สพฐ.เล็งแก้ประกาศ ศธ.ใช้โอเน็ตจบช่วงชั้น

วันที่16 กุมภาพันธ์ นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มนักเรียนเครือข่ายยุวทัศน์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกประกาศเรื่องการปรับสัดส่วนการใช้ผลแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต )เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551

เนื่องจากเห็นว่าข้อสอบไม่มีความเป็นกลาง สร้างความเหลื่อมล้ำ และสร้างความหนักใจให้แก่ผู้เรียน ว่า ตนเข้าใจถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี และเตรียมที่หารือกับสำนักติดตามและประเมินผลทางการศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อทบทวนประกาศศธ. เรื่องการปรับสัดส่วนการใช้ผล โอเน็ตอีกครั้ง ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยใช้อำนาจ รัฐมนตรีว่าการศธ. ส่วนเรื่องข้อสอบที่ไม่มีความเป็นกลางนั้น เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ที่จะไปดำเนินการเรื่องการออกข้อสอบให้มีความเป็นกลางมากขึ้น

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในปีการศึกษา 2557 จะเป็นปีแรกที่โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องนำคะแนนโอเน็ต มาใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในสัดส่วน 30% ร่วมกับคะแนนผลการเรียนสะสมตลอดหลักสูตร หรือ จีพีเอเอ็กซ์ ในสัดส่วน 70% หรือสัดส่วน 70:30 ตามที่กำหนดไว้ในประกาศศธ.

ในปีการศึกษา 2558 จะใช้คะแนนโอเน็ต 50% ซึ่งในเรื่องนี้เด็กก็เกิดข้อขัดแย้ง และเห็นว่าเป็นการเพิ่มสัดส่วนที่มากเกินไป และอาจส่งผลให้เป็นภาระแก่ผู้เรียนได้ โดย สพฐ.เข้าใจถึงปัญหานี้ และพร้อมจะกลับไปพิจารณาใหม่ เพราะตามหลักการแล้วควรจะขยับคะแนนโอเน็ตจาก 30% เป็น 40% ไล่ไปเรื่อยๆมากกว่าการก้าวกระโดดจาก 30% เป็น 50% ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะ

“หากจะให้ยกเลิกประกาศการใช้คะแนนสอบโอเน็ตในการตัดสินจบช่วงชั้นนั้นคงไม่สามารถทำได้ แต่หากมองตามหลักวิชาการแล้วเรื่องนี้สามารถพูดคุยทำความเข้าใจและปรับแก้ไขกันได้ เพราะการสอบโอเน็ตจะทำให้เรารู้มาตรฐานภาพรวมของประเทศว่าโรงเรียนแต่ละโรงมีผลสัมฤทธิ์สูงหรือต่ำ เพื่อที่สพฐ.จะได้ปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนต่อไปได้”


ที่มา:มติชนออนไลน์ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 14:50:42 น



16/02/2558