หุ่นยนต์ช่วยผู้ป่วยอัมพาต เพื่อสังคม ผลงานใหม่จากไอเดียเด็กไทย

หุ่นยนต์ช่วยผู้ป่วยอัมพาต เพื่อสังคม ผลงานใหม่จากไอเดียเด็กไทย วิศวะม.ศรีปทุม


“การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ”...แม้เราจะมีเงินทองมากขนาดไหนแต่ถ้าเราเจ็บป่วยทางกาย ก็จะทำให้จิตใจของเราเกิดการทรมานตามไปด้วย แม้จะมีเงินทองมากขนาดไหนก็ไม่มีความสุข

ต้องยอมรับว่าในสังคมยุคปัจจุบันนี้มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ป่วยเป็นโรคอัมพาต โดยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวตัวเองได้เหมือนคนปกติ ซึ่งโรคนี้เกิดขึ้นได้จากหลายๆ สาเหตุ แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วผู้ป่วยเองก็จะมีอาการท้อแท้ หมดกำลังใจที่อยู่ต่อสู้ และที่สำคัญยังเกิดเป็นภาระให้กับบุคคลที่อยู่ในครอบครัวนั้นๆ ที่จะต้องช่วยดูแลทุกย่างก้าว โดยที่เขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย

แต่ความลำบากทั้งหมดนี้กำลังจะหมดไป เพราะมีกลุ่มนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่จับมือกันผลิตตัวหุ่นยนต์เพื่อสังคม ที่ใช้ในการช่วยเดินผู้ป่วยอัมพาตครึ่งล่าง และผลงานชิ้นนี้ยังได้รับการการันตี ด้วยรางวัลชนะเลิศจากการประกวดหุ่นยนต์เพื่อสังคม การแข่งขันรายการ RACMP 2014 ที่จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) และสถาบันไทยเยอรมัน

ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะผลิตผลงานชิ้นนี้ออกมาต่อยอดให้กับสังคมได้นำไปใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยในสถานที่ต่างๆ ถือเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจให้กับน้องๆ เหล่านั้นเป็นอย่างมาก เพราะนี่คือหนึ่งผลผลิตของคนไทย ที่คิดเอง ผลิตเอง และใช้ได้จริง

นายณัฐพงศ์ คงมาลัย สมาชิกในทีมผู้ผลิตหุ่นยนต์ กล่าวว่า แนวคิดในการสร้างหุ่นยนต์ชิ้นนี้ เพราะอยากที่จะช่วยเหลือสังคม โดยคิดว่าในสังคมไทยมีผู้ป่วยที่ป่วยเป็นอัมพาตนั้นมีอยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งเขาไม่สามารถที่จะยืน หรือลุกนั่งได้เอง จะต้องมีคนคอยดูแลช่วยเหลืออยู่ด้วยตลอด จึงเกิดความคิดที่จะสร้างหุ่นยนต์ในรูปแบบการช่วยเหลือผู้ป่วยนั้นขึ้นมา โดยมองเห็นในโรงงานที่ผลิตรถยนต์ หรือผลิตเครื่องจักกลต่างๆ ยังต้องพึ่งพาหุ่นยนต์ในการเข้ามาช่วยเหลือในการทำงานอยู่ ซึ่งเรามองว่า ถ้าเราคิดจะนำหุ่นยนต์มาช่วยเหลือคนที่ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้บ้างล่ะ ก็คงจะดีไม่น้อย เพราะอย่างน้อยก็ทุ่นแรงในการช่วยให้เขาสามารถเดินไปไหนมาไหนได้เอง

การลงมือทำ เริ่มจากศึกษาการเดินของคน ด้วยท่าทางการเดินที่ถูกต้อง มีรูปแบบการทรงตัวยังไง เดินกี่ก้าวต่อนาที โดยเก็บข้อมูลทั้งหมดมาเพื่อทำการออกแบบหุ่นยนต์ เน้นโครงสร้างที่มีน้ำหนักเบา ขับเคลื่อนง่ายโดยใช้มอเตอร์กระแสตรงในการขับเคลื่อน

นายเศรษฐวิโชค นิลนวรัตน์ สมาชิกเพื่อนร่วมทีม ได้กล่าวว่า หุ่นยนต์ตัวนี้ เน้นความเป็นผู้ชาย สูง 160-180 เซ็นติเมตร ออกแบบมาเพื่อรับน้ำหนักของผู้ใช้งานได้ที่ 100 กิโลกรัม ช่วงส่วนของขาสามารถปรับสั้นสุด 30 เซ็นติเมตร และสามารถปรับให้ยาวสุด ได้ที่ 50 เซ็นติเมตร ออกแบบโดยใช้โปรแกรม Solidworks เน้นความยืดหยุ่น และเหมาะกับสรีระคนไทยที่สุด นอกจากนี้ ยังมีการดีไซน์ลักษณะผู้ป่วยที่ขาโก่ง ขาไม่ตรง เราก็สามารถที่จะปรับให้เข้ากับสรีระตัวผู้ป่วยได้ วิธีการทำงาน คือ เมื่อผู้ป่วยถูกเข็นรถเข็นมา และนำหุ่นยนต์วางอยู่บนเก้าอี้ แล้วก็จะติดตั้งหุ่นยนต์ให้เข้ากับตัวได้ โดยสวมใส่ในตัวหุ่นยนต์ได้เลย และสามารถที่จะเดินไปไหนได้เองอย่างอัตโนมัติ

การสร้างหุ่นยนต์ตัวนี้ ก็อยากให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ใกล้เคียงกับคนปกติให้มากที่สุด เพราะจะทำให้ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตมีจิตใจที่ดีขึ้น ห่างไกลจากโรคซึมเศร้า ความเครียด เพราะล้วนแต่เป็นผลกระทบต่อจิตใจทั้งสิ้น ถ้ามีโอกาสก็อยากทำงานชิ้นนี้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ที่ให้ผู้ป่วยสามารถนำไปใช้ได้ หรือไม่ก็นำไปใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยในโรงพยาบาลครับ

ดร.วนายุทธ์ แสนเงิน หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้กล่าวถึงความภาคภูมิใจในครั้งนี้ ถือเป็นความภูมิใจของตัวนักศึกษา และความภูมิใจของคนไทย ที่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ชิ้นนี้ให้เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับ และช่วยบรรเทาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นอัมพาตช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ด้วยฝีมือหุ่นยนต์เด็กไทยตัวนี้ จะได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคม และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ต่อไปครับ



ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันจันทร์ ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557, 10.35 น



29/12/2557