หลากความคิดปฏิรูปการศึกษา

โจทย์ใหญ่เรื่องหนึ่งของรัฐบาลปัจจุบันที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำคือเรื่องของการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มกระบวนการขับเคลื่อนไปแล้วในหลายมิติ และการจัดกิจกรรมเวทีสาธารณะ (PUBLIC FORUM) ในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศโดยกระทรวงศึกษาธิการ ช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2557 ก็เป็นอีกกิจกรรมที่มีความสำคัญ เพราะจะได้นำข้อมูลที่ได้ไปสรุปวิเคราะห์แนวความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน นำไปสู่กระบวนการสังเคราะห์เพื่อการปฏิรูปการศึกษาต่อไป

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมเวทีสาธารณะในส่วนของ 14 จังหวัดภาคใต้ ณ โรงแรมกรีนเวิลด์ สงขลา โดยสำนักงานศึกษาธิการภาค 11 สงขลา ร่วมกับ สำนักงานศึกษาธิการภาค 10 ภูเก็ต และ สำนักงานศึกษาธิการภาค 12 ยะลา มีผู้เข้าร่วม 250 คน ทำให้ได้ข้อสรุปเสนอในหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

- การปฏิรูปครู เสนอให้มีการปฏิรูปกระบวนการผลิตครูใหม่ โดยจัดแหล่งผลิตวิชาชีพครู อาจารย์ แยกสาขาตามถนัด มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้มีการประเมินสมรรถนะอย่างจริงจังก่อนจบการศึกษา โดยเฉพาะเน้นพัฒนาด้านจริยธรรม จรรยาบรรณ และจิตวิญญาณความเป็นครู การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย ครู ต้องมีกระบวนการที่โปร่งใส มีความเป็นธรรม ส่วนการประเมินผลงานทางวิชาชีพครู ควรใช้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเป็นหลัก ทั้งนี้ การประเมินการทำงานของครู ควรประเมินแบบสังคมมิติเป็นมาตรฐาน ทุก 3 ปี การพิจารณาค่าตอบแทนระดับคุณภาพ ถ้าสอนดีมีคุณภาพ ระดับดี-ดีมาก จะให้ค่าตอบแทนเป็นกรณีพิเศษ ด้านใบประกอบวิชาชีพครู ควรปรับเกณฑ์ใหม่ เช่น สอนอย่างน้อย 1 ปีการศึกษา ถ้าผ่านการประเมินแล้ว จึงออกใบประกอบวิชาชีพให้ หรืออาจจะมีการประเมินทุก ๆ 5 ปี เพื่อเป็นการต่ออายุใบประกอบวิชาชีพ ทั้งนี้ ครูควรทำหน้าที่สอนอย่างเดียว งานธุรการหรืองานสนับสนุนอื่น ควรจัดเจ้าหน้าที่ดำเนินงานโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ครูจะดูแลได้อย่างทั่วถึง สัดส่วนของนักเรียนต่อห้อง ควรจะเป็น 25 : 1

- การปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนรู้ เสนอว่า ในระดับมัธยมศึกษา 8 สาระ ส่วนใหญ่ เห็นว่ามีความเหมาะสมแล้ว ส่วนในระดับประถมศึกษา ส่วนใหญ่ เห็นควรให้ลดเหลือ 5 สาระ ควรเพิ่มวิชาพลเมือง และแยกวิชาประวัติ ศาสตร์ออกอย่างชัดเจน ในระดับชั้นประถมศึกษา 1-3 ให้เน้นวิชาภาษาไทยและคณิตศาสตร์ ในส่วนจำนวนชั่วโมงการเรียน ระดับประถมศึกษาและมัธยม ให้มีการปรับเนื้อหาให้น้อยลง แต่จำนวนชั่วโมงที่เหมาะสม ทั้งนี้ ควรปรับระบบการเข้าเรียนใหม่ เช่น เข้าเรียนเวลา 07.30 น. เลิกเรียนเวลา 14.30 น. เพื่อใช้เวลาที่เหลือคิดทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่สนับสนุนการศึกษาและสังคม

ในด้านแบบฝึกหัด สื่อการเรียน ควรมีกระบวนการควบคุมมาตรฐานแบบเรียนของสำนักพิมพ์ โดยที่กระทรวงศึกษาธิการต้องมีหน่วยงานที่ดูแลความเป็นมาตรฐานและเป็นต้นแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้การบ้าน ครูควรมีการบูรณาการการออกการบ้านให้สอดคล้องกัน ไม่ส่งเสริมการบ้านที่สามารถลอกจากอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องค้นคว้า คิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ โดยเฉพาะการกวดวิชามีความจำเป็น เพราะเมื่อระบบการศึกษาเน้นการสอบแข่งขัน เมื่อต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ออกข้อสอบนอกเหนือหลักสูตร นักเรียนต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากครูกวดวิชาที่มีเทคนิคที่ดีกว่าครูในโรงเรียน แต่เมื่อนักเรียนส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ควรกลับไปใช้หลักสูตร พ.ศ. 2503, พ.ศ. 2521 เน้นการสะกดคำ การปรับครูผู้สอนภาษาไทย ควรบรรจุครูที่จบวิชาเอกภาษาไทย ป.1-3 เน้นภาษาไทยและคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะปัญหาการอ่านออกเขียนได้ ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ

- การพัฒนากำลังคนและการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ที่ประชุมเสนอการผลิตกำลังคน ควรให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ครูอาชีวะควรต้องพัฒนาทั้งด้านทักษะและประสบการณ์ ปรับพัฒนาผู้เรียน เน้นพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การมีวินัยและอุตสาหะ ควรมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชน ในทุกภาคส่วน ได้แก่ การจัดทำหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การฝึกงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และควรให้สิทธิประโยชน์แก่เอกชนที่ให้ความร่วมมือ เช่น การลดภาษี ทั้งนี้การพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ต้องมีความเสมอภาคในการเรียน การใช้สื่ออุปกรณ์การเรียนการสอนที่มีความเท่าเทียมกันทั้งสถานศึกษาในเมืองและชนบท ให้มีการฝึกทักษะอย่างเป็นรูปธรรม

- การปฏิรูปการบริหารจัดการ ที่ประชุมเสนอ ปรับโครงสร้างการบริหารของกระทรวงศึกษาธิการ โดยการกลับไปใช้โครงสร้างเดิมหรือใกล้เคียง เพื่อการควบคุมหรือกำกับติดตามได้อย่างเป็นระบบ มีความเป็นเอกภาพ การให้หน่วยงานสังกัดเดียวกันมีหน่วยงานประสานงานระดับจังหวัด/อำเภอ สำนักงานศึกษาธิการภาค มีหน่วยงานติดตามประเมินการจัดการศึกษา เน้นการกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการควรเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในส่วนข้าราชการประจำ

- การเพิ่มการกระจายโอกาสและการพัฒนาระบบ ไอซีที ที่ประชุมเสนอว่า ควรจัดสรรเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้ทั่วถึง พอเพียง ยุติธรรม เน้นนักเรียนและนักศึกษาจากชนบท ให้มีโอกาสมากยิ่งขึ้น ปรับเงินอุดหนุนรายหัวให้โรงเรียนขนาดเล็ก ควรเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียนทั้งในโรงเรียนของรัฐและโรงเรียนเอกชน พัฒนาการใช้ ไอซีที เพื่อการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ การบริการ ไวไฟ โครงข่าย อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

อย่างไรก็ตามผลสรุปประมวลข้อเสนอแนะจากเวทีสาธารณะดังกล่าว ยังต้องมีการประมวลจากภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกันอีก เพื่อสรุปเป็นภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อดำเนินการต่อไป.

ไชยทวี อติแพทย์

ผู้อำนวยการสำนักงานศึกษาธิการภาค 11


ที่มา:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคาร 30 กันยายน 2557 เวลา 00:00 น.



30/09/2557