ศธ.-ทปอ.ไม่เชื่อไม้บันทัด"WEF" ระบุสะท้อนการศึกษาไทยมิได้ทั้งหมด

ปลัด ศธ.โต้ผลประเมิน WEF ยังไม่น่าเชื่อถือ เพราะมีตัวชี้วัดหลายตัวให้ประเมินได้ อีกทั้งจีดีพีของไทยไม่ต่ำ สะท้อนศักยภาพแข่งขันยังดี ยอมรับต่อไปจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบการศึกษา ส่วนเลขาฯ สอศ.ไม่มั่นใจไม้บันทัดของ WEF ระบุไม่ได้สะท้อนคุณภาพทั้งหมด ด้านรักษาการประธาน ทปอ.ชี้ตัวเลข WEF ต่ำจนน่าเกลียด ไม่เชื่อระดับอุดมศึกษาอยู่อันดับ 8 ในอาเซียน เตรียมเรียกมหา\'ลัย สมาชิก ทปอ.หารือด่วน แนะ รมว.ศธ.คนใหม่หันมาสนับสนุนงบการวิจัย กอบกู้สถานการณ์
กรณีการศึกษาไทยปรากฏภาพตกต่ำขึ้นอีกปี หลังจากมีตัวเลขรายงานจากโกลบอล คอมเพทิทีฟ รีพอร์ต 2014-2015 (Global Competitive Report 2014-2015) โดยเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (World Economic Forum-WEF) ที่ประเมินผลจากประเทศสมาชิก 144 ประเทศ โดยสรุปปรากฏว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่เป็นอันดับที่ 31 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ตามหลังประเทศสิงคโปร์ซึ่งอยู่อันดับ 2 ของโลก และมาเลเซีย อันดับ 20 แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะดัชนีด้านการศึกษาแล้ว จะเห็นว่ามีความน่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง โดยคุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยอยู่ที่อันดับ 7 ของอาเซียน จากปีที่แล้วอยู่ในอันดับ 6 และเป็นอันดับที่ 86 ของโลก โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ขยับไปแทนที่ในอันดับที่ 6 ของอาเซียน และทิ้งห่างไทยไปอยู่ในอันดับที่ 79 ของโลก
ส่วนคุณภาพของระบบอุดมศึกษาของไทยอยู่อันดับ 8 ของอาเซียน เป็นอันดับที่ 78 ของโลก ตามหลัง สปป.ลาว ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 6 ของอาเซียน และอันดับที่ 57 ของโลก ส่วนประเทศกัมพูชาอยู่ในอันดับที่ 7 ของอาเซียน อันดับที่ 76 ของโลก แม้ว่าขีดความสามารถด้านคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์จะค่อนข้างดี คืออยู่ที่อันดับ 5 ของอาเซียน แต่ก็อยู่ถึงอันดับ 80 ของโลก
ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ผลประเมินของ WEF ที่ชี้คุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยนั้น จริงๆ แล้วการประเมินมีตัวชี้วัดหลายตัว เช่น คุณภาพการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ การใช้ประโยชน์จากการวิจัยและการฝึกอบรม เป็นต้น ซึ่งในแต่ละด้านก็จะมีคะแนนการประเมินที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ผลประเมินดังกล่าวที่ออกมาก็สะท้อนว่าเรามีจุดอ่อนด้านไหน ซึ่งเราจะต้องพัฒนาตรงนั้น แต่อีกด้านหนึ่งเราไม่ควรดูแค่ผลประเมินของ WEF เท่านั้น เพราะเรามีผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือจีดีพีที่ไม่ต่ำ สะท้อนให้เห็นความสามารถด้านการแข่งขันของเรายังดี
\"ผลประเมินของ WEF ได้มาจากการสอบถามผู้ประกอบการว่าพึงพอใจกับบัณฑิตแค่ไหน และที่เราได้คะแนนน้อย เพราะระดับอุดมศึกษาผลิตคนไม่ตอบสนองผู้ประกอบการ ซึ่งเราก็ต้องแก้กันต่อไป และในเรื่องงบประมาณ ศธ.ได้มาเยอะก็จริง ซึ่งเราต้องพยายามใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น\" ปลัด ศธ.กล่าว
ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า หากเปรียบเทียบมาตรฐานการจัดการศึกษาของไทย จะเห็นได้ว่ามาตรฐานต่างๆ ทั้งมาตรฐานผู้เรียน มาตรฐานการเรียนการสอน ความพร้อมของอุปกรณ์การเรียนและสถานที่เรียน ถือได้ว่าประเทศไทยอยู่ในมาตรฐานที่สูงในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่การจัดอันดับของ WEF เป็นการประเมินด้วยตัวชี้วัดอีกแบบหนึ่ง โดยใช้ข้อมูลเชิงทุติยภูมิ ส่วนตัวคิดว่ากลุ่มประเทศอาเซียนควรจะกำหนดมาตรฐานการศึกษาและตัวชี้วัดที่ชัดเจนร่วมกัน เพื่อเป็นมาตรฐานกลาง และให้แต่ละประเทศนำไปพัฒนาการศึกษาของตนเอง เพราะทุกวันนี้แต่ละประเทศต่างก็มีมาตรฐานแตกต่างกัน ทำให้เวลามีประเมิน ผลก็มักจะได้รับผลแตกต่างกัน
\"อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าผู้ที่ได้รับการจัดอันดับก็ยังไม่ได้พอใจกับผลที่ได้รับ เพราะแต่ละประเทศจะรู้ดีว่ามาตรฐานที่พึงประสงค์ของตนเป็นเช่นไร ดังนั้นคิดว่ายังไม่มั่นใจในไม้บรรทัดอันนี้เท่าใดนัก เพราะอาจจะเหมาะสมที่จะอธิบายบางสิ่งอย่างเท่านั้น แต่ไม่ได้สะท้อนคุณภาพทั้งหมด” นายชัยพฤกษ์กล่าว
ด้านนายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ในฐานะรักษาการประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ผลการจัดอันดับที่ออกมาถือเป็นประเด็นใหญ่ที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาในภาพรวม ในทุกระดับ ยอมรับว่าตัวเลขที่ออกมาค่อนข้างน่าเกลียด ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับงบประมาณมากที่สุด แต่คุณภาพการศึกษากลับแย่ลงเรื่อยๆ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ช่วยกันเร่งแก้ไข จะกระทบกับความน่าเชื่อถือในเรื่องคุณภาพการศึกษาของประเทศอย่างมาก
“ตัวเลขการจัดอันดับที่ออกมาค่อนข้างน่าเกลียด โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาที่อยู่ในอันดับ 8 ของอาเซียน ตามหลัง สปป.ลาว ที่อยู่ในอันดับที่ 6 ของอาเซียน โดยในการประชุม ทปอ. วันที่ 26 ตุลาคม นี้ คงจะต้องมีการหารือเรื่องดังกล่าว และการที่ผลการจัดอันดับออกมาเช่นนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรก\"
รักษาการประธาน ทปอ.กล่าวอีกว่า ส่วนตัวคิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ควรจะต้องหาแนวทางแก้ไขในภาพรวมร่วมกัน ในส่วนของ ทปอ.คงจะหารือเฉพาะปัญหาของอุดมศึกษาก่อน จากนั้นคิดว่าควรต้องมีการหารือในภาพรวม ส่วนตัวคิดว่าประเด็นแรกของอุดมศึกษาที่จะต้องเร่งแก้ไข และอยากให้ รมว.ศธ. และ รมช.ศธ.ช่วยผลักดันคือ งบประมาณด้านการวิจัย เพื่อช่วยพัฒนาประเทศ และปรับเกณฑ์การประเมินและตัวบ่งชี้การประเมินภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ให้สะท้อนคุณภาพการศึกษาที่แท้จริง.


ที่มา:หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ Tuesday, 9 September, 2014 - 00:00



10/09/2557