ศธ.ตั้งบอร์ด 7 ชุดดูแลการปฏิรูปการศึกษา

ศธ.ตั้งบอร์ด 7 ชุดดูแลการปฏิรูปการศึกษา มีทั้งฝ่าย กม.การเงิน ไอที การกระจายอำนาจ ปฏิรูปหลักสูตร การผลิตครู เชื่อการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จะแตกต่างจากที่ผ่านมา เพราะยึดแนวปฏิบัติทุกระดับ ทั้งครู นักเรียน ผอ.รร., ผอ.เขตพื้นที่ฯ มีส่วนร่วม
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า คณะกรรมการได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องของกรอบอำนาจการดำเนินงานว่ามีหลายด้าน จึงต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการที่จะทำหน้าที่ต่างๆ ในการปฏิรูปในแต่ละด้าน มีด้วยกัน 7 คณะ ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการดูแลการปรับแก้ไขกฎหมายทั้งหมดในภาพรวมของ ศธ. ซึ่งเสนอให้นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานกรรมการ 2.คณะอนุกรรมการดูแลด้านงบประมาณ มอบหมายให้นายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานมูลนิธิสถาบันพัฒนาสยาม เป็นประธาน 3.คณะอนุกรรมการระบบสารสนเทศและจัดฐานข้อมูลการศึกษา ให้นายจีระเดช อู่สวัสดิ์ อดีตอธิการมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นประธาน 4.คณะอนุกรรมการดูแลการกระจายอำนาจ มีนายวรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. เป็นประธาน 5.คณะอนุกรรมการปฏิรูปหลักสูตร มีนางสิริกร มณีรินทร์ อดีต รมช.ศธ. เป็นประธาน ส่วนคณะที่ 6 และ 7 เป็นคณะอนุกรรมการดูแลเกี่ยวกับการปฏิรูปการผลิตครูและพัฒนาครู ที่ประชุมมอบให้นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศธ. เป็นผู้ตั้งประธานคณะอนุฯ เพราะ รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้ดูแลเรื่องครูทั้งระบบ
รมว.ศธ.กล่าวว่า สำหรับเรื่องการปรับโครงสร้างของกระทรวงนั้นยังไม่ได้หารือลงลึก เพียงแต่ให้ 3 องค์กรหลัก คือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นำเสนอผลการศึกษาข้อดี-ข้อเสียต่อที่ประชุม ซึ่งที่ประชุมมีการให้ข้อคิดเห็น แต่ไม่มีการให้ข้อยุติจะปรับโครงสร้างอย่างไร
\"ผมมั่นใจว่าการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จะมีความแตกต่างกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการปฏิรูปจากภาคปฏิบัติ ที่เน้นตัวเด็ก ครู ผู้อำนวยการ (ผอ.) โรงเรียน ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมกับการปฏิรูปด้วย ตัวอย่างเช่น โครงการนำร่องกระจายอำนาจให้เขตพื้นที่การศึกษา 20 เขต และแต่ละเขตพื้นที่ฯ จะคัดเลือกโรงเรียน 15 แห่งที่จะเริ่มในเดือนมกราคม 2558 จะช่วยให้โรงเรียนและเขตพื้นที่ฯ มีอำนาจบริหารตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน หากพบว่าโครงการนำร่องกระจายอำนาจได้ในทางบวกก็จะขยายโครงการเพิ่ม\" รมว.ศธ.กล่าว
พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้พูดคุยในประเด็นที่เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ หรือซูเปอร์บอร์ด เพื่อดูแลการศึกษาในภาพรวม เพราะว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีหน่วยงานระดับชาติที่มาทำหน้าที่กำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ในการทำงานการศึกษาอย่างจริงจัง จะมีก็เพียงสภาการศึกษา ในสมัยที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เคยทำหน้าที่วางนโยบายการศึกษาในภาพรวม แต่หลังจากที่ปรับโครงสร้างให้ สกศ.มาสังกัด ศธ.แล้ว สกศ.ก็เปลี่ยนมาดูแลแค่นโยบายของ ศธ. ขาดหน่วยงานที่ดูแลในภาพรวม จึงมีความจำเป็นที่ต้องตั้งหน่วยงานระดับชาติมาดูแลการศึกษาภาพรวม
ด้านนายพินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า ได้กำหนดกรอบเวลาในการปฏิรูปการศึกษาไว้ 1 ปี แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วย เพราะ ศธ.ต้องรับเอาแนวคิดของ สปช.และ สนช.มากำหนดร่วมในแผนการปฏิรูปการศึกษาด้วย ขณะเดียวกันการปฏิรูปการศึกษาในบางประเด็นจะถูกบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนการทำงานของคณะอนุกรรมการทั้ง 7 ชุดจะต้องรายงานความก้าวหน้าในการประชุมทุกครั้ง คาดว่าบางเรื่อง เช่น ระบบการผลิตและพัฒนาครู จะเห็นผลชัดเจนใน 3 เดือน
“ที่ประชุมยังเห็นพ้องว่าเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นนโยบายพื้นฐานของทุกรัฐบาล ไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาลจะได้ดำเนินการตามกรอบนั้น เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาของไทยเกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน และไม่ถูกแทรกแซงจากระบบการเมือง จึงควรกำหนดกรอบปฏิรูปให้ชัดเจน และตั้งคณะกรรมการระดับชาติทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิรูปการศึกษาทั้งระยะเร่งด่วน 1 ปี ระยะปานกลาง 1-3 ปี และระยะยาว 5-10 ปี” เลขาฯ สกศ.กล่าว.



ที่มา:หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ Friday, 19 December, 2014 - 00:00



19/12/2557