สร้างกลไกตรวจโกงรับกระจายอำนาจรร.

สปช.ปฏิรูปการศึกษาทำแผนระยะสั้น เร่งปลดล็อกกฎหมายเพื่อกระจายอำนาจ ให้อิสระโรงเรียนเป็นนิติบุคคล \"อมรวิชช์\" ชี้ก้าวสู่ยุคกระจายอำนาจแบบมีความรับผิดชอบ เตรียมสร้างกลไกตรวจสอบโกงทุกจังหวัด รวมทั้งปลูกจิตสำนึกประชาชนมองเห็นความสำคัญการศึกษา เป็นอนาคตลูกหลาน เป็นอนาคตชาติ
นายอมรวิชช์ นาครทรรพ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานเรื่องการปฏิรูปการศึกษาว่า ในขณะนี้ทาง กมธ.การศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กำลังดำเนินงานปฏิรูปการบริหารจัดการระบบการศึกษา ซึ่งเรื่องที่สามารถดำเนินการในระยะสั้นคือ ทำให้แล้วเสร็จใน 1 ปี ได้แก่ เรื่องการปลดล็อกกฎระเบียบที่เป็นปัญหาในการส่งเสริมการจัดการศึกษาจากภาคส่วนอื่นๆ, ปลดล็อกกฎระเบียบที่ขัดต่อความเป็นนิติบุคคลของสถานศึกษา, การโอนโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนหนึ่งให้กับท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล ขณะนี้น่าจะมีการพิจารณาทำอย่างจริงจัง โดยจะเริ่มจากโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนอยู่น้อยมาก จำนวนประมาณ 7,000 โรงทั่วประเทศ ซึ่งน่าจะมีการโอนให้กับท้องถิ่นเข้ามาดูแล และต้องดูในเรื่องความพร้อมของแต่ละท้องถิ่นด้วย และยังมีการกระตุ้น ส่งเสริม สร้างแรงจูงใจให้ท้องถิ่นเข้ามาดูแลทั้งในเรื่องการจัดสรรทรัพยากร และยังต้องสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริหารโรงเรียนและครู ว่าการโอนย้ายไปอยู่ในสังกัดท้องถิ่นนั้นไม่ได้ลดสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับแต่อย่างใด และทาง กมธ.การศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เองก็จะเดินหน้าส่งเสริมภาคประชาสังคมในระดับจังหวัดที่ก่อตัวเป็นสภาการศึกษาจังหวัด โดยจะต้องมีการรับรองสถานภาพสภาการศึกษาจังหวัดเหล่านี้ เพื่อเชื่อมทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนในพื้นที่
นายอมรวิชช์กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการในระยะยาวที่จะดำเนินการนั้น จะต้องศึกษาการปฏิรูประบบงบประมาณให้เป็นระบบสองขา คือ มีการจัดสรรงบให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตามภารกิจปกติ และการจัดสรรงบประมาณลงสู่พื้นที่ เพื่อรองรับการกระจายอำนาจในลักษณะที่ให้จังหวัดเป็นฐาน ทั้งนี้ยังต้องเดินหน้าเตรียมความพร้อมในการสร้างระบบตรวจสอบระดับจังหวัดและท้องถิ่น ที่จะเป็นกลไกที่ทำให้เกิดธรรมาภิบาลในระดับล่างขึ้น เพราะการกระจายอำนาจจะไม่ทำอย่างไม่มีความรับผิดชอบ และการสร้างกลไกตรวจสอบดังกล่าวจะต้องปรับความคิดของคนในพื้นที่ให้กลับมาสนใจในเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นอนาคตของลูกหลานตนเอง และยังต้องปลูกฝังถึงความสำคัญของการศึกษา สร้างจิตใต้สำนึกในการร่วมกันรับผิดชอบการศึกษา ตรวจสอบไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้นในพื้นที่ และธรรมาภิบาลก็จะเกิดขึ้นในพื้นที่และในสถานศึกษาด้วย
“แนวคิดหลักสำคัญของการปฏิรูปในครั้งนี้คือ จะไม่พยายามแตะในเรื่องของโครงสร้าง แต่จะสร้างกลไกใหม่ๆ ขึ้นมาช่วยเหลือการทำงานของ ศธ. เช่น คณะกรรมการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์แห่งชาติ เป็นต้น และยังต้องมีการสนับสนุนกองทุนต่างๆ เพื่อที่จะเป็นทรัพยากรที่จะรับรองกลไกต่างๆ ที่จะเกิดในการปฏิรูปครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้แนวทางทั้งหมดจะต้องมีการเสนอให้แก่ สปช.อีกครั้งด้วย” โฆษก กมธ.การศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กล่าว.


ที่มา:หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ Thursday, 12 February, 2015 - 00:00



12/02/2558