สพฐ.งานเข้าอีกแล้ว

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้แถลงนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 ว่า งานที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รับไปดำเนินการมีอยู่ 6 งานหลัก ได้แก่ 1) ปรับปรุงการสอนภาษาไทย เน้นการสอนแบบแจกลูกสะกดคำและเพิ่มอัตราการอ่านออกเขียนได้ของเด็กไทย 2) ลดอัตราการออกกลางคันของเด็กชั้นประถมศึกษา

3) แก้ปัญหาการเรียนการสอน และการขาดแคลนครูโรงเรียนขนาดเล็ก 4) เพิ่มประสิทธิภาพการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม 5) จัดโมบายยูนิต ให้ความรู้การประเมินคุณภาพการศึกษา และ 6) ปรับปรุงวิธีการสรรหาครูและผู้บริหารการศึกษา ผู้เขียนจะนำเสนอบทความดังกล่าวเป็นเรื่องๆ ไป ทั้งนี้อาจครบหรือไม่ครบทั้ง 6 งานหลักก็ได้ และการนำเสนอคงไม่ได้เรียงตามลำดับเรื่องที่ได้กำหนดไว้

สำหรับเรื่องแรกคือ \"การลาออกกลางคันของนักเรียน\" ดังประเด็นต่อไปนี้ ก) สถานการณ์ออกกลางคันของนักเรียน ข) สาเหตุนักเรียนออกกลางคัน ค) วิธีการแก้ปัญหานักเรียนออกกลางคัน และ ง) ข้อเสนอแนะ

1.สถานการณ์ออกกลางคันของนักเรียนประมาณต้นปี ค.ศ.2000 ประชากรของประเทศไทยประสบกับปัญหาความยากจนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเหตุให้มีนักเรียนจำนวนมากต้องออกจากโรงเรียน แน่นอนเหลือเกินที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีส่วนเชื่อมโยงกับความยากจนหรือทำให้ครอบครัวไทยมีรายได้ต่ำ นั่นคือเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้เด็กในวัยเรียนต้องหยุดการเรียนและออกจากโรงเรียน (รายงานจากยูเนสโก)

ออร์โดเนซ ผู้อำนวยการยูเนสโกได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า \"เด็กส่วนมากของไทยจะเรียนอยู่ในระบบโรงเรียน สำหรับเด็กไทยนั้นต้องเรียนอยู่ในโรงเรียนถึง 9 ปี\"

การวิจัยของยูเนสโกแสดงว่าสาเหตุของการออกกลางคันหรือหยุดเรียนของนักเรียนประถมศึกษามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างความเป็นส่วนตัว กับเงื่อนไขทางวัฒนธรรม-ทางสังคม อัตราการออกกลางคันเป็นเรื่องที่ท้าทายของประเทศในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งประเทศดังกล่าวมีจำนวนออกกลางคันของนักเรียน คาดว่ามีตัวเลขใกล้ๆ 80 ล้านคนในอีก 100 ปีข้างหน้า ซึ่งในปัจจุบันมีอัตราลาออกกลางคันของนักเรียน 52 ล้านคนในเอเชียใต้

สำหรับประเทศไทย ยูเนสโกได้วิจัยพบว่า 1) จำนวนนักเรียนเข้าเรียนต่อในชั้น ป.5 มีจำนวนเกือบร้อยละ 100 ใน พ.ศ.2541 2) นักเรียนที่ลาออกกลางคันอายุระหว่าง 6-11 ปี 3) นักเรียนส่วนใหญ่ที่มีบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน, อ.เมืองนราธิวาส และ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ตลอดจนชุมชนแออัดคลองเตย กรุงเทพมหานคร จะเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย

ในปัจจุบันมีโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐบาลจำนวนมากกว่า 31,116 แห่งทั่วประเทศ นับว่าจำนวนโรงเรียนที่มีอยู่ก็เพียงพอแล้ว ยกเว้นในท้องถิ่นทุรกันดาร ประมาณได้ว่าประเทศไทยของเรามีโรงเรียนประถมศึกษาทุกๆ 2 หมู่บ้าน จะมีโรงเรียน 1 แห่ง การมีโรงเรียนจำนวนมากมิได้หมายถึงความสามารถหรือความสำเร็จในการที่จะป้องกันมิให้นักเรียนลาออกกลางคันได้ ตัวเลขที่เป็นทางการแสดงให้เห็นว่าเด็กที่เข้าเรียนในชั้น ป.1 และจบ ป.6 มีอัตราการลาออกกลางคันในปี พ.ศ.2534 และ พ.ศ.2535 ดังนี้ ร้อยละ 13.8 และ 12.2 ตามลำดับ วิกฤตด้านเศรษฐกิจของ อาเซียน เป็นสิ่งที่กีดขวางหรืออุปสรรคที่ทำให้พ่อ-แม่ของเด็กต้องการให้เด็กอยู่กับบ้านมากกว่าไปโรงเรียน

ออร์โดเนซกล่าวว่า รัฐบาลไทยได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสุขภาพและการศึกษาของเด็ก ทั้งนี้ก็เพื่อให้สถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจดีขึ้น การลงทุนเพื่อธำรงไว้ซึ่งสุขภาพอนามัยและการศึกษาของเด็กเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เวลาที่ยาวนาน ประเทศไทยไม่เคยประสบปัญหาในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการศึกษา เพราะรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ

ยูเนสโกได้วิจัยพบว่า ครอบครัวไทยที่เป็นเด็กยากจน ร้อยละ 94.4 เป็นครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อปี (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเส้นความยากจนอยู่ที่ 1,215) และเพียงร้อยละ 2.6 เท่านั้นที่มีรายได้มากกว่า 10,000 บาทต่อปี ซึ่งนับว่ารายได้ที่ได้รับเป็นจำนวนเล็กน้อย ใน พ.ศ.2547 ประเทศไทยมีประชากรที่ยากจนร้อยละ 9.6 หรือ 6.1 ล้านคน

ความยากจนขับเคลื่อนให้นักเรียนออกจากโรงเรียน เพราะพวกเขาต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงาน การวิจัยพบว่าร้อยละ 43.1 ของพ่อแม่ที่ไม่ให้ลูกเรียนในโรงเรียนก็เพราะต้องการให้ลูกเป็นคนงานชั่วคราว เพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว ขณะที่ร้อยละ 39.00 พ่อแม่ไม่สามารถหาค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนให้แก่บุตรของตนได้ และอีกร้อยละ 42.7 ต้องการให้บุตรช่วยทำงานที่บ้าน ปัญหาดังกล่าวก็เกิดกับชุมชนแออัดในคลองเตย กรุงเทพฯเหมือนกัน กล่าวคือประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานชั่วคราว และแม่ค้าหาบเร่ นอกจากนั้น มากกว่าร้อยละ 67.8 พ่อแม่ในพื้นที่ชุมชนดังกล่าวไม่สามารถให้ความสนับสนุนที่จะส่งบุตรให้เรียนในโรงเรียนได้ ขณะที่ร้อยละ 61.00 ต้องการให้บุตรทำงานหารายได้มาเลี้ยงครอบครัวเป็นกรณีพิเศษ ครูและผู้นำชุมชนในพื้นที่แห่งนี้ยืนยันว่า เพราะเหตุที่มีจำนวนเปอร์เซ็นต์ของคนว่างงานในอัตราที่สูงมาก จึงทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องการนำเด็กออกจากโรงเรียนแทนที่จะให้เข้าศึกษาต่อในชั้นต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยของยูเนสโกยังชี้ให้เห็นว่าพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีระดับการศึกษาต่ำจะมีส่วนเชื่อมโยงกับการส่งบุตรเข้าเรียนในโรงเรียน ตามผลการวิจัยข้างต้นพบว่า พ่อแม่มากกว่าร้อยละ 60 เป็นพ่อแม่ของนักเรียนที่สามารถอ่านออกและเขียนได้ และจำนวนดังกล่าวเป็นพ่อแม่ของนักเรียนที่อยู่ในระบบโรงเรียน

นอกจากนั้นผู้นำชุมชนแออัดคลองเตยยังกล่าวอีกว่า ประชาชนที่อพยพเข้ามาอยู่ในชุมชนมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทำงานที่ได้ค่าแรงมาก นี่แหละคือผลกระทบในอัตราการลาออกของนักเรียน (ดร.ดำรงค์ ชลสุข แปลจาก Education-Thailand : Good Marks on Literacy, But Drop-out rates worrisome)

โดย ดร.ดำรงค์ ชลสุข อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

ที่มา:มติชนออนไลน์ วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เวลา 16:00:41 น



12/11/2558