ลั่นทายาทสมาชิกช.พ.ค.ไม่ชวดเงิน

นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กล่าวถึงการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษากรณีถึงแก่กรรม (ช.พ.ค.) ที่ทางสมาชิกมีความสงสัยว่า เมื่อเกิดการเสียชีวิตของสมาชิก ช.พ.ค.แล้ว ทายาทจะได้รับผลประโยชน์หรือไม่ ว่า ตนยืนยันว่าเมื่อสมาชิกเสียชีวิต ทายาทจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กำหนดไว้แน่นอน เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครไม่ได้รับเงิน มีแต่กรณีได้รับล่าช้า เนื่องจากมีเหตุจำเป็น อาทิ มีผู้คัดค้านการรับเงินตามข้อกฎหมาย หรือ สมาชิกเสียชีวิตโดยการถูกฆาตกรรม เป็นต้น

โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีสมาชิกเสียชีวิตไปแล้วจำนวน 3,207 คน เฉลี่ยแล้วมีผู้เสียชีวิตเดือนละ 400-600 คน ซึ่งเมื่อสมาชิกจ่ายเงินมาครบแล้ว ทางโครงการฯ จะหักเป็นค่าบริหารจัดการไม่เกิน 4% ของยอดเงินที่จะได้รับทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าด้วยการฌาปณกิจสงเคราะห์ของส่วนราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจและองค์กรวิชาชีพ ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้กำกับของรัฐ พ.ศ.2547 และทายาทจะได้รับเงิน ช.พ.ค.รายละประมาณ 9.5 แสนบาท

สำหรับการจ่ายเงิน สกสค.จะจ่ายให้งวดแรกทันที 200,000 บาท เมื่อญาติมาแจ้งว่ามีการเสียชีวิต โดยต้องมีใบมรณบัตรของสมาชิกที่เสียชีวิต หนังสือรับรองการเป็นผู้จัดการงานศพที่ออกโดยวัด และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นหนังสือของรับเงิน ทะเบียนบ้านของสมาชิกที่เสียชีวิตและทะเบียนบ้านของผู้จัดการศพ สำหรับที่เหลือจะจ่ายให้ภายใน 30 วันนับแต่มีการประกาศรายชื่อผู้เสียชีวิต ซึ่งจะประกาศผ่านเว็บไซต์ของ สกสค. และติดประกาศที่ สกสค.ทุกจังหวัด ประมาณวันที่ 25 ของแต่ละเดือน แต่ที่ผ่านมาผู้ร้องเรียนบอกว่าไม่เคยมีการประกาศรายชื่อผู้เสียชีวิต ก็อาจเป็นไปได้ เพราะสมาชิกบางคนก็อาจไม่ได้สนใจเปิดเข้าไปดู

ส่วนกรณีที่มีผู้ร้องเรียนโดยขอให้ตรวจสอบการกู้เงินในโครงการกองทุน ช.พ.ค.ของธนาคารออมสิน และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) นั้น ขณะนี้ตนขอข้อมูลจากทางบริษัทประกันแล้ว ซึ่งบริษัทได้ให้ข้อมูลว่าธนาคารจำเป็นต้องหาหลักประกันการกู้ที่แน่นอน ซึ่งหากให้ทำกรมธรรม์ประกันชีวิตจะต้องเสียค่าเบี้ยในอัตราที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น บริษัท ทิพยประกันภัย จึงทำเป็นโครงการพิเศษคือ กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุสุขภาพและสินเชื่อ ซึ่งครอบคลุมและได้รับผลประโยชน์ไม่น้อยกว่าการประกันชีวิต ทายาทที่เหลือไม่ต้องรับภาระหนี้ แต่เมื่อมีผู้ร้องเรียนว่าเบี้ยประกันมีวงเงินสูงเกินไป ก็อาจจะต้องมาหารือว่าควรต้องมีการปรับเงื่อนไข หลักเกณฑ์การปลอยกู้หรือไม่ และได้มีการพูดคุยกับผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ขอข้อมูลราคาขั้นสูง-ต่ำของประกันประเภทต่างๆ เพื่อใช้เปรียบเทียบเบี้ยประกันทั้งในระยะปีต่อปี และ 9 ปี รวมไปถึงกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุสุขภาพและสินเชื่อที่ครูทำด้วย และในการประชุมคณะกรรมการกองทุน ช.พ.ค. วันที่ 17 มิถุนายนนี้ ตนจะเสนอนำข้อมูลที่ได้มาจาก คปภ.ให้ที่ประชุมร่วมพิจารณา เพื่อหาแนวทางปรับหลักเกณฑ์การกู้ ซึ่งมีหลายแนวทาง อาทิ เสียค่าเบี้ยเป็นรายปี ไม่ต้องเสียทีเดียว เป็นต้น หากได้ข้อสรุปอย่างไรก็จะต้องไปหารือทางธนาคารออมสินต่อไป

\"ที่ผ่านมามีการไปบอกต่อๆ กันว่าไม่ต้องนำเงินมาชำระหนี้ เพราะ สกสค.ได้รับเงินคืนจากธนาคารออมสิน 1% และมีเงินสำรองจ่ายแทนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเงินจำนวนนั้น สกสค.จะต้องนำไปบริหารจัดการในส่วนต่างๆ และที่สำคัญผู้กู้เองก็ควรจะมีวินัยในการใช้หนี้ด้วย ไม่ใช่ถือโอกาสช่วงที่มีปัญหาไม่มาชำระหนี้ และผมก็คุยกับบอร์ด ช.พ.ค.และธนาคารออมสิน เพื่อหารือถึงมาตรการดำเนินการกับผู้ที่ผิดนัดการชำระหนี้ ซึ่งปัจจุบันมียอดชำระน้อยกว่ายอดค้างชำระ และหากเป็นไปตามที่เสนอ อาจจะต้องมีการชะลอการปล่อยกู้ให้กับผู้กู้รายใหม่ไว้ก่อน เพื่อรอการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ให้เรียบร้อย โดยขณะนี้มีผู้ยื่นกู้แล้วประมาณกว่า 1,000 ราย ขณะเดียวกันจะหารือปรับลดค่าบริหารจัดการ 4% ที่หักจากเงิน ช.พ.ค. ให้เหลือ 3.5% เพื่อให้ทายาทหรือผู้รับผลประโยชน์ได้รับเงิน ช.พ.ค มากขึ้น” ปฏิบัติหน้าที่ เลขาฯ สกสค.กล่าว.


ที่มา:ไทยโพสต์ Friday, June 12, 2015 - 00:00



12/06/2558