สอนแค่"บ่าย2"เริ่มวันนี้! 4พันโรงเรียน ผอ.เตรียมฯชี้ ครูแฮปปี้ นร.น่า

4 พัน ร.ร.พร้อม\"ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้\" สพฐ.จัด 300 ทีมศึกษานิเทศก์ให้คำแนะนำแผนการสอน-กิจกรรม พร้อมประเมินข้อดี-เสียช่วง 4 เดือนแรกก่อนขยายเพิ่ม

หน่วยงานด้านการศึกษาเตรียมพร้อมสนองนโยบายรัฐบาล \"ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้\" โดยให้เรียนในชั้นเรียนถึงเวลา 14.00 น. ของแต่ละวัน จากนั้นให้นักเรียนมีโอกาสปฏิบัติกิจกรรมที่เป็นการพัฒนานักเรียนในด้านอื่นๆ ภายในโรงเรียน โดยจะเริ่มนำร่องในวันที่ 2 พฤศจิกายน มีโรงเรียนเข้าร่วมประมาณ 4,100 โรง แบ่งเป็น โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 3,831 โรง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 161 โรง และสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 108 โรงนั้น

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ได้กำชับไปยังผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ให้ติดตามดูแลโรงเรียนในพื้นที่ ซึ่ง สพท.บางแห่งมีข้อแนะนำเพิ่มเติมในทางที่ดี อาทิ อยากให้โรงเรียนที่ไม่ได้ร่วมนำร่องปรับลดเวลาเรียนคู่ขนานกันไปด้วย เพื่อเตรียมความพร้อม โดยที่ผ่านมา สพฐ.ได้ส่งศึกษานิเทศก์ลงไปเป็นผู้ให้คำแนะนำหรือสมาร์ทเทรนเนอร์ ในการช่วยครูจัดทำแผนการสอนและจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับนักเรียน ระหว่างนี้จะมีศึกษานิเทศก์กว่า 300 ทีม ลงไปช่วยดูแลให้คำแนะนำครูอย่างใกล้ชิด รวมถึงประเมินผลดีและผลเสียของการปรับลดเวลาเรียนจนครบ 4 เดือน ถ้าดำเนินการเป็นไปได้ดี พัฒนาการเรียนการศึกษาได้มีประสิทธิภาพ ครู และนักเรียนมีความสุข จะขยายเพิ่มตามนโยบาย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. กล่าวว่า พล.อ.ดาว์พงษ์กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลการดำเนินการตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้อย่างเป็นระบบ ที่ผ่านมาทราบว่า สพฐ.ได้จัดส่งคู่มือกิจกรรมลดเวลาเรียน ซึ่งมีกิจกรรมตัวอย่างกว่า 390 กิจกรรม ไปยังโรงเรียนที่ร่วมนำร่องแล้ว ซึ่งโรงเรียนสามารถจัดกิจกรรมตามคู่มือได้ หรือปรับกิจกรรมให้เหมาะสมตามบริบทของโรงเรียน และช่วงวัยของเด็ก สำหรับกิจกรรมที่จะดำเนินการ แบ่งเป็น 3 หมวด 13 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่

หมวดที่ 1 สร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้ แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1. กิจกรรมพัฒนาความสามารถด้านการสื่อสาร ตัวอย่างกิจกรรม สนุกกับภาษาไทย English is fun 2.พัฒนาความสามารถด้านการคิด และการพัฒนากรอบความคิดแบบเปิดกว้าง ตัวอย่างกิจกรรม ไข่อะไรเอ่ย หุ่นยนต์วิเศษ ศิลปะสร้างสรรค์ 3.พัฒนาความสามารถด้านการแก้ปัญหา ตัวอย่างกิจกรรม การถกแถลงแสดงความคิดเห็น กลคณิตศาสตร์ วางอย่างไรให้ถูกจุด 4.พัฒนาความสามารถด้านการใช้เทคโนโลยี ตัวอย่างกิจกรรม เที่ยวไกลไร้พรมแดน การสร้างงานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Virtual Field Trip และ 5.พัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ตัวอย่างกิจกรรม ฟุด ฟิด ฟอ ไฟ สไตล์มูฟวี่ (ภาษาอังกฤษ) แยกฉันแล้วเธอจะได้อะไร (แยกตัวประกอบคณิตศาสตร์) นิทานหรรษา (นิทาน 3 ภาษา)

นพ.กำจรกล่าวต่อว่า หมวดที่ 2 สร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม 6.ปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึก การทำประโยชน์ต่อสังคม มีจิตสาธารณะและการให้บริการด้านต่างๆ ทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม ตัวอย่างกิจกรรม นักสืบสายน้ำ มือปราบขยะ นักอนุรักษ์น้อย พี่สอนน้อง/เพื่อนสอนเพื่อน 7.ปลูกฝังความรักชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ตัวอย่างกิจกรรม ตามรอยพ่อ โครงการทำดีเพื่อพ่อ เรียนรู้อุทยานราชภักดิ์ 8.ปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม ตัวอย่างกิจกรรม ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด และผู้บำเพ็ญประโยชน์ โครงการคุณธรรม 9.ปลูกฝังและสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ตัวอย่างกิจกรรม ภูมิใจในบ้านเกิด สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น รักษ์ไทย รักษ์ถิ่น

นพ.กำจรกล่าวอีกว่า และหมวดที่ 3 สร้างเสริมทักษะการทำงานการดำรงชีพและทักษะชีวิต 10.ตอบสนองความสนใจความถนัดและความต้องการของผู้เรียนตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ตัวอย่างกิจกรรม ร้องได้ร้องดี ชีวีมีสุข รวมศิลป์สร้างสรรค์ แนะแนว 11.ฝึกการทำงานทักษะทางอาชีพ และอยู่อย่างพอเพียง ตัวอย่างกิจกรรม ร้อยลูกปัด ถ่ายภาพมือโปร เกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติ ตลาดนัดพอเพียง 12.พัฒนาความสามารถด้านการใช้ทักษะชีวิต ตัวอย่างกิจกรรม การปรับตัวให้เหมาะสม คู่ Buddy พี่รหัส ว่ายน้ำ และ 13.สร้างเสริมสมรรถนะทางกาย ตัวอย่างกิจกรรม วันกีฬาครอบครัว Bike for yourself และกีฬาสากล ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างที่เปิดกว้างไว้ โดยครูสามารถนำไปปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน เชื่อว่าเมื่ออบรมครู และหารือกับผู้เกี่ยวข้องแล้ว จะได้รายการกิจกรรมมากขึ้น

นางนันทยา ใจตรง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า โรงเรียนวัดสว่างฯได้เข้าร่วมนำร่องลดเวลาเรียนในภาคเรียนนี้ โดยช่วงปิดภาคเรียนที่ผ่านมาได้เตรียมความพร้อมให้ครูร่วมกันคิดกิจกรรม คิดเป็น 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยบูรณาการให้ผู้เรียน มีทักษะใน 3 ด้าน คือ เฮด ฮาร์ท และแฮนด์ ซึ่งหมายถึงรู้จักใช้สมอง คิด มีหัวใจ ใฝ่จริยธรรมและทัศนคติที่ถูกที่ควร และมีมือฝึกทักษะ เริ่มจากวันจันทร์ ให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกผัก ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตในชุมชน และระหว่างที่รอผักโต จะเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทักษะวิชาชีพ

วันอังคาร เน้นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการละเล่นเด็กไทย วันพุธ กิจกรรมเชิงคิดวิเคราะห์ วันพฤหัสบดี กิจกรรมศิลปะ ดนตรี และวันศุกร์ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ทั้งนี้ ในส่วนของครูผู้สอนเอง ไม่ได้หนักใจ หรือรู้สึกว่าเป็นการเพิ่มภาระงาน เพราะเดิมที่โรงเรียนจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้อยู่แล้ว เพียงแค่ไม่ได้ใช้ชื่อว่าลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้เท่านั้นเอง แต่เมื่อมีนโยบายนี้ขึ้น ก็มีข้อดีตรงที่ทำให้มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนขึ้น

นายปรเมษฐ์ โมลี ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ กล่าวว่า วันที่ 2 พฤศจิกายน โรงเรียนพร้อมสำหรับการเริ่มกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ แม้โรงเรียนเตรียมอุดมฯเป็นโรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษเน้นศักยภาพด้านวิชาการ แต่เมื่อมีนโยบายนี้เข้ามา ทางโรงเรียนจะจัดกิจกรรมเฉพาะทาง เช่น นักเรียนที่จะสอบแพทย์ เวลาในช่วงบ่ายจะจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ หรือแสดงผลงานโครงงานต่างๆ เพื่อให้นักเรียนแสดงออกได้มากขึ้น รู้จักการเข้ากลุ่ม ได้พัฒนาความถนัดตามความสนใจของตนเอง ในอนาคตกิจกรรมอาจจะขยายรูปแบบเพิ่มมากขึ้น อาทิ ไปดูงานที่สถานประกอบการ หรือนักเรียนสายวิทยาศาสตร์ไปดูการปฏิบัติงานจริงของห้องวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัย เป็นต้น

\"ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนมีกิจกรรมใหญ่ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นกีฬาสี งานสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมไทย กีฬาประเพณีเตรียมทหารเตรียมอุดมฯ ที่จะใช้กิจกรรมลดเวลาเรียนเตรียมงานในกิจกรรมเหล่านี้ด้วย ทั้งนี้ มองว่าการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เป็นกิจกรรมที่ดี ครูพอใจ นักเรียนก็น่าจะมีความสุข เพราะได้ทำในสิ่งที่ชอบ และสนใจ ผมต้องขอบคุณ พล.อ.ดาว์พงษ์ ที่เข้าใจบรรยากาศการเรียนของนักเรียนช่วงวัยรุ่น

แต่ก็อยากให้ ศธ.เข้ามาช่วยดูแลส่งเสริมความพร้อมให้กับโรงเรียน เพราะบางโรงอยากเข้าร่วมกิจกรรม แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องของอุปกรณ์ และบุคลากรผู้ชำนาญการสำหรับการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียน จึงอยากเสนอแนะให้ ศธ.และ สพฐ.ช่วยหาแนวทางดูแล เพื่อให้ทุกโรงเรียนพร้อมที่จะเข้าร่วมกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้\" นายปรเมษฐ์กล่าว

นางสุดารัตน์ พลแพงพา ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดด่าน กรุงเทพฯ กล่าวว่า โรงเรียนวัดด่านยังไม่ได้เข้าร่วมนำร่องลดเวลาเรียน แต่ได้กำชับให้ครูเตรียมความพร้อม โดยวางแผนกิจกรรมในช่วงบ่าย รวมถึงติดตามข่าวสารจากช่องทางต่างๆ ซึ่งกิจกรรมที่อยากให้ครูเน้นเป็นพิเศษจะเกี่ยวกับการส่งเสริมทักษะวิชาชีพ เพราะเด็กที่มาเรียนส่วนใหญ่ฐานะค่อนข้างยากจน จึงอยากให้เขามีทักษะอาชีพติดตัวเพื่ออนาคต คาดว่าโรงเรียนวัดด่านจะได้เข้าร่วมลดเวลาเรียนในปีการศึกษา 2559

นายมะรอสตี เจ๊ะแว ผู้อำนวยการโรงเรียนสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กล่าวว่า พร้อมจัดการเรียนการสอน ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ตามนโยบายรัฐบาล วันที่ 2 พฤศจิกายน เปิดการเรียนการสอนเป็นวันแรก จากเดิมนักเรียนจะเข้าเรียนตั้งแต่เวลา 08.30-16.10 น. ก็ปรับเวลาเป็นเข้าเรียนเวลา 08.30-14.30 น.จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงของการเพิ่มเวลารู้ และจะเลิกเรียนในเวลา 15.20 น. จะไม่กระทบกับมาตรฐานของหลักสูตรทางการศึกษา

เนื่องจากยังคงเรียนครบ 8 กลุ่มสาระวิชา รวมถึงวิชาเกี่ยวกับศาสนา แต่จะไปปรับลดเวลาเรียนวิชาเลือกและวิชาเพิ่มเติม เป็นส่วนขยายมาจากวิชาหลัก เพื่อนำไปเข้ากระบวนการจัดกิจกรรมเพิ่มเวลารู้ จะเน้นกิจกรรมเกี่ยวกับด้านกีฬา ดนตรี นาฏศิลป์ และกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ ตามที่นักเรียนสนใจ มีครูรับผิดชอบหลักสูตรและดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด มั่นใจว่านโยบายลดเวลาเรียน จะทำให้เด็กนักเรียนผ่อนคลายจากความตึงเครียดจากวิชาการ ช่วยพัฒนาทักษะด้านของการทำกิจกรรมมีผลต่อการเสริมสร้างกระบวนการของการทำงานเป็นทีม ลดการออกไปทำพฤติกรรมไม่พึงใจในสังคม
MatichonOnline



02/11/2558