สพฐ.ยันลดเวลาเรียนเพิ่มเวลาจัดกิจกรรมสร้างทักษะชีวิต

สพฐ.ยันลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ แต่กลับบ้านเวลาเดิม เผย 4 กิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต มีครูดูแลใกล้ชิด รร.สังกัด สพฐ.หมื่นโรงสนใจให้สอนอาชีพ ย้ำไม่เก็บเงินเพิ่ม เตรียมรายงาน \"ดาว์พงษ์\" เร่งทำคู่มือจัดการลดเวลาเรียน ตารางกิจกรรมให้ครู เล็งเปิดเว็บไซต์ให้ นร.แสดงความเห็นอยากได้แบบไหน ด้าน ผอ.สมศ.ชี้ควรมีวิชาชีพ-วิชาที่เด็กชอบ ออกแบบให้เหมาะกับพื้นที่ ระบุช่วงเปลี่ยนเข้มงวดเป็นอิสระ ไม่ปล่อยทันที เด็กจะเสีย เลขาฯ กช.ขานรับนโยบายจัดกิจกรรมนอกห้อง เน้นพหุปัญญา 8 ด้าน เสริมความถนัดของ นร.

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดกรอบกิจกรรมตามนโยบาย \"ปรับลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้\" ว่า กิจกรรมในช่วงบ่ายน่าจะเป็นไปใน 4 รูปแบบ คือ 1.กิจกรรมเสริมสร้างทักษะ ที่เน้นให้เด็กทำกิจกรรมนอกห้องเรียน โดยกิจกรรมจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้ในช่วงเช้า เพื่อให้เด็กมีทักษะและลงมือปฏิบัติจริง อาทิ การทำโครงงาน การวาดรูป เล่นละครประวัติศาสตร์ เป็นต้น 2.กิจกรรมเสรี ให้โรงเรียนจัดตามความเหมาะสมและความพร้อม อาทิ ชมรมจิตอาสา ชมรมกีฬา ฯลฯ 3.กิจกรรมสอนอาชีพ ซึ่งมีโรงเรียนในสังกัด สพฐ.กว่าหมื่นโรงมีความต้องการเรื่องดังกล่าว โดยโรงเรียนอาจชักชวนผู้ปกครอง หรือครูภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ามาร่วมให้ความรู้และสอนอาชีพแก่นักเรียน รวมกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะชีวิตด้วย และ 4.กิจกรรมสอนเสริมวิชาการ ซึ่งไม่ใช่การติวเด็ก แต่เป็นการดูแลเด็กที่มีปัญหาเรียนอ่อน หรือสอนการบ้าน เป็นต้น

\"ในส่วนของการเรียนการสอนช่วงเช้า นักเรียนจะได้เรียนเนื้อหาสาระทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้อย่างแน่นอน ส่วนช่วงบ่ายจะเน้นไปในเชิงปฏิบัติและบูรณาการ การจัดกิจกรรมดังกล่าวจะไม่มีการเก็บเงินแม้แต่บาทเดียว และทุกกิจกรรมจะออกแบบให้มีความเหมาะสมกับผู้เรียน ไม่ได้ปล่อยให้เด็กมีอิสระ โดยมีครูดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด แนวทางนี้จะเป็นการพลิกโฉมการศึกษาอย่างชัดเจน ขณะที่นักเรียนและผู้ปกครองจะมีความสุขเพิ่มขึ้น ส่วนครูอาจจะต้องเหนื่อยในช่วงแรก ผมขอยืนยันว่าเด็กนักเรียนทุกคนยังคงมาเรียนและกลับบ้านเวลาเดิม\" เลขาฯ กพฐ.กล่าว

นายกมลกล่าวต่อว่า ส่วนแผนการดำเนินงานดังกล่าวจะหารือกับ รมว.ศธ. และ สพฐ.ได้ตั้งคณะทำงานพร้อมจัดทำคู่มือการบริหารจัดการเรื่องการลดเวลาเรียนให้แก่สถานศึกษาได้นำไปเป็นแนวทางสู่การปฏิบัติ รวมถึงตารางกิจกรรมการเรียนการสอนให้ครูได้นำไปประยุกต์ใช้ ขณะเดียวจะเปิดเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนด้วยว่าอยากได้กิจกรรมรูปแบบไหน อย่างไรก็ตาม ตนจะเรียกประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขต และโรงเรียนประถมศึกษาที่นำร่องในเรื่องดังกล่าวมารับฟังแนวปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จในอนาคต

ด้านนายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า กรณีนโยบายลดเวลาเรียนวิชาหลักลง และเพิ่มกิจกรรม ทำให้เด็กได้เปลี่ยนบรรยากาศ ควรจะมีทั้งวิชาชีพและวิชาที่เด็กชอบ ส่วนกลางจะต้องออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ โรงเรียนสังกัด สพฐ.กว่า 38,000 โรงเรียน จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กถึงกว่า 20,000 โรงเรียน และมีครูไม่ครบชั้น โรงเรียนหนึ่งมีครูต่ำกว่า 6 คน ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการประเมินจาก สมศ. โดยโรงเรียนเหล่านี้เป็นโรงเรียนที่รัฐควรจะเข้ามาดูแลและพัฒนา โดยเฉพาะเรื่องอบรมพัฒนาครู ที่ผ่านมาโรงเรียนนี้แก้ปัญหาโดยใช้ทรัพยากรร่วมกัน และจัดกิจกรรมหรือจัดการเรียนการสอนแบบคละชั้น ทำให้ส่วนใหญ่ค่อยๆ พัฒนาและผ่านการประเมินจาก สมศ.แล้ว

\"บริบทของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เวลาเราไปดูการจัดการสอนของแต่ละแห่งจะไม่เหมือนกัน อย่างประเทศฟินแลนด์ เด็กเรียนวิชาการน้อย แต่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีกว่าเด็กไทยที่เรียนวิชาการเยอะ แต่ต้องเข้าใจว่าฟินแลนด์มีขนาดพื้นที่เล็ก และมีจำนวนเด็กและโรงเรียนน้อยกว่าเรามาก นำมาเปรียบเทียบกับของประเทศไทยไม่ได้ อีกทั้งวัฒนธรรมของเราต้องกำกับดูแล เด็กต้องเชื่อฟังพ่อแม่ ดังนั้น การจะปรับเปลี่ยนอะไรจึงต้องค่อยๆ ผ่อนคลาย ไม่ใช่เข้มงวดอยู่แล้วปล่อยอิสระทันที จะทำให้เด็กเสีย โดยเริ่มจากจุดคิดก่อน ไม่ใช่สอนให้เด็กเรียนแบบไม่เครียด แต่ควรสอนให้เด็กรู้จักรับมือกับความเครียด และฝึกบริหารความคิดให้ได้ ไม่ใช่ทำเหมือนพ่อแม่สมัยนี้ที่ปกป้องลูกจนเปราะบาง รับมือกับปัญหาในอนาคตไม่ได้\" ผอ.สมศ.กล่าว

ด้านนายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาฯ กช.) กล่าวว่า ในส่วนโรงเรียนเอกชนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ศึกษาและมีแนวคิดในการจัดกิจกรรมนอกห้องเรียน เพื่อให้เกิดทักษะ การคิด การวิเคราะห์ และการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย นอกเหนือจากวิชาการที่ต้องเรียนในชั้นเรียน เน้นเรื่องพหุปัญญา 8 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านภาษา โดยจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่ๆ 2.ด้านคณิตศาสตร์และตรรกะ โดยส่งเสริมให้จัดกิจกรรมหรือเกมการแก้ปัญหา 3.ด้านดนตรี ส่งเสริมการเล่นดนตรี ร้องเพลง การเต้น 4.ด้านร่างกาย ส่งเสริมให้จัดกิจกรรมกีฬา ศิลปะและงานฝีมือ ให้มีความสนุกสนานและพัฒนาความว่องไว 5.ด้านมิติสัมพันธ์ เน้นการจัดกิจกรรมรูปแบบการคิดและสื่อสารด้วยภาพ 6.ด้านมนุษยสัมพันธ์ จัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์และการทำงานร่วมกับผู้อื่น 7.ด้านเข้าใจตนเอง ส่งเสริมกิจกรรมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักเรียน และ 8.ด้านรู้จักธรรมชาติ โดยส่งเสริมให้นักเรียนรักธรรมชาติ ต้นไม้ สัตว์

\"ทั้งนี้ โรงเรียนเอกชนจะต้องให้ความสำคัญใน 4 เรื่อง คือ 1.ให้นักเรียนทุกคนได้รับการส่งเสริมตามความถนัดของตัวเอง 2.โรงเรียนต้องสามารถคัดกรองนักเรียนให้เหมาะสมในแต่ละด้าน 3.โรงเรียนต้องจัดรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสอดรับกับตัวนักเรียนแต่ละคน และ 4.ให้มีเครื่องมือประเมินที่หลากหลาย เพื่อความครอบคลุมและปรับเปลี่ยนการจัดกิจกรรมได้\" เลขาฯ กช.กล่าว.


ที่มา:ไทยโพสต์ Wednesday, September 2, 2015 - 00:00



02/09/2558