"สพฐ." เขี่ยทิ้งหลักสูตรฉบับ ภาวิช"

\"สพฐ.\" เขี่ยทิ้งหลักสูตรฉบับ \"จาตุรนต์-ภาวิช\" ลดระดับเหลือแค่ข้อมูลงานวิจัย อ้างมีเสียงวิจารณ์เยอะ และขอดูแนวปฏิรูปประเทศและคุณลักษณะคนที่พึงประสงค์ก่อน หลังสภาปฏิรูปฯ เกิดแล้วค่อยเดินหน้าต่อ ส่วนเนื้อหาวิชาหน้าที่พลเมือง ในส่วนประชาธิปไตยยึดของ กกต.
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าในการจัดทำร่างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน สมัยนายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งว่าจ้างนายภาวิช ทองโรจน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการจัดทำและเสร็จสิ้น และส่งมอบให้ สพฐ. ซึ่งมีกำหนดในเดือนธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา กพฐ.เคยวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียของร่างหลักสูตรดังกล่าวไปบ้างแล้ว และส่วนใหญ่เห็นว่ายังไม่ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนไปใช้หลักสูตรใหม่ฉบับนายภาวิช ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการและครูผู้สอน ที่เห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องปรับทั้งระบบ แต่เห็นว่าควรจะมีการทบทวนและปรับในรายละเอียดเป็นรายวิชา อาทิ วิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง หรือแม้แต่หลักสูตรที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งควรจะมีการปรับเนื้อหาเป็นระยะ
ดังนั้น ในขณะนี้ สพฐ.จึงดำเนินการปรุงปรุงย่อยๆ และเห็นว่าถ้าจะมีการปรับอีกครั้ง ก็ควรจะรอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เกิดขึ้นก่อน เพื่อให้รู้แนวทางการปฏิรูปประเทศว่าต้องการสร้างคนที่มีคุณลักษณะเช่นใดบ้าง เมื่อถึงเวลานั้นก็คงต้องมาปฏิรูปหลักสูตรกันอีกครั้งหนึ่ง ส่วนหลักสูตรที่นายภาวิชจัดทำนั้น ก็เปรียบเสมือนงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ สพฐ.คงนำไว้เป็นข้อมูลต่อไป
\"หลักสูตรใหม่ที่ว่าจ้างคุณภาวิช เราจ่ายเงินไปแล้วประมาณ 85% ของจำนวนเงินทั้งหมด เหลืออีกประมาณ 15% ที่ สพฐ.จะต้องจ่ายหลังจากที่นายภาวิชได้ยกร่างหลักสูตรเสร็จสิ้น ซึ่งมีกำหนดในเดือนธันวาคม 2557\"
ส่วนการปรับปรุงเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ตามที่นายวินัย รอดจ่าย ประธานคณะกรรมการพัฒนาการเตรียมการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และได้ข้อสรุปไปแล้วนั้น ในส่วนของวิชาหน้าที่พลเมือง สาระเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทาง สพฐ.กับ กกต.ตกลงร่วมกันว่าจะใช้เนื้อหาของ กกต. ส่วนวิชาประวัติศาสตร์ เร็วๆ นี้จะมีการอบรมครูแกนนำ จำนวน 1,200 คน โดยแบ่งการอบรมเป็น 4 รุ่น 2 รุ่นแรกจะอบรมอยู่ในกรุงเทพฯ อีก 2 รุ่นไปอบรมที่ จ.พระนครศรีอยุธยา สำหรับกิจกรรมระหว่างอบรมจะพาครูแกนนำไปทัศนศึกษายังโบราณสถานและแหล่งประวัติศาสตร์ด้วย เพื่อให้ครูแกนนำได้มีโอกาสเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และฝึกทักษะการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไปในตัว โดยการอบรมดังกล่าวจะเริ่มช่วงปลายเดือนกันยายนนี้
สำหรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ที่ร่างสมัยนายจาตุรนต์กับนายภาวิช ลดกลุ่มสาระวิชาจาก 8 กลุ่มเหลือ 6 กลุ่ม แบ่งออกเป็น 1.กลุ่มภาษาและวัฒนธรรม 2.กลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ 3.การดำรงชีวิตและโลกของงาน 4.ทักษะสื่อและการสื่อสาร 5.สังคมและมนุษยศาสตร์ และ 6.อาเซียน ภูมิภาคและโลก
โดยก่อนหน้านี้มีการชี้แจงจากคณะผู้จัดทำหลักสูตรดังกล่าวนี้ว่า ได้ศึกษาจากโครงสร้างหลักสูตรประเทศต่างๆ มาแล้ว 12 ประเทศ และเน้นแก้ปัญหาจุดอ่อนการมีชั่วโมงเรียนในห้องเรียนมากเกินไป โดยจะลดจำนวนชั่วโมงเรียนในห้องเรียนให้เหลือ 600 ชั่วโมงต่อปี ส่วนนอกห้องเรียนเหลือ 400 ชั่วโมงต่อปี ทำให้นักเรียนระดับชั้นประถมได้เรียนเพียงแค่ 5 คาบต่อวันเท่านั้น จากเดิมเรียนประมาณ 6-7 คาบ ขณะที่ระดับมัธยมศึกษาจะเหลือ 6 คาบต่อวัน.


ที่มา:หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ Monday, 11 August, 2014 - 00:00



11/08/2557