เช็คสมองก่อนอัลไซเมอร์

ในอดีตที่ผ่านมา ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันเริ่มพบในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปีมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น หรือเรียกอีกอย่างว่าสมองเสื่อมก่อนวัย หรือหมดอายุเร็วกว่ากำหนด ซึ่งในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยมากถึง 700,000 คน นักวิจัยสาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยอาจารย์วัชรา แก้วมหานิล และนิสิตชั้นปีที่ 4 ได้แก่ น.ส.กนกวรรณ พุ่มเจริญ น.ส.สุปราณี กลั่นกสิกรณ์ น.ส.มณีรัตน์ ตรีสงฆ์ จึงนำปัญหาการอุบัติของโรคอัลไซเมอร์สร้างนวัตกรรม “เครื่องกันลืม เครื่องตรวจสมองเสื่อมก่อนวันหมดอายุ” ที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำสูง แจ้งเตือนความผิดปกติภายในสมองในระยะแรกก่อนที่จะมีอาการ

อาจารย์วัชรา แก้วมหานิล นักวิจัยคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) เปิดเผยว่า การสร้างนวัตกรรม “เครื่องกันลืม เครื่องตรวจสมองเสื่อมก่อนวันหมดอายุ” ซึ่งเครื่องจะมี Sensor สามารถตรวจจับคลื่นไฟฟ้าสมองและระดับออกซิเจนในขณะที่สมองกำลังทำงาน แจ้งเตือนความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในสมองได้ในระยะแรกก่อนที่จะมีอาการ สามารถบอกสัญญาณผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสมองส่วนหน้าซึ่งอยู่บริเวณหน้าผากทั้งสองข้างของเรา ซึ่งเป็นสมองส่วนควบคุมความจำปฏิบัติการ หรือความจำชั่วคราว สำหรับเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก่อนจะนำไปเก็บบันทึกเป็นความจำถาวรที่ฮิปโปแคมปัส โดยในระยะแรกของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะเริ่มสูญเสียความจำบริเวณส่วนนี้ก่อน และต่อมาหากไม่ได้รับการป้องกันอย่างทันท่วงทีจะทำให้สูญเสียความจำอย่างถาวรได้ในที่สุด และตามมาด้วยการเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วไม่เกิน 5 ปี ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เลย แต่การสูญเสียความจำปฏิบัติการจะใช้เวลาดำเนินโรค 10-15 ปี ก่อนที่จะถึงขั้นสมองเสื่อมอย่างถาวร จากแนวคิดนี้ สู่ที่มาของนวัตกรรมดังกล่าว โดยเครื่องจะสามารถคำนวณได้อย่างถูกต้อง แม่นยำสูง มีประโยชน์อย่างมากที่จะช่วยส่งเสริมและป้องกัน ทำให้สมองมีสุขภาพที่ดีห่างไกลโรคอัลไซเมอร์ ขณะเดียวกัน ตอนนี้นักวิจัยได้พัฒนาจนสามารถตรวจโรคพาร์กินสันและลมชักได้อีกด้วย



ที่มา:หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 14/11/2557 เวลา 7:46 น



15/11/2557