รมว.ศึกษาฯ สั่ง สพฐ. ลดจัดอบรมครูในโรงแรม-ลดกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการเ

วันนี้ (8 ต.ค.) พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สพฐ.เป็นหน่วยงานใหญ่ มีครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดกว่า 4 แสนคน งบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท แต่สังคมมองว่า การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานยังไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควรเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณมหาศาลที่รัฐทุ่มเทลงไป เพราะฉะนั้น การประชุมร่วมระหว่างตนและผู้บริหาร สพฐ. จึงได้หยิบยก 2 ปัญหาใหญ่ ที่ส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กและเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณอย่างไม่เกิดประโยชน์ขึ้นมาหารือ ประเด็นแรก คือ ปัญหาเรื่องการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ปัจจุบันการอบรมครูมักจัดในรูปแบบอบรมสัมมนาตามโรงแรม ระยะเวลา 3-4 วัน ใช้งบประมาณจำนวนมากในการจัดงาน ซึ่ง สพฐ. รายงานให้ทราบว่า มีการจัดอบรมสัมมนาครูในลักษณะนี้หลายครั้ง บางงานเป็นการอบรมขนาดใหญ่มีครูจำนวนมากมาร่วมกว่า 7,000 คน ใช้งบประมาณสูง มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ค่าโรงแรม ค่าเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยง ซึ่งก็มีคำถามว่าการใช้งบประมาณดังกล่าวเกิดประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ แต่ก็มีงานวิจัยกลับชี้ว่า การอบรมครูในลักษณะนี้ไม่คุ้มค่า และไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร

“จะให้ สพฐ. ปรับรูปแบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ ลดการจัดสัมมนาอบรมตามโรงแรมลงทันที และเปลี่ยนมาใช้วิธีจัดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างครูในพื้นที่ ซึ่งจะประหยัดและเกิดผลประโยชน์มากกว่า โดยให้ สพฐ. ไปจัดทำรายละเอียดของรูปแบบการพัฒนาครูตามแนวทางดังกล่าว เพื่อนำมาใช้ทันทีในปี 2558 แทนที่เราจะเอาเงินไปจัดสัมมนาตามโรงแรม ซึ่งไม่ได้ประโยชน์อะไร ก็ควรจะลดการจัดสัมมนาตามโรงแรมลง แล้วไปพัฒนาครูในรูปแบบอื่นๆ ที่ได้ประโยชน์แทนไม่ต้องไปอบรมตามโรงแรม สามารถใช้สถานที่ต่างๆ ในชุมชน แม้กระทั่งวัด มาใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมได้เชิญวิทยากรเก่งๆ มาให้ความรู้แก่ครู จะทำให้ครูได้ประโยชน์กลับไปมากกว่าและประหยัดงบประมาณด้วย” พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหาเรื่องการพัฒนาครูแล้ว ยังได้พูดถึงปัญหาเรื่องเด็กเรียนถูกดึงตัวออกจากห้องเรียน โดยไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนโดยตรง เช่น กิจกรรมเดินชูป้ายรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด กิจกรรมปลูกป่า เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ มาจากหน่วยงานภาคนอกกระทรวง ตนเข้าใจดีว่าเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ และจัดทำขึ้นด้วยความหวังดีต่อเด็ก แต่กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เด็กไม่ได้อยู่ในห้องเรียน และกิจกรรมเหล่านี้ก็มีเข้ามาในโรงเรียนจำนวนมาก ข้อมูลของ สพฐ. พบว่า แต่ละปีมีกิจกรรมลักษณะนี้เข้ามาให้สถานศึกษากว่า 60 โครงการต่อปี

“ผมได้สั่งให้ปรับลดกิจกรรมเหล่านี้ลงอันไหนที่ซ้ำซ้อน ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนเท่าที่ควร ให้ตัดออก ส่วนกิจกรรมที่พิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน ก็ให้ผนวชเข้าไว้ในหลักสูตร เพื่อที่เด็กจะได้สามารถเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ได้ในห้องเรื่อง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เด็ก ได้มีเวลาอยู่ในห้องเรียนมาขึ้น เพราะการที่เด็กไม่ได้อยู่ในห้องเรียน รวมถึงปัญหาเรื่องคุณภาพของครูส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก เพราะฉะนั้น ผมจึงได้หยิบ 2 ปัญหานี้ขึ้นมาหาทางแก้ไข เพื่อให้เด็กได้มีเวลาอยู่ในห้องเรียนเพิ่มมากขึ้นและให้มีรูปแบบในการพัฒนาครูที่ได้ผลจริงๆ” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว


ที่มา:ASTVผู้จัดการออนไลน์ 8 ตุลาคม 2557 16:29 น.



08/10/2557