เปิดร่างการศึกษาชาติปี57-61แบ่งตามวัย

เมื่อวันที่ 25 กันยายน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยมีนายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เข้าร่วม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างกรอบแผนการศึกษาแห่งชาติเพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ซึ่งเป็นแผนที่จะดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2557-2561 จะยกร่างขึ้นโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้เป็นแนวทางและเป้าหมายในการพัฒนาการศึกษาของคนไทยในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ ที่สำคัญกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะนำแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติเพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตนี้เสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการศึกษาด้วย เพื่อให้ สปช.นำไปศึกษาและต่อยอด รวมทั้งเสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาคนไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ศธ.จะต้องนำแผนดังกล่าวเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน
สาระสำคัญของแผนการศึกษาแห่งชาติเพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตนั้น จะมีการตั้งเป้าหมายและกำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาของแต่ละช่วงอายุ ครอบคลุมทั้งหมด 5 ช่วงอายุ ได้แก่ ช่วงแรกเกิดถึงประถมวัย (0-5 ปี) ช่วงวัยนักเรียน (5-14 ปี) ช่วงวัยรุ่น (15-21 ปี) ช่วงวัยแรงงาน (15-59 ปี) และช่วงผู้สูงวัย (60 ปีขึ้นไป) ได้รับการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้คุณลักษณะ และทักษะที่จำเป็นอย่างรอบด้าน ให้ทันกับโลกศตวรรษที่ 21 โดยในช่วงแรกเกิดถึงประถมวัย จะมีเป้าหมายให้เด็กแรกเกิดจนถึง 5 ปี ร้อยละ 95 ได้รับบริการด้านการพัฒนาการตามวัย และให้มีการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีมาตรฐาน ทั้งนี้เนื่องจากพบว่าเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี มีภาวะทุพโภชนาการ ส่งผลให้มีพัฒนาการไม่สมวัย การเรียนรู้ช้า
ขณะที่เป้าหมายของการพัฒนาเด็กในวัยเรียนนั้น กำหนดให้เด็กไทยทุกคนต้องมีโอกาสเรียนการศึกษาภาคบังคับ ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐานเพิ่มขึ้น และมีผลสัมฤทธิ์ทางวิชาหลักการเรียนเพิ่มขึ้น เพราะพบปัญหาว่าเด็กไทยยังมีการเรียนรู้และพัฒนาการค่อนข้างช้า มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ขาดทักษะการดำรงชีวิต คุณภาพการศึกษาโดยรวมอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ส่วนช่วงวัยรุ่นนั้น ตั้งเป้าหมายเพิ่มผู้เรียนสายอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น ให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาหลักเพิ่มขึ้น และผลทดสอบ PISA อยู่ในอันดับดีขึ้น สำหรับช่วงวัยแรงงาน ตั้งเป้าหมายว่า ร้อยละ 70 ของแรงงาน จบการศึกษาภาคบังคับ และส่งเสริมให้แรงงานมีความรู้ความสามารถ และสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันพบแรงงานร้อยละ 60 มีการศึกษาต่ำ และแรงงานส่วนใหญ่ขาดทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน ขณะที่เป้าหมายผู้สูงวัยมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และสืบสานภูมิปัญญา สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพและพึ่งพาตนเองได้.


ที่มา:หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ Friday, 26 September, 2014 - 00:00



28/09/2557