เผยผลคัดเลือกศิลปินแห่งชาติประจำปี 2557

เมื่อเวลา14.00 น. วันนี้(19 ม.ค.) ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)จัดการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(กวช.)โดยมีวาระการพิจารณารายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2557 ซึ่งในการพิจารณาครั้งนี้ ได้มีการปรับเกณฑ์การพิจารณาจากเดิมที่คณะอนุกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติจะนำเสนอรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณาตามกระบวนการมาแล้ว เพื่อให้คณะกรรมการ กวช.พิจารณาเห็นชอบ แต่ในครั้งนี้ได้มีการนำเสนอรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาในแต่ละสาขาเรียงตามลำดับ พร้อมแนบรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกสำรองมาให้ กวช.ร่วมพิจารณาด้วย โดยที่ประชุมได้ใช้เวลาในการพิจารณานานกว่า 3 ชั่วโมง

นายวีระโรจน์ พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม แถลงภายหลังการประชุม กวช. ว่า กวช.ได้พิจารณารายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติประจำปี 2557 โดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์ผลงาน ตลอดจน ความเหมาะสมทุกประการ โดยมีผู้สมควรที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ 3 สาขา จำนวน 12 คน ดังนี้ 1.สาขาทัศนศิลป์ มีการเสนอรายชื่อ 94 คนผ่านการเห็นชอบ 5คน ได้แก่ นายชวลิต เสริมปรุงสุข(จิตรกรรม) นายนิจ หิญชีระนันทน์ (การออกแบบผังเมือง) นายปัญญา วิจินธนสาร (จิตรกรรม) นายจรูญ อังศวานนท์ (สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์)และ นายบุญช่วย หิรัญวิทย์ (ประณีตศิลป์) 2. สาขาวรรณศิลป์ มีการเสนอรายชื่อ 90 คน ผ่านการเห็นชอบ 1 คนได้แก่ นางชมัยภร บางคมบาง(แสงกระจ่าง)สาขานี้คัดเลือกจาก 90 คนและ 3.สาขาศิลปะการแสดง มีการเสนอรายชื่อ 129 คน ผ่านการเห็นชอบ 6 คนได้แก่ นายสะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์(โทรทัศน์และภาพยนตร์)นางดุษฎี บุญทัศนกุล (ดนตรีสากล) นายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ (ดนตรีไทย) นางภัทราวดี มีชูธน (ละครเวทีและภาพยนตร์) นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา (ดนตรีไทยลูกทุ่ง-ประพันธ์เพลง)และ นายณรงค์ จันทร์พุ่ม (หนังตะลุง)

รมว.วัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ศิลปินแห่งชาติ ทั้ง 12คน จะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันศิลปินแห่งชาติวันที่ 24 ก.พ.นี้ พร้อมทั้งจะมีงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่ศิลปินแห่งชาติ และการจัดกิจกรรมการแสดงและนิทรรศการศิลปินแห่งชาติที่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยด้วย ทั้งนี้การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติดำเนินการมา ตั้งแต่ ปี 2528 ถึง 2556 รวมมีศิลปินแห่งชาติจำนวน 246 คน เสียชีวิตไปแล้ว 110 คน และ มีชีวิตอยู่ 136 คน

นายปัญญา กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติรางวัลนี้ ถือเป็นเกียรติยศขั้นสูงของชีวิตการทำงานศิลปะ ตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้ตนมุ่งหวังสร้างประโยชน์แก่สังคม และพร้อมที่จะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการช่วยทำประโยชน์ให้วงการศิลปะให้ขยายในวงกว้างให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวงการศิลปะในประเทศไทยยังมีน้อย จึงอยากเสนอให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม วธ. ช่วยผลักดันส่งเสริมให้หลักสูตรวิชาศิลปะเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษามากขึ้น รวมทั้งขอให้มีการส่งเสริมการจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้จากศิลปินแห่งชาติ และผู้มีความรู้ด้านศิลปะสู่เยาวชน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและเห็นคุณค่าของงานศิลปะนำไปสู่การพัฒนาสังคม

นายสะอาด กล่าวว่า ตนทำงานในวงการโทรทัศน์ไทยมากว่า 60 ปีในฐานะนักแสดง ผู้เขียนบทโทรทัศน์ ผู้กำกับการแสดง ดีใจที่มีผู้เห็นคุณค่า เพราะทำงานด้วยความตั้งใจมาตลอด ในฐานะศิลปินแห่งชาติคนใหม่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เป็นวิทยาทาน เพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน ทั้งนี้ตนมีแนวคิดจะจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านศิลปะการแสดงเทคนิคการเขียนบทโทรทัศน์ ขอฝากให้คนในวงการโทรทัศน์ดำรงเจตจำนงที่ดีนำเสนอรายการต่าง ๆ ด้วยความรับผิดชอบมีสาระ ไม่ใช่หวังแต่เรตติ้ง ซึ่งปัจจุบันมีแต่รายการบันเทิงละครน้ำเน่า และให้ความสำคัญกับเด็กเยาวชนน้อยมาก

นางชมัยภร กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ โดยที่ผ่านมาตนตั้งใจนำเสนอผลงานเขียนที่ให้แง่คิดเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับเด็กเยาวชน และครอบครัวเชื่อว่า เมื่อได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ก็จะสามารถทำงานดังกล่าวและขยายไปสู่สาธารณชนได้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนั้นสิ่งที่ทำมาตลอดคือเขียนนิยายที่ช่วยแก้ปัญหาและทำความเข้าใจกับความคิด เพื่อเป็นแง่คิดและข้อเตือนใจให้แก่ผู้อ่าน สิ่งที่อยากฝากกับเด็กเยาวชน และคนทั่วไปคือการเขียนทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น คนที่รักการเขียนไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นนักเขียนเสมอไป แต่อีกนัยหนึ่งเป็นการทำความเข้าใจให้รู้จักตัวเองและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ด้วยดี

นางดุษฏี กล่าวว่า รู้สึกขอบคุณบิดามารดาครูอาจารย์ มิตรสหายทุกคนขอบคุณลูกศิษย์ ขอบคุณคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู ทั้งหมดนี้เป็นกำลังใจผลักดันให้ตนทำงานศิลปะเพื่อรับใช้สังคม และส่วนรวมตนทำงานมาตลอดจนอายุใกล้จะ 80 ปี ยังไม่เคยหยุดนิ่งมีทั้งการสร้างสรรค์ศิลปะดนตรีเพื่อให้สามารถปักธงชาติไทยในเวทีการแสดงระดับโลก ซึ่งปีนี้ประสบความสำเร็จและได้รับมา 2 เหรียญทอง สอนลูกศิษย์มา 40กว่าปี จนสามารถพัฒนาผลงานมีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงได้มีโอกาสทำงานดนตรีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นความภาคภูมิใจได้ทำในสิ่งที่อยากทำ บิดามารดาของตนเองสอนมาตลอดว่า เราต้องรับใช้ชาติและราษฎรไทยอย่างซื่อสัตย์สุจริต ตนเป็นคนดนตรีก็จะใช้วิชาที่มีรับใช้ส่วนร่วมและจะทำไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

สำหรับประวัติศิลปินแห่งชาติประจำปี 2557สาขาทัศนศิลป์ประกอบด้วย 1.นายจรูญ อายุ 78ปี เป็นชาวกรุงเทพฯ จบปริญญาตรีศิลปะบัณฑิต จากคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาการออกแบบตกแต่งภายใน มหาวิทยาลัยศิลปากร(มศก.) โดยเป็นนักตกแต่งภายในชั้นนำของประเทศที่ได้รับสร้างสรรค์ผลงานเป็นอันดับต้นของไทย และเป็นบรมครูของวงการออกแบบตกแต่งภายในของประเทศ

2.นายชวลิต อายุ 75 ปี เป็นชาวจังหวัดขอนแก่น จบปริญญาตรีคณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มศก. เป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับคัดเลือกจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ โดยได้รับเงินเดือนในตำแหน่งศาสตราจารย์เพื่อเป็นศิลปินอิสระสร้างศิลปะตามที่ใจรัก

3.นายนิจ อายุ 90 ปี เป็นชาวกรุงเทพฯ จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการวางแผนภาค และผังเมืองจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา เข้ารับราชการสำนักผังเมืองกระทรวงมหาดไทย (มท.)ตำแหน่งสูงสุด คือ ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง ระหว่างปฏิบัติราชการได้สร้างผลงานที่ทรงคุณค่าหลายชิ้นอาทิ เป็นผู้ค้นพบเมืองโบราณ“จันเสน” เมืองโบราณสมัยทวารวดีในจังหวัดนครสวรรค์ เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ส่งเสริม แนะนำโครงการจนเกิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์อุทยาน และโครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

4.นายบุญช่วย อายุ 81 ปี เป็นชาวจังหวัดน่าน จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล 3 ปัจจุบัน คือ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคาร ได้ฝึกหัดทำเครื่องเงิน และสามารถคิดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง จนเป็นที่ยอมรับแพร่หลายในต่อ ๆ มา คือ ลายดอกกระถิน และยังได้พัฒนารูปแบบเครื่องเงินในอีกหลายรูปแบบ นอกจากนี้ยังเป็นครูถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนตลอดเวลาได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง

5.นายปัญญา อายุ 58 ปี เป็นชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จบการศึกษาปริญญาศิลปะบัณฑิต(ศิลปไทย) ที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มศก. เป็นศิลปินที่สร้างศิลปะในแนวศิลปะไทยร่วมสมัย มีผลงานโดดเด่นทำให้สามารถถวายงานรับใช้ในการเขียนภาพประกอบในหนังสือพระราชนิพนธ์พระมหาชนก ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และล่าสุดเป็นผู้ถวายงานรับใช้ในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ มหิดล ในโครงการพระราชดำริ คือ การบูรณะวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมในมศก.และมหาวิทยาลัยอื่นๆ

ส่วนสาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นางชมัยภร อายุ 64 ปี ชาวจังหวัดจันทบุรี จบปริญญาตรีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยรับราชการที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีผลงานเขียนบทกวี เรื่องสั้นและบทวิจารณ์ตั้งแต่เป็นนิสิต ต่อมาได้สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมอย่างจริงจัง จนเป็นนักเขียนอาชีพ ผลงานวรรณกรรมประเภทบันเทิงคดีและสารคดี ได้แก่ เรื่องสั้น นวนิยาย กวีนิพนธ์ ตลอดช่วงระยะเวลา 4 ทศวรรษ มีผลงานมากกว่า 80 เรื่องในจำนวนนี้ ได้รับรางวัลระดับชาติ 22 เรื่อง โดยหลายเรื่องถูกสร้างเป็นบทละครโทรทัศน์และวรรณกรรมเยาวชน ได้รับการประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาและหนังสืออ่านเพิ่มเติมสำหรับระดับมัธยมศึกษา สำหรับงานเขียนของนางชมัยภรจะนำเสนประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับครอบครัวและสังคม เช่น ปัญหาความไม่เข้าใจกันของวัยรุ่นกับพ่อแม่ ปัญหาความพิการทางร่างกายและจิตใจ ตลอดจนปัญหาบ้านเมือง เป็นต้นส่งผลให้งานเขียนของนางชมัยภรเป็นแรงบัลดาลใจให้กับนักเขียนรุ่นหลัง

สำหรับสาขาศิลปะการแสดงประกอบด้วย 1. นายณรงค์ อายุ 67 ปี ชาวจังหวัดตรัง จบการศึกษาวิชาเอกภูมิศาสตร์ วิชาโทประวัติศาสตร์ วิทยาลัยการศึกษาบางแสน(มหาวิทยาลัยบูรพา) เริ่มรับราชการที่ร.ร.ลาดปลาเค้าพิทยาคม ก่อนย้ายมมาจังหวัดตรัง เพื่อ สังกัด ร.ร.วิเชียรมาตุ และร.ร.กันตังรัษฎาศึกษา ตามลำดับ จึงลาออกจากราชการ นายณรงค์รักและชื่นชอบการแสดงหลังตะลุงตั้งแต่ยังเด็ก โดยขณะที่สอนอยู่ในร.ร.วิเชียรมาตุได้สอนรายวิชาหน้าที่พลเมือง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเล่นหลังตะลุงอย่างจริงจัง เมื่อออกจากราชการแล้วได้ตั้งคณะชื่อว่า\"คณะหนังอาจารย์ณรงค์ตะลุงบัณฑิต\" มีความโดดเด่นตรงการพัฒนาเทคนิคการแสดงตลอดเวลาทดลองสร้างตัวหนังตะลุงให้ทันสมัย โดยไม่เสียเอกลักษณ์ผนวกกับดนตรีสมัยใหม่ที่ผสมผสานกับของเดิมที่สำคัญ คือ มีบทเจรจาที่หลักแหลมคมคายสะท้อนความรู้สึกนึกคิดอย่างตรงไปตรงมา ขณะที่บทตลกก็ไม่หยาบคายแต่เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้อย่างครึกครื้นจนได้รับการยกย่องอย่างแพร่หลาย

2.นางดุษฎี อายุ 75 ปี เป็นชาวกรุงเทพฯ บิดาชื่อ นายปรีดี พนมยงค์ มารดา ชื่อท่านผู้หญิงพูลศุข สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท วิชาเอกขับร้อง วิชาโทเปียโน จากสถาบันดนตรีกลาง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และเรียนขับร้องเพิ่มเติมที่ราชวิทยาลัยดนตรีกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นนักร้องที่มีความสามารถสูงได้สร้างสรรค์ผลงานการขับร้อง เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนในประเทศและต่างประเทศมายาวนานถึง 50 ปี มีผลงานการประพันธ์หนังสือมากมาย โดยเฉพาะการแนะนำความรู้และแรงบันดาลใจจากการร้องเพลง ซึ่งภารกิจสำคัญ คือ ได้สร้างหลักสูตรการใช้ดนตรีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตภายใต้โครงการลมหายใจดนตรี เพื่อชีวิตรวมถึงอุทิศตนเพื่อเป็นวิทยากรอบรมความรู้ให้แก่ภาครัฐและเอกชนอย่างสม่ำเสมอ

3.นายพงษ์ศักดิ์ อายุ 78 ปี เป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอุบลวิทยากรอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นนักพากย์ภาพยนตร์เขียนบทละครวิทยุ สร้างภาพยนตร์กำกับภาพยนตร์ และเขียนบทภาพยนตร์ผลงานที่สร้างชื่อเสียงมากมาย เช่น เพลงมนต์รักลำน้ำพองกล่องข้าวน้อยฆ่าแม่มนตร์รักแม่น้ำมูล ลูกทุ่งเพลงสวรรค์

4.นางภัทราวดี อายุ 66 ปี จบมัธยมปลายจากโรงเรียนราชินีและโรงเรียน Micklefield ประเทศอังกฤษ เป็นศิลปินที่เปี่ยมไปด้วยพลังการสร้างสรรค์มีความเป็นครูผู้ให้ และสนใจเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา มีผลงานที่เผยแพร่แก่สาธารณชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก เช่น ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลพระราชทานตุ๊กตาทองรางวัลดารานำแสดงฝ่ายหญิง

5.นายสะอาด อายุ 82 ปี เป็นชาวกรุงเทพฯได้รับทุนไปศึกษาสาขาวิชาการภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยนิฮง กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จนจบการศึกษาระดับปริญญาโทเป็นพนักงานรุ่นบุกเบิกของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทยเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการโทรทัศน์มีหน้าที่ทำทุกอย่างตั้งแต่จัดรายการวิทยุกำกับเวที เขียนบท แปลภาพยนตร์ภาษาญี่ปุ่น แสดงละคร สอนเทคนิคการแสดงต่าง ๆ ให้แก่นักแสดงในยุคนั้น ได้รับรางวัลเกียรติยศของวงการบันเทิงจำนวนมาก เช่น รางวัลทีวีตุ๊กตาทองมหาชน รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ รางวัลโทรทัศน์ทองคำ เป็นต้น

6.นายสิริชัยชาญ อายุ 71ปี ชาวจังหวัดกทม.ได้รับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นสูงจากวิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากรมานุษยวิทยาดนตรี Esat-WestCenter มหาวิทยาลัยฮษวายสหรัฐอเมริกา ครุศาสตรบัณฑิต(ภาษาไทย)มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมครุศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารหารศึกษา)และครถศาสตรดุษฎีบัณฑิต(พัฒนาศึกษา) คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มเรียนขิมกับบิดาพอเข้าวิทยาลัยนาฏศิลปเริ่มเรียนพื้นฐานฆ้องวงใหญ่กับหลวงบำรุงจิตรเจริญ(ธูปสาตนวิลัย) พระประณีตวรศัพท์(เขียนวรวาทิน) และครูดนตรีไทยท่านอื่น ๆ ได้รับกาถ่ายทอดเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงถึงเพลงองค์พระพิราพ ตลอดจนได้รับการสืบทอดเป็นผู้ประกอบพิธีไหว้ครูดนตรีไทยจากนายมนตรีตาโมทย์ เริ่มรับราชการครูแผนก ร.ร.นาฏศิลปและเกษียณอายุราชการใสนตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปการ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ นายสิริชัยชาญถือเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานมาโดยตลอดทั้งการออกแบบ ซึงให้มี 3 ขนาดร่วมกับเจ้าสุนทรณ เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังรับใช้เบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2528จนถึงปัจจุบันโดยถวายการสอนระนาดเอก.


ที่มา:หนังสือพิมพ์เดลินวส์ วันจันทร์ 19 มกราคม 2558 เวลา 18:52 น.



20/01/2558