หั่นเป้าผลิตครูเหลือปีละ1.5หมื่น คุรุสภาเสนอรับเด็กแบบระบบปิด

หั่นเป้าผลิตครูเหลือปีละ1.5หมื่น คุรุสภาเสนอรับเด็กแบบระบบปิด/ชี้ทุกวันนี้เฟ้อหนักล้นตลาด3หมื่น/ปี


ศึกษาธิการ 0 คุรุสภาเตรียมหารือผลิตครูระบบปิด ตั้งเป้าให้มหา\'ลัยผลิตปีละแค่ 1.5 หมื่นอัตรา แก้ปัญหาบัณฑิตครูเฟ้อล้นตลาดปีละกว่า 3 หมื่น ด้าน รมว.ศธ.แนะไปศึกษาข้อดี-ข้อเสีย ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ฯ ห่วงกระทบอาจารย์ว่างงาน
ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานคณะกรรมการคุรุสภา เปิดเผยว่า จากการที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มาตรวจเยี่ยมคุรุสภาเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ทางคุรุสภาได้มีการเสนอแนวคิดเชิงนโยบายเรื่องการผลิตครูระบบปิด ซึ่งเป็นแนวความคิดของนักวิชาการจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อตอบโจทย์ปัญหาสถาบันอุดมศึกษาแห่ผลิตบัณฑิตสายครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์มากจนล้นตลาด และไม่มีคุณภาพ ไม่สอดคล้องตามความต้องการของผู้ใช้ สาเหตุของปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการขาดระบบประสานงานและควบคุมดูแลการผลิตครูอย่างจริงจัง อีกทั้งยังมีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดหลักสูตรผลิตครูกว่า 100 แห่ง ทำให้เกิดการต่างคนต่างผลิตโดยไม่ได้ดูความต้องการที่แท้จริงของตลาด
สำหรับจำนวนการผลิตในระบบปิด ประธานบอร์ดคุรุสภากล่าวต่อว่า จะมีการควบคุมดูแลตั้งแต่ระบบการรับเข้า และระบบการผลิตครูในภาพรวมทั้งประเทศ โดยจะควบคุมให้สถาบันอุดมศึกษาผลิตครูให้เป็นไปตามความต้องการที่แท้จริง อาจมีการผลิตเพียงแค่ปีละ 15,000 อัตราเท่านั้น ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อที่จะรองรับผู้ที่จบจากคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์มาแล้วก่อนหน้านี้ และยังไม่ได้เป็นครูด้วย
\"ปัจจุบันยอดรวมบัณฑิตสายครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จบออกมาปีละกว่า 50,000 คน ขณะที่ความต้องการมีแค่ 20,000 คนต่อปี ทำให้ต้องมีการกำหนดเป้าหมายการผลิตครูแต่สาขาวิชาในแต่ละปี\" ศ.ดรไพฑูรย์กล่าว และว่า จากนั้นจะให้ทาง สกอ.เป็นผู้รับเอาเป้าหมายในการผลิตครูนี้ไปประสานกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ และเมื่อบัณฑิตสำเร็จการศึกษาก็รับบรรจุเข้าเป็นครูทันทีด้วย เพราะฉะนั้นระบบการรับเข้าจะเปิดรับจำนวนน้อยลง และนี่ถือเป็นการคัดเลือกคนที่เก่ง มีความสามารถจริงๆ มาเรียนครูด้วย แต่จะมีการกำหนดเงื่อนไขด้วยว่า ผู้เรียนไม่สามารถเลือกสถานที่บรรจุได้ เพราะถือว่าได้โอกาสที่ดีกว่าคนอื่น คือมีการการันตีเรื่องตำแหน่งงานหลังเรียนจบให้ และตนจะนำเสนอแนวคิดนี้ในการประชุมคณะกรรมการคุรุสภาครั้งหน้าด้วย
ด้าน พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวว่า แนวคิดนี้ได้ให้คุรุสภาไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมถึงข้อดี-ข้อเสีย เพราะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบค่อนข้างมาก แนวคิดนี้ถ้าทำได้ก็ดี แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายเรื่อง และต้องดูความต้องการครูในอนาคต และต้องคำนึงถึงประเด็นการให้บัณฑิตที่จบจากสาขาวิชาอื่นๆ มาเป็นครูได้ด้วย เพราะการพูดคุยกันในครั้งนี้เป็นเพียงการคุยในแง่ของหลักการเท่านั้น
รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การผลิตครูในระบบปิดนั้นถือเป็นแนวทางที่ดีต่อวิชาชีพครู เพราะคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เองก็จะได้คนที่เก่งและดีเข้ามาศึกษา จะส่งผลให้วิชาชีพครูมีคุณภาพมากขึ้น แต่อาจจะส่งมีผลกระทบต่อคณาจารย์ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เพราะการผลิตแบบระบบปิดนี้อาจทำให้แต่ละสถาบันการศึกษารับนักศึกษาจำนวนน้อยลงกว่าแผนที่กำหนด และเมื่อมีการจำกัดจำนวนการรับนักศึกษา ก็จะมีบางสถาบันที่ไม่ได้ผลิตครูในบางสาขา หรือบางสาขาอาจจะไม่มีผู้เรียน ทำให้ต้องปิดตัวลง
\"ผมเชื่อว่าไม่สามารถทำได้ อาจจะทำได้เพียงกึ่งปิดเท่านั้น เพราะการผลิตครูนั้น ผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้ครู เช่น ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานการศึกษาเอกชน เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถจะทราบความต้องการของทั้งหมดได้ สิ่งที่จะทำได้คือ อาจจะนำตัวเลขความต้องการครูของแต่ละองค์กรมาเป็นฐานในการผลิต และอาจจะบวกเพิ่มในส่วนอื่นๆ\" รศ.ดร.มนตรีกล่าว.


ที่มา:หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ Monday, 20 October, 2014 - 00:00



20/10/2557