"ยึดทรัพย์-ขึ้นเครดิตบูโร" ถึงเวลา กยศ.ใช้"ยาแรง"

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สร้างโอกาสให้แก่น้องๆ ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากขึ้น นับตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนจนปัจจุบัน 20 ปี กยศ.ใช้เงินจากภาษีประชาชนปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 4 ล้านราย วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท แต่ผลตอบแทนกลับมาน่าใจหาย เมื่อพบว่ามีน้องๆ ที่ครบกำหนดชำระเงินกู้ ได้ชำระคืนแค่ 40% ส่วนอีก 60% ค้างชำระ!!

กลุ่มที่ค้างชำระ 60% แยกเป็นกลุ่มที่ไม่ตั้งใจเบี้ยวหนี้ แต่เพราะตกงานหรือมีเงินเดือนไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ กลุ่มนี้นับเป็นความสูญเสียที่เกิดจากรัฐบาลบริหารผิดพลาดโดยไม่ได้พิจารณาว่าสาขาตลอดจนตัวผู้กู้เอง มีศักยภาพพอที่จะชดใช้หนี้ได้หรือไม่ อีกกลุ่มคือกลุ่มที่มีงานทำและได้รับเงินเดือนเพียงพอที่จะชดใช้หนี้ แต่กลับละเลยไม่ชำระซึ่งเคยมีการสำรวจพบว่าผู้ที่จบสาขาแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข มีอัตราการค้างชำระหนี้สูงถึง 50% ทั้งที่เป็นวิชาชีพที่ไม่น่าจะมีปัญหาด้านการเงิน สะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาที่ไม่อาจปลูกฝังให้เด็กมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ถือเป็นความสูญเปล่า และน่าเป็นห่วงกว่ากลุ่มแรกที่ตั้งใจจะชำระหนี้ เพียงแค่ไม่อาจทำได้

รัฐไม่ได้ร่ำรวยถึงขั้นสามารถเติมเงินให้กับกองทุนได้มากมายทุกปี ฉะนั้น ถ้ารุ่นพี่ไร้จิตสำนึกที่จะชดใช้คืน เงินหมุนเวียนที่จะนำมาปล่อยกู้ให้รุ่นน้องย่อมไม่เพียงพอ เห็นได้ชัดในปีการศึกษา 2558 ที่ กยศ.จำกัดผู้กู้รายใหม่ไม่ให้เกิน 200,000 ราย

การรณรงค์โดยพยายามกระตุ้นจิตสำนึกให้เด็กชำระคืนไม่ได้ผล กยศ.สูญเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความติดตามทวงหนี้กว่า 3,200 ล้านบาท ขณะที่ได้เงินกลับคืนมา 3,000 ล้านบาท แต่ยังจำเป็นที่จะต้องจ้างทนายต่อ ไม่เช่นนั้นคดีความจะหมดอายุซึ่ง กยศ.จะมีความผิด ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ที่ผ่านมา กยศ.ยกเลิกโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเมื่อปี 2557 และรณรงค์ให้หน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนร่วมโครงการหักเงินเดือน ณ ที่จ่ายแทนซึ่งวิธีนี้จะได้ผลมากกว่า โดยกรณีผู้กู้ยืมยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือน สำหรับผู้ที่ไม่ค้างชำระ เมื่อชำระเสร็จสิ้นแล้ว จะได้เงินคืนร้อยละ 1 ของเงินต้นคงเหลือ สำหรับผู้กู้ที่ค้างชำระ หากยินยอมชำระหนี้เป็นปกติ จะได้ลดเบี้ยปรับ 100% หรือหากไม่สามารถชำระหนี้ให้เป็นปกติได้ กองทุนจะปรับโครงสร้างหนี้ใหม่พร้อมลดเบี้ยปรับ 50% และมีระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญา

ส่วนกรณีผู้กู้ยืมปิดบัญชี สำหรับผู้กู้ที่ไม่ค้างชำระจะได้เงินคืนร้อยละ 3 ของเงินต้นคงเหลือ แต่สำหรับผู้กู้ที่ค้างชำระ จะได้ลดเบี้ยปรับ 100%

นอกจากนี้ กยศ.ยังงัดมาตรการดัดหลังผู้กู้ที่เบี้ยวหนี้ด้วยการส่งรายชื่อเข้าสู่ระบบเครดิตบูโร รวมถึงฟ้องยึดทรัพย์ ล่าสุดมีผู้ถูกฟ้องและไม่มาชำระคดีตามที่ถูกบังคับคดี จึงถูกยึดทรัพย์ไปแล้ว 786 ราย รวมเป็นเงิน 22 ล้านบาท และมีผู้ที่เข้าข่ายจะถูกยึดทรัพย์อีกจำนวน 4,175 ราย รวมเป็นเงิน 109 ล้านบาท ทั้งหมดเป็นผู้กู้ที่อยู่ในช่วงปีการศึกษา 2547 สำหรับปี 2558 กยศ.ได้ฟ้องร้องผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้แล้ว 120,622 ราย และปี 2559 กยศ.จะฟ้องอีก 1.3 แสนราย

เมื่อการรณรงค์ให้ผู้กู้มีจิตสำนึกไม่ได้ผลกับคนบางกลุ่ม ก็ถึงเวลาแล้วที่ กยศ.ต้องใช้ยาแรง ไม่เช่นนั้นคนกลุ่มนี้ก็จะไม่ตระหนัก ละเลยและขาดจิตสำนึกอยู่อย่างนี้ ซึ่งสุดท้ายผลเสียจะตกกับรุ่นน้องที่จะขาดโอกาส ทั้งสะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาที่ไม่อาจสอนและปลูกฝังให้เด็กมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมได้

ที่มา:MatichonOnline



25/10/2558