สพฐ. สอบผอ.-รองผอ.ภาพรวมเรียบร้อย พบส่อทุจริต 1 ราย นำโทรศัพท์เข้าห้อง

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่โรงเรียนศรีอยุธยาในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พร้อมด้วย นางรัตนา ศรีเหรัญ รองเลขาธิการกพฐ. เดินทางตรวจเยี่ยมการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งสอบวันที่14-15 กุมภาพันธ์ โดยวันแรกเป็นการสอบภาค ก ความรู้ทั่วไปและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน และความสามารถในการบริหารงานในหน้าที่ ส่วนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เป็นการสอบภาคค สอบสัมภาษณ์ โดยมีผู้มีสิทธิ์เข้ารับการเข้าสอบทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 21,963 ราย แบ่งเป็น ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา 6,124 ราย กลุ่มประสบการณ์ 1,592 ราย และกลุ่มทั่วไป 4,537 ราย ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา 15,834 ราย กลุ่มประสบการณ์ 5,213 รายและกลุ่มทั่วไป 10,621 ราย ตำแหน่งว่างที่ประกาศ รวม 4,257 อัตรา รองผู้อำนวยการสถานศึกษา 1,353 อัตรา กลุ่มประสบการณ์ 730 อัตรา และกลุ่มทั่วไป 623 อัตรา ผู้อำนวยการสถานศึกษา 2,904 อัตรา กลุ่มประสบการณ์ 1,507 อัตรา และกลุ่มทั่วไป 1,397 อัตรา


โดยนายกมล ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจสนามสอบว่า ภาพรวมการจัดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางธุรการ อาทิ ไฟดับ ชื่อผู้เข้าสอบไม่ตรงตามประเภทที่ได้สมัครไว้ ซึ่งสพฐ.ก็ได้แก้ปัญหาโดยให้เข้าสอบตามกลุ่มที่ได้สมัครไว้ตั้งแต่ครั้งแรก ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของผู้สมัคร ขณะเดียวกันได้รับรายงานว่า มีผู้สมัครที่เป็นสามี ภรรยา ได้เลขที่นั่งสอบติดกัน เพื่อไม่ให้เป็นที่ครหา กรรมการคุมสอบจึงขอให้สลับที่นั่งสอบ และที่สนามสอบโรงเรียนศรีอยุธนาพบกรณีส่อทุจริต ผู้เข้าสอบนำโทรศัพท์เข้าไปในห้องสอบแต่ได้ปิดเครื่อง และใส่ซองวางไว้บนโต๊ะ โดยจากการสอบถามผู้เข้าสอบรายดังกล่าว อ้างว่ากลัวหายจึงไม่ได้นำไปวางไว้ข้างนอก กรณีนี้เบื้องต้นเพื่อเป็นการรักษาสิทธิ คณะกรรมคุมสอบได้อนุญาตให้ผู้เข้าสอบกลับเข้าสอบได้ แต่ยึดโทรศัพท์มือถือไว้ และจะให้ฝ่ายเทคนิคไปตรวจสอบ ว่าโทรศัพท์มีความผิดปกติและส่อไปในทางทุจริตหรือไม่ โดยจะดูที่เจตนาของผู้เข้าสอบเป็นหลัก สำหรับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ จะเป็นการสอบสัมภาษณ์ และจะนำคะแนนไปรวมกับการสอบภาค ก โดยสพฐ.จะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้คะแนน 60% ขึ้นไปทุกคน ซึ่งหากจำนวนรายชื่อที่ประกาศเกินกว่าจำนวนที่รับ ก็จะขึ้นบัญชีไว้ 2 ปี


\"การสอบครั้งนี้มีมาตรการป้องกันการทุจริต เข้มข้น 100% แต่อาจจะไม่มากเท่าการสอบครูผู้ช่วยที่มีความเข้มข้นมากเกิดกว่า100% เนื่องจากผู้เข้าสอบเป็นผู้บริหารและมีจำนวนไม่มาก แต่ก็ได้กำชับให้ทุกเขตพื้นที่ฯ ดูแลการจัดสอบอย่างใกล้ชิด เพียงแต่อาจจะไม่มีเครื่องสแกนเหมือนสอบครูผู้ช่วยเท่านั้น\" นายกมลกล่าวและว่า


ส่วนกรณีที่มีผู้ยื่นหนังสือร้องนายกรัฐมนตรี และศาลปกครองเพื่อขอให้ระงับการสอบครั้งนี้ นั้นทางสพฐ.ยึดหลักกฎหมายในการดำเนินการเป็นสำคัญ ซึ่งนายกฯ เองก็ไม่เข้าสั่งการอะไร ขณะที่ศาลปกครองก็ไม่ได้มีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน ดังนั้นสพฐ.จึงตีความว่า สามารถจัดสอบได้ ส่วนกลุ่มที่ร้องถือเป็นเรื่องเก่าที่มีการร้องมานานแล้ว และคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)ก็เคยมีมติไปแล้วว่าให้ยึดตามหลักเกณฑ์เดิมซึ่งขณะนั้นผู้เข้าสอบกลุ่มดังกล่าวไม่ได้ใช้เกณฑ์ 60% แต่ใช้เกณฑ์ประกาศตามตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งหากจะว่าตามสามัญสำนึกแล้วกลุ่มดังกล่าวก็ไม่มีสิทธิที่จะมาเรียกร้องตามหลักเกณฑ์ใหม่

ที่มา:มติชนออนไลน์ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 15:29:31 น



14/02/2558