เร่งแก้กม.ปฏิรูปศึกษา คาดเสร็จเดือนมี.ค.

เร่งเดินหน้าแก้กฎหมาย แยก สกศ.กลับสำนักนายกฯ รวมทั้ง กม.อื่นๆ รองรับปฏิรูปการศึกษาคาดเสร็จเดือน มี.ค. ก่อนเสนอให้ สนช.พิจารณา \"พินิติ\" เผยเตรียมแผนพัฒนาการผลิตครูตามใบสั่ง ลดปัญหาครูล้นตลาด ไม่มีงานทำ
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่สภาการศึกษา (สกศ.) มีการจัดงานแถลงข่าวเรื่อง บทบาทของสภาการศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษา โดยนายพินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) กล่าวว่า เนื่องจากในขณะนี้อยู่ในช่วงของการปฏิรูปประเทศ ซึ่งในส่วนของ สกศ.มีความชัดเจนแล้วว่า ต่อไปจะต้องมีการปรับบทบาทหน้าที่การทำงาน ซึ่งไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่ต้องวางระบบการพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับการผลิตและการพัฒนากำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศ โดยใช้กลไกเรื่องงบประมาณมากำกับดูแล นโยบายด้านการศึกษา ให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบของคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากภาครัฐและภาคเอกชนประมาณ 20 คน ทั้งสภาหอการค้าฯ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ร่วมถึงผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา เป็นต้น
เลขาฯ สกศ.กล่าวอีกว่า ส่วนการแยกตัวของ สกศ.ออกจาก ศธ. ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นการปรับโครงสร้าง เพราะไม่ได้ตั้งเป็นกระทรวงใหม่ แต่เป็นเพียงการโอนกลับไปสู่โครงสร้างเดิมที่อยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี และขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี และมีบทบาทการทำงานในเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานเชิงวิจัยทางการศึกษา โดยจะต้องเร่งจัดทำข้อสรุปบทบาทหน้าที่ใหม่ของ สกศ. โดยเฉพาะกฎหมายต่างๆ ที่จะต้องแก้ไขเสนอคณะกรรมการอำนวยการฯ ให้แล้วเร็วเสร็จภายในมีนาคม เพื่อเข้าสู่กระบวนทางทางนิติบัญญัติซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาอีกประมาณ 4-5 เดือน
นอกจากนี้ทาง ศธ.เองก็ได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาภายใต้กรอบของ ศธ. และการปฏิรูปการศึกษานั้น จะต้องดำเนินการในหลายด้าน จึงได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการรับรองการดำเนินการทั้งหมด 6 ด้าน เช่น คณะอนุกรรมการการปฏิรูประบบผลิตและพัฒนาครู, คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ในทุกคณะอนุกรรมการจะมีผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ทางด้านการศึกษามาอย่างแท้จริง และเมื่อได้ข้อสรุปในแต่ละคณะอนุกรรมการฯ แล้ว ก็จะมีการเสนอต่อมายังคณะอำนวยการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. น่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้
นายพินิติกล่าวต่อว่า ในฐานะที่ตนเป็นประธานของคณะอนุกรรมการการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู คณะอนุฯ ดังกล่าวจะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนของการผลิตและส่วนของการพัฒนา โดยด้านการผลิตจะมีการศึกษาข้อมูลโครงการต่างๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาการผลิตครู เช่น โครงการครูพันธุ์ใหม่ โครงการคุรุทายาท เป็นต้น เพื่อจะทำบทสรุปทิศทางการดำเนินการผลิตครู และในส่วนของการพัฒนาครูจะมีการเปลี่ยนกลไกให้สถาบันที่มีการผลิตครูจำนวน 70 กว่าสถาบัน ต้องมีความรับผิดชอบต่อผลผลิต มีการติดตามและช่วยเหลือในกรณีต่างๆ เช่น จบแล้วไม่มีตำแหน่งรองรับ เป็นต้น
นอกจากนี้ จะมีการสร้างเครือข่ายของสถาบันที่มีการผลิตครูกับพื้นที่ เพื่อที่จะรองรับไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาคุณภาพครูและการเรียนการสอนต่างๆ ของในพื้นที่ ก็สามารถให้เครือข่ายดังกล่าวเข้าไปแก้ปัญหาได้ทันที ขณะเดียวกัน ต่อไปสถาบันที่มีการผลิตจะต้องลดจำนวนรับนักศึกษาลง โดยจะให้รับตามกรอบที่ ศธ.กำหนด เพื่อแก้ปัญหาผลิตบัณฑิตเกินความต้องการ โดย ศธ.จำต้องกำหนดกรอบอัตรากำลังที่ชัดเจน รับประกันว่าเมื่อจบแล้วมีงานทำแน่นอน โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้หลังจากนี้อีก 5 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กที่เรียนในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ปัจจุบันที่มีประมาณ 2.4 แสนคน มีโอกาสสอบเป็นครูได้ตามระบบก่อน.

ที่มา:หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ Friday, 13 February, 2015 - 00:00



13/02/2558