและใกล้เคียงจะเห็นเป็นลูกไฟดวงใหญ่แน่นอน

ที่มา:MatichonOnline



04/11/2558