ลดเวลาเรียนเด็กท้าทายหลักสูตรใหม่

\"นักวิชาการ\" ชี้ลดเวลาเรียนเด็กเหลือครึ่งวัน และทำกิจกรรมอีกครึ่งวัน เป็นประเด็นท้าทายออกแบบหลักสูตรใหม่มากที่สุด ระบุต้องเน้นโครงสร้าง 3 ส่วน ความเป็นไทย ทักษะอาชีพ และความรู้สากล

อาจารย์สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นแนวทางการแก้ไขหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศใหม่ทั้งหมด ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า เห็นด้วยที่ สพฐ.จะดำเนินการ เนื่องจากหลักสูตรที่ใช้ปัจจุบันใช้มานานตั้งแต่ปี 2544 ถือว่าล้าสมัยและมีเนื้อหามากเกินไป ดังจะเห็นได้ว่าตอนนี้ไม่มีที่ว่างพอในการเพิ่มเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์และ หน้าที่พลเมืองลงไป และคงทำไม่ได้หากไม่มีการปรับหลักสูตรขึ้นใหม่
อีกทั้งหลักสูตรเดิมยังเน้นเรื่องมาตรฐานและตัวบ่งชี้มากกว่ากระบวนการเรียน รู้ของเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับการใส่ใจน้อยมาก นอกจากนี้ การแบ่งกลุ่มสาระวิชาออกเป็น 8 กลุ่ม ทำให้เด็กต้องใช้เวลาเรียนแทบทั้งวัน ไม่มีเวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆ ส่งผลให้เด็กได้รับการบ้านจากครูมากเกินไป เพราะครูไม่เคยประชุมภาพรวมการเรียนของเด็ก ครูที่สอนในวิชาสาระหลักต่างคิดว่าตัวเองมีอำนาจหน้าที่ในการให้การบ้านใน วิชาของตัวเอง ส่งผลให้เด็กทุกวันนี้มีการบ้านท่วม
\"มิหนำซ้ำในวัตถุประสงค์หลักสูตรเดิมยังเขียนอีกว่า เด็กเรียนเพื่อใช้ศึกษาต่อ ซึ่งเท่ากับบอกให้เด็กเรียนไปเพื่อไปแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเราต้องเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ตรงนี้ใหม่\"
อาจารย์สมพงษ์เสนอว่า การแก้ไขตัวหลักสูตรต้องหันมาเน้นโครงสร้าง 3 ส่วน คือ 1.ด้านทุนความเป็นไทย ทั้งในแง่วัฒนธรรม ต้องเสริมสร้างค่านิยมรักชาติ ศาสนา ให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม 2.ต้องเน้นความเป็นสัมมาอาชีพ การมีงานทำ เด็กเรียนแล้วสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ ไม่หยิบโหย่งหรือจับจด ซึ่งต้องมีการปลูกฝังการเรียนอาชีวะในภาพพจน์ใหม่ 3.ทุนทางสากล ในหลักสูตรต้องมีเนื้อหาที่สร้างเด็กให้เป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 นำความรู้วิทยาการใหม่ๆ เช่น นำหลักการเรียนแบบ STEM หรือไอที เข้ามาใส่ไว้ในหลักสูตร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายการออกแบบหลักสูตรครั้งนี้ อาจารย์สมพงษ์กล่าวว่า คือการลดเวลาเรียนของเด็ก หรือการทำให้เด็กใช้เวลาเรียนแค่ครึ่งวัน และทำกิจกรรมครึ่งวันที่เหลือให้ได้ ซึ่งต้องมีการสังคายนากันใหม่ในเรื่องนี้ รวมไปถึงระบบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนให้มีหลายช่องทาง ทั้งระบบแอดมิชชั่น เด็กกิจกรรม เด็กจิตอาสา เด็กความสามารถพิเศษ เพราะตอนนี้เด็กไปสอบตรง 70% ทำให้แอดมิชชั่นเหลือที่นั่งจำนวนมาก
\"จังหวะเวลานี้เหมาะที่สุดที่จะแก้ไขหลักสูตร คิดว่าใช้เวลาปูพื้น ออกแบบเนื้อหา รูปแบบหนึ่งปี ส่วนการจะนำไปใช้จนเป็นเนื้อเดียว หลายฝ่ายเข้าใจตรงกันต้องใช้เวลาหลายปี\" อาจารย์สมพงษ์กล่าว.


ที่มา:หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ Thursday, 28 August, 2014 - 00:00



28/08/2557