สพฐ.ตั้ง ดร.อาจอง ชุมสายเป็นประธานบอร์ดรื้อหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

สพฐ.ตั้ง ดร.อาจอง ชุมสาย เป็นประธานบอร์ดรื้อหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ ตั้งเป้าทบทวนเนื้อหาใหม่หมด ก่อนตัดสินใจว่าต้องลดกลุ่มสาระวิชาหรือลดชั่วโมงเรียนหรือไม่
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แถลงข่าวการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า สพฐ.เตรียมปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานครั้งใหญ่อีกรอบ ภายหลังประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 มาระยะหนึ่ง และขณะนี้มีการประกาศใช้ครบทุกช่วงชั้นแล้ว จึงต้องมีการทบทวนใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป
อีกทั้งจากการติดตามผลการใช้หลักสูตรโดยหน่วยงานภายในของ สพฐ. และได้ให้มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ สะท้อนมุมมองจากภายนอก พบว่า แม้หลักสูตร พ.ศ.2551 จะครอบคลุมการเรียนรู้ที่สำคัญสอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และสอดคล้องกับการเตรียมคนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่เนื่องจากสภาพสังคมในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลง ความคาดหวังของสังคมต่อการศึกษามีมากขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทบทวนหลักสูตร รวมถึงการเรียนการสอนให้ทันสมัยขึ้น เพื่อคุณภาพของผู้เรียน โดยจะมีการทบทวนตั้งแต่โครงสร้างหลักสูตร เวลาเรียนที่เหมาะสม โดยขณะนี้คณะอนุกรรมการวิชาการและพัฒนาหลักสูตรของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ซึ่งมี ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา เป็นประธาน กำลังศึกษารายละเอียดต่างๆ ร่วมกับ สพฐ. เพื่อสรุปหลักการและแนวทางของการปรับหลักสูตรใหม่ เสนอ กพฐ.พิจารณาเห็นชอบให้มีการปรับหลักสูตรครั้งใหญ่ พร้อมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาปรับหลักสูตร โดยการปรับหลักสูตรครั้งนี้จะปรับทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายในการจัดการเรียนการและคุณลักษณะที่ต้องการ จากนั้นจะมาทบทวนเนื้อหาที่จะใส่ไว้ในหลักสูตรใหม่ เมื่อตรงนี้ชัดเจนแล้ว จึงจะรู้ว่าหลักสูตรใหม่ควรจะแบ่งออกเป็นกี่กลุ่มสาระวิชา และมีโครงสร้างเวลาเรียนเท่าไหร่
\"แน่นอนว่า ต้องมีการทบทวนว่าการแบ่งกลุ่มสาระวิชาออกเป็น 8 กลุ่มสาระมีความเหมาะสมและมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์หรือไม่ด้วยเช่นกัน และตอนนี้ยังให้คำตอบไม่ได้ว่าการปรับหลักสูตรครั้งนี้จะช่วยลดเวลาเรียนลงหรือไม่ แต่ สพฐ.จะนำปัญหาที่เกิดจากการใช้หลักสูตรครั้งนี้ทั้งหมด อาทิ ปัญหาโครงสร้างเวลาเรียน ปัญหาการบ้านที่มากเกินไป รวมทั้งปัญหาอื่นๆ มาเป็นข้อพิจารณาในการปรับหลักสูตรครั้งนี้ด้วย” นายกมลกล่าว
ส่วนการปรับหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองนั้น ขณะนี้ สพฐ.ได้เตรียมจัดพิมพ์หนังสืออ่านนอกเวลาและหนังสืออ่านเพิ่มเติม รวมถึงจะเริ่มจัดอบรมครูแกนนำระดับมัธยมศึกษา 4 รุ่น จำนวน 1,206 คน เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนถึงตุลาคม 2557 เพื่อให้ครูแกนนำไปขยายผลให้ครอบคลุมใน 225 เขตพื้นที่ ให้สามารถดำเนินการได้ทันทีในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 นี้
นายสุชาติ วงศ์สุวรรณ อดีตผู้ตรวจราชการ ศธ. ในฐานะคณะทำงานจัดทำรายวิชาหน้าที่พลเมือง กล่าวว่า ที่ผ่านมา สพฐ.ได้มีการเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนวิชาหน้าที่พลเมืองตามนโยบายของ คสช.เรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะให้สถานศึกษาเริ่มจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2/2557
โดยสรุปแล้ว วิชาหน้าที่พลเมืองจะใช้ชั่วโมงเรียนในรายวิชาเพิ่มเติม ซึ่งตามปกติ โรงเรียนจะเป็นผู้เลือกรายวิชาเพิ่มเติมเอง แต่เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนในวิชานี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สพฐ.จึงกำหนดโครงสร้างหลักสูตรของวิชาหน้าที่พลเมืองพร้อมรายละเอียดของเนื้อหาให้โรงเรียนนำใช้ โดยโครงสร้างหลักสูตรระดับประถมจะเรียนทั้งหมด 6 รายวิชา ใช้เวลาเรียน 40 ชั่วโมงต่อปี ระดับมัธยมต้นเรียน 6 รายวิชา ใช้เวลาเรียน 20 ชั่วโมงต่อภาคเรียน คิดเป็น 3 หน่วยกิต ส่วนระดับ ม.ปลาย เรียนทั้งหมด 4 วิชา รวม 2 หน่วยกิต โดยโรงเรียนสามารถเลือกจัดการเรียนการสอนในชั้นใดก็ได้ แต่ให้ครบตามเวลาที่กำหนด คือ 80 ชั่วโมงใน 3 ปี
“จริงๆ แล้วเนื้อหาวิชาหน้าที่พลเมืองมีอยู่ในวิชาสังคมศึกษาและบูรณาการกลุ่มสาระอื่นๆ อยู่แล้ว แต่จะเป็นการสอนในเชิงหลักการ เน้นคุณธรรมจริยธรรม ส่วนวิชาหน้าที่พลเมืองที่กำหนดขึ้นมาใหม่จะเน้นการปฏิบัติต่อยอดจากการเรียนหลักการ เพราะฉะนั้นการจัดการเรียนการสอนจึงเป็นในรูปแบบกิจกรรม\" นายสุชาติกล่าว.

ที่มา:หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ Wednesday, 27 August, 2014 - 00:00



27/08/2557