เปิดรธน.ชั่วคราวให้อำนาจ"บิ๊กตู่"เบ็ดเสร็จตามมาตรา44

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมี่อวันที่ 22 ก.ค. เวลา 19.40 น. เว็บไซต์สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.)ได้เผยแพร่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/RKJ/announce/newrkj.jsp โดยรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีบทบัญญัติทั้งหมด 48 มาตราทั้งนี้ มาตรา 6 บัญญัติให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประกอบด้วยสมาชิกจํานวนไม่เกิน 220 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่ต่ำ40 ปี ตามที่คสช.ถวายคําแนะนํา และให้สนช.ทําหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรวุฒิสภา และรัฐสภา โดยสมาชิกสนช.ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม อาทิ ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในระยะเวลา 3 ปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งฯ เคยเป็นถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเคยต้องคําพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ เป็นผู้อยู่ระหว่างต้องห้ามไม่ให้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือเคยถูกถอดถอนจากตําแหน่ง

นอกจากนี้ ในมาตรา 10 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกสนช.เป็นประธานสนช.1 คน และเป็นรองประธานสนช.ไม่เกิน 2 คนตามมติของสนช. และให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิก สนช. ประธานสภาและรองประธานสนช.

สำหรับที่มาของนายกรัฐมนตรีนั้นมาตรา 19 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมติของสนช. และรัฐมนตรีอื่นอีกจํานวนไม่เกิน 35 คน ตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคําแนะนํา ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้ ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ส่วนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและการให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตําแหน่งนั้นให้ประธานสนช.ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ขณะที่ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองภายในเวลา 3 ปี ก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งต้องไม่เป็นสมาชิกสนช. สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ต้องไม่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้พิพากษา หรือ ตุลาการ อัยการ กรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติที่มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปใน11ด้าน คือ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมการปกครองท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ พลังงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สื่อสารมวลชน สังคม และอื่นๆ โดยให้มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติไม่เกิน 250 คน

ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่ คสช. โดยสมาชิกสภาปฏิรูปต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับสนช. ทั้งนี้ยังกำหนดให้คสช.จัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้ที่สมควรเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปฯทั้ง 11 ด้าน และให้มีคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดด้วย ในส่วนของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐรรมนูญนั้นใน มาตรา 32 บัญญัติให้มีสมาชิกจำนวน 36 คน โดยประธานกรรมาธิการฯจะมาจาก คสช. ส่วนกรรมาธิการฯ 35 คนนั้น แบ่งเป็นมาจากการเสนอของสภาปฏิรูปฯ 20 คนและที่เหลืออีก 15 คน มาจากการเสนอของ สนช. ครม. และ คสช.เสนอฝ่ายละ5 คน ทั้งนี้ต้องแต่งตั้งกรรมาธิการฯให้เสร็จภายใน15 วันนับจากวันที่มีการเรียกประชุมสภาปฏิรูปฯ

อย่างไรก็ตามในมาตรา 44 ได้ให้อำนาจหัวหน้าคสช.สามารถสั่งการระงับ ยับยั้ง หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจอของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หน.คสช. โดยความเห็นของคสช.ทีอำนาจสั่งการระงับยับยั้งหรือกระทำการใด ได้ ไม่ว่ าการกระทำนั้นจะมีผลในการบังคับนิติบัญญัติ ในทางบริหารและตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏฺบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้ เป็นที่สุุด ทั้งนี้เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ให้รายงานประธานสนช.และนายกรัฐมนตรีให้ทราบโดยเร็ว

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม ยังมีมาตราที่น่าสนใจอีกหลายมาตรา อาทิเช่น
-มาตรา 5 เนื้อหาประมาณ มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญที่ผ่านๆ มา แต่เพิ่มความรัดกุมคือ ถ้าเหตุที่เกิด ไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับ ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ซึ่งมีการเพิ่มความรัดกุมคือ ระบุเลยว่า ประเพณีการปกครองนั้น ต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และถ้าเป็นเรื่องในวงงานของ สนช. ก็ให้ สนช.วินิจฉัย
หากเป็นเรื่องนอกวงงาน ให้ คสช. ครม. ศาลฎีกา หรือศาลปกครองสูงสุด ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แต่ของศาล ให้ขอให้วินิจฉัย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดี
เรื่องสมาชิก \"สนช.\" มีไม่เกิน 220 คน อายุต้องไม่ต่ำกว่า 40 ปี ผู้ถวายคำแนะนำให้แต่งตั้ง คือ คสช. ทำหน้าที่เหมือนทั้งวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร โดยการเลือก ให้คำนึงถึงความหลากหลาย คุณสมบัติของ สนช. ที่สำคัญ ๆ ก็คือ ห้ามดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองในระยะเวลา 3 ปี ก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้ง เท่ากับนักการเมือง ดังนั้น พวก 109 หรือ 111 ก็ต้องไม่มี เพราะห้ามคนเคยถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งด้วย แต่อดีต ส.ว.ทั้งหลายสามารถเป็น สนช.ได้ เพราะ ส.ว.ไม่ได้สังกัดพรรค

-มาตรา 16 สนช. ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีได้ แต่ลงมติไม่ไว้วางใจไม่ได้ ใช้สิทธิ์ สนช. 1 ใน 3 ยื่นกระทู้

-มาตรา 19 การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตั้งตามมติของ สนช. และตั้ง ครม. ซึ่งนอกจากต้องบริหารราชการแผ่นดิน ยังต้องดำเนินการให้มีการปฏิรูปด้านต่าง ๆ และส่งเสริมความสามัคคีสมานฉันท์ ทั้งนี้ สนช.มีอำนาจถอดถอนนายกรัฐมนตรี โดยมีอำนาจเสนอให้พระมหากษัตริย์ปลดนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้ แต่การจะปลดนายกฯ คสช. ต้องเป็นผู้เสนอ

-มาตรา 27 ให้มีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทำหน้าที่ “ศึกษาและเสนอแนะ” ให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ ทั้งสิ้น 11 ด้าน คือ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองส่วนท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ พลังงาน สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สื่อสารมวลชน สังคม และอื่นๆ

-มาตรา 28 การตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีไม่เกิน 250 คน ก็ คสช.เลือกอีกนั่นแหละ กระบวนการอยู่ในมาตรา 30 คือ ให้มีคณะกรรมการสรรหาบุคคลที่เชี่ยวชาญในเรื่องแผนปฏิรูป 11 เรื่อง เรื่องละ 1 คณะ และมีคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัด คัดคนที่มีภูมิลำเนาในท้องถิ่นนั้นๆ มาร่วม สปช. จากนั้นคณะกรรมการสรรหา สรรหาบุคคลที่ “มีความสามารถเป็นที่ประจักษ์” เสนอต่อ คสช. ให้ คสช.เลือก ส่วนเกณฑ์การคัดเลือกตัวแทนจากจังหวัด ให้รอ พรฎ.ออกก่อนว่าจะกำหนดเกณฑ์อย่างไร แต่มีตัวแทนจังหวัด จังหวัดละ 1 คน
หน้าที่ของ สปช. อยู่ในมาตรา 31 คือการทำข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูป เสนอต่อ สนช. ครม. และ คสช. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง , เสนอกฎหมายเข้า สนช.ได้ และเสนอความเห็นต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญถาวรฉบับที่จะมีขึ้นต่อไป รวมถึงหน้าที่ในการ “พิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดทําขึ้น

มาตรา 32 การตั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.มี 36 คน โดยให้ประธาน สปช. แต่งตั้ง ในส่วนของประธาน กมธ. ยกร่างฯ ให้ คสช.เสนอคนมา ส่วน กมธ.อื่นๆ ให้มาจาก สปช.เสนอ 20 คน สนช. ครม.และ คสช. เสนอฝ่ายละ 5 คน ให้ตั้ง กมธ.ให้แล้วเสร็จใน 15 วันหลังเรียกประชุม สปช. ครั้งแรก
ส่วนคุณสมบัติ กมธ.ยกร่างฯ นั้น ให้ไปดูในมาตรา 33 คือต้องไม่เป็น “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ยกเว้นว่า เป็นคนใน คสช. สนช. หรือ สปช. และไม่เคยเป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองในช่วง 3 ปีก่อนได้รับการแต่งตั้ง ไม่ใช่ผู้พิพากษาหรือกรรมการองค์กรอิสระ ห้าม กมธ.ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี นับแต่พ้นจากตำแหน่ง กมธ.

มาตรา 34 มาตรา ให้ กมธ.ยกร่างให้เสร็จใน 120 วัน นับตั้งแต่ได้รับข้อเสนอหรือความเห็น จาก สปช. ( สปช.ต้องเสนอความเห็นใน 60วัน หลังเปิดประชุม สปช.นัดแรก เท่ากับกระบวนการยกร่าง ใช้เวลาประมาณ 180 วัน ) แล้วเสนอต่อ สปช. ให้พิจารณา
โดยประเด็นในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ต้องครอบคลุมเรื่องสำคัญ อาทิ การให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ที่เหมาะสมกับสังคมไทย มีกลไกปราบโกง ป้องกันโกง ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในภาครัฐและเอกชน ควบคุมการใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และมีกลไกป้องกันและตรวจสอบผู้เธอเคยต้องคำพิพากษาว่า ทุจริต กระทำการมิชอบ “หรือเคยทำให้เลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองเด็ดขาด”
ต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพให้เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่ ดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลและคณะบุคคลใดๆ , มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม สร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล , กลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้าง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดความเป็นธรรมทางการเมือง และต้องมีกลไกป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและประเทศชาติ ในระยะยาว สำหรับ รัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ ต้องมีกลไกผลักดัน ให้มีการปฏิรูปเรื่องต่างๆ ให้สมบูรณ์ต่อไป

มาตรา 36 ให้ กมธ.ยกร่างเสนอรัฐธรรมนูญให้ สปช. ประชุมให้ความเห็นใน 10 วันนับแต่ได้รับร่าง สปช.อาจขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ภายใน 30 วัน หลังจากพิจารณาสิบวันนั้นไปแล้ว โดยใช้ สปช. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เสนอ

นอกจากนี้ ให้ กมธ.ยกร่าง ฯ ส่งร่างให้ ครม. และ คสช. ด้วย โดยทั้ง ครม.และ คสช. สามารถขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ภายใน 30 วันนับตั้งแต่ได้รับร่าง ถ้ามีการแก้ไข ตามมาตรา 37 ให้แก้ให้แล้วเสร็จใน 60 วัน นับแต่วันที่ยื่นกำหนดขอแก้ไข เมื่อแก้แล้ว ส่งกลับไปที่ สปช.ให้พิจารณาใน 15 วัน ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ “ทั้งฉบับ” โดยจะแก้ไขอีกไม่ได้ เมื่อ สปช.มีมติแล้ว ก็ต้องนำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วันนับแต่มีมติ จากนั้นประกาศใช้ได้เลย แต่หากไม่พระราชทานคืนมาใน 90 วัน ให้รัฐธรรมนูญนั้นตกไป

มาตรา 38 ถ้า สปช.พิจารณาไม่ทัน หรือเกิดเหตุใดๆ ให้รัฐธรรมนูญตกไป ก็ให้ สปช.และ กมธ.ยกร่างชุดนั้นสิ้นสุดลง และตั้งชุดใหม่

มาตรา 42 ให้ คสช.ยังคงอยู่ โดยจะเพิ่มใครเป็น คสช.ก็ได้ แต่ไม่เกิน 15 คน และยังมีหน้าที่ให้ความเห็นต่อ ครม.ได้ หรือ กรณีเห็นสมควร หัวหน้า คสช. หรือนายกฯ อาจขอให้มีการประชุมร่วม คสช., ครม. เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ
มาตรา 47 ให้คำสั่งของ คสช.ที่สั่งมาตั้งแต่ 22 พ.ค.ถือเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และให้บังคับใช้ต่อไปได้

ทั้งนี้ มาตรา 48 บัญญัติว่าการกระทําทั้งหมดซึ่งได้กระทําเนื่องในการยึดและควบคุมอํานาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ของหัวหน้าและคสช.ถ้าการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง


ขอบคุณ:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคาร 22 กรกฎาคม 2557 เวลา 21:04 น.



23/07/2557