สพฐ.ขานรับเครือข่ายผู้ปกครองผลักดันให้การเรียนฟรีเกิดขึ้นจริงให้ได้

เรื่องของความพยายามที่จะลบล้างภาพของคำว่า “เรียนฟรีไม่จริง” เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มเครือข่ายผู้ปกครองได้ยื่นเรื่องถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการเก็บค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากมีโครงการเรียนฟรี 15 ปีอยู่แล้ว แต่กระทรวงศึกษาธิการกลับอนุญาตให้โรงเรียนเรียกเก็บเพิ่มได้ในหลายรายการ ซึ่งน่าจะยกเลิกการเก็บในค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปด้วยนั้น เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้หารือร่วมกับกลุ่มเครือข่ายดังกล่าว 2 ครั้งแล้ว และได้ข้อตกลงร่วมกันว่า สพฐ.จะทดลองทำข้อเสนอไปยัง คสช.เนื่องจากได้ทดลองคำนวณค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา หากไม่เก็บเงินเพิ่มจากผู้ปกครองเลยทุกรายการจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ ซึ่งเบื้องต้นพบว่า รัฐบาลจะต้องหาเงินสมทบอีกกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะได้สรุปตัวเลข พร้อมเสนอทางออกในกรณีที่คสช.ไม่สามารถสนับสนุนได้ตามตัวเลขที่เสนอด้วย

ดร.กมล กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. กำลังรวบรวมข้อมูลค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากโรงเรียนอยู่ แต่เมื่อถึงที่สุดหาก คสช.ไม่สามารถสนับสนุนได้ สพฐ.ก็จะมาพิจารณาใหม่ว่า ในรายการที่อนุญาตให้โรงเรียนเรียกเก็บเพิ่มเติมได้นั้น จะมีรายการใดบ้างที่จำเป็นต้องอนุญาตให้เก็บต่อไป หรือรายการใดต้องยกเลิก รวมถึงจะมีวิธีใดที่จะสนับสนุนเด็กที่มีปัญหาด้านการเงินได้บ้าง ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกับตัวแทนผู้ปกครองและองค์กรต่าง ๆ แล้ว

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า จริง ๆ แล้วเท่าที่ประเมินคิดว่ารัฐคงไม่สามารถสนับสนุนได้ทั้ง 100% น่าจะสนับสนุนได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น ค่าบัตรห้องสมุด หรือค่าใช้จ่ายเล็กๆน้อยๆที่โรงเรียนจะสามารถสนับสนุนได้ ก็อาจจะยกเลิกได้ ส่วนที่เป็นเรื่องใหญ่หรือรายการที่เป็นทางเลือกที่ผู้ปกครองสามารถตัดสินใจได้ เช่น การเรียนเสริมบางอย่างที่นอกเหนือจากการเรียนการสอนตามหลักสูตรปกติทั่วไป ก็ให้เป็นการตัดสินใจของผู้ปกครอง ซึ่งรัฐไม่สามารถสนับสนุนรายการใดได้จริง ๆ ก็น่าจะต้องให้คงอยู่ แต่การที่จะให้เรียนเสริมหรือไม่ต้องอยู่ที่ความพอใจของผู้ปกครองด้วย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้คงต้องทำค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากเราทุ่มเงินมหาศาลโดยไม่มีความจำเป็นมากนักขณะที่ผู้ปกครองบางส่วนก็สามารถสนับสนุนได้ก็อาจจะกลายเป็นโครงการประชานิยมเกินไปได้ซึ่งไม่เหมาะสม

\" ส่วนการเรียกเงินกินเปล่าหรือแป๊ะเจี๊ยะก็เป็นอีกประเด็นที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันรวมถึงสพฐ.ด้วยที่อยากให้ยกเลิก เพราะทุกวันนี้ถ้าเรามีระบบการจัดการที่ดี เช่น ปกตินักเรียนที่เต็มอัตราจะรับได้ห้องละ 50 คน แต่บางโรงเรียนก็มักจะประกาศรับรอบแรกแค่ 40 คน เป็นการใช้เทคนิคการรับไม่เต็มจำนวน ส่วนที่เหลือจะเก็บไว้รับด้วยวิธีพิเศษอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เรียกเงินบำรุงการศึกษาได้ ซึ่งที่ผ่านมา สพฐ.ก็พยายามบอกว่าไม่ให้ใช้วิธีการนี้ เพราะถ้าผู้ปกครองจะบริจาคก็ควรจะให้หลังจากที่ลูกหลานได้เข้าไปเรียนในโรงเรียนแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ผมได้ให้กำหนดไว้ในการทำแผนการรับนักเรียนปีการศึกษา 2558 ด้วยว่า โรงเรียนจะต้องรับนักเรียนเต็มตั้งแต่รอบแรก ประกาศเท่าไหร่ต้องรับเท่านั้น ซึ่งถ้าทำได้ก็จะไม่มีปัญหาแป๊ะเจี้ยะแน่นอน\"ดร.กมลกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามหลักเกณฑ์เงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดว่า สถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนนอกเหนือหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้นักเรียนเกินมาตรฐานที่รัฐจัดให้ สามารถขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและนักเรียน แต่ทางเครือข่ายผู้ปกครองต้องการให้ยกเลิกการเรียกเก็บทั้งหมด โดยยกเหตุผลเรื่องสิทธิที่นักเรียนทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดให้บริการ อาทิ ห้องเรียนพิเศษ EP(English Program) ระดับก่อนประถมถึงมัธยมต้น ไม่เกิน 35,000 บาท ต่อคนต่อภาคเรียน ส่วนระดับมัธยมปลาย ไม่เกิน 40,000 บาท ต่อคนต่อภาคเรียน , ห้องเรียนพิเศษ MEP(Mini English Program) ระดับก่อนประถมถึงมัธยมต้น ไม่เกิน 17,500 บาท ส่วนระดับมัธยมปลาย ไม่เกิน 20,000 บาท , ค่าจ้างครูชาวต่างประเทศ, ค่าเรียนปรับพื้นฐานความรู้ , ค่าจ้างครูที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะ, ค่าห้องเรียนปรับอากาศ, ค่าสอนคอมพิวเตอร์ กรณีโรงเรียนจัดคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนเกินมาตรฐาน 1 เครื่องต่อนักเรียน 20 คน , ค่าประกันชีวิตนักเรียน, ค่าตรวจสุขภาพกรณีพิเศษ, ค่าอาหาร,ค่าหอพัก ,ค่าซักรีด เป็นต้น.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพฤหัสบดี 7 สิงหาคม 2557 เวลา 01:07 น.



07/08/2557