โครงการ ดิจิตอล ฟอร์ เอ็ดดูเคชั่น

การเรียนการสอนในปัจจุบัน ถูกออกแบบมานานกว่า 150 ปีเป็นรูปแบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพมากในอดีต แต่ในปัจจุบันเราก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ เทคโนโลยีคือสิ่งที่ช่วยในการเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และสะดวกสบายมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่

และยูทูบ (Youtube) ก็คือสื่อการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ซึ่งกูเกิล (Google) ได้เห็นถึงความสำคัญ จึงได้มีการจัดงาน เวิร์กช็อป ดิจิตอล ฟอร์ เอ็ดดูเคชั่น (Digital for Education) ขึ้น เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดจากครูระดับแนวหน้าของการศึกษาในประเทศไทย และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ที่มีประสบการณ์ในการนำสื่ออย่างยูทูบ มาเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน

นายอริยะ พนมยงค์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ ประจำ กูเกิล ประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการ ดิจิตอล ฟอร์ เอ็ดดูเคชั่น อยู่ภายใต้กรอบแนวคิดของเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) โดยจุดมุ่งหมายหรือความฝันที่ตั้งไว้ ว่าจะทำยังไงให้เด็กนักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และฟรี ซึ่งอินเทอร์เน็ตคือเครื่องมือที่ทำให้สิ่งเหล่านั้นเป็นจริง และยังสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้

ทำให้ “ยูทูบ” ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาสนับสนุนการสร้างคลังความรู้ในรูปแบบวิดีโอ และการเริ่มต้นทำสิ่งต่าง ๆ การที่เครื่องมือไปอยู่ในมือของคนที่มีความสร้างสรรค์ เขาพร้อมที่จะสร้างนวัตกรรม และผลักดันสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นได้ อย่างเช่น ช่องออมสกูล (Ormschool) และช่องช็อคชิพ (Choc Chip) คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ที่ใช้สื่ออย่างยูทูบ ในการสร้างสรรค์ให้เกิดแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ

นายนิติการณ์ ประกอบธรรม ผู้ก่อตั้ง ออมสกูล กล่าวว่า ท่ามกลางอุปสรรคและการเข้าถึงการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน เราได้ทุ่มเทต่อสู้เพื่อทลายกำแพงด้านการศึกษา โดยการแบ่งปันวิดีโอความรู้ผ่านยูทูบ ความท้าทายของการศึกษาในประเทศไทยคือ ต้องการให้คนเรียนเพื่อความรู้ ความรู้มีมากกว่าหลักสูตร เพราะฉะนั้นเมื่อกลับมาที่บ้าน หรืออยู่นอกห้องเรียน ก็สามารถเรียนเพิ่มเติมได้ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งออมสกูล

“สิ่งที่เราภูมิใจคือ การที่มีเด็กนักเรียนอย่างน้อย 6 คน ที่ติดตามชมเนื้อหาในช่องยูทูบ ของเราสามารถสอบความถนัดทั่วไประดับประเทศ (GAT) ทำคะแนนเต็ม 150 คะแนน จากความรู้ที่เราให้ไป ถ้าเทียบกับความมุ่งมั่นของตัวเด็กแล้วมันน้อยมาก แต่เราเชื่อว่าความรู้ดี ๆ ที่เราส่งไป ได้ส่งผลดีต่อตัวเด็ก โดยตอนนี้เรามีวิดีโอความรู้ถึง 1 หมื่นคลิปแล้ว เราก็มุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์วิดีโอเพื่อการศึกษาให้ถึง 1 แสนคลิป”

ด้าน นางวรินทร์เนตร เติมศิริกมล ผู้ร่วมก่อตั้งช่องช็อคชิพ เล่าว่า เป็นคุณแม่ มีลูกวัย 5 ขวบอยากให้ลูกได้ดูในสิ่งที่จรรโลงใจ สร้าง สรรค์ และเสริมสร้างจินตนาการ พร้อมกับการเรียนรู้ไปด้วย จึงสร้างช่องช็อคชิพ บนยูทูบ ขึ้น เพื่อให้ผู้ชมทั่วประเทศได้มีช่องทางใหม่ในการรับชมเนื้อหาด้านการศึกษา ความบันเทิง ได้จากทุกที่ และทุกเวลาที่ต้องการ โดยได้สร้างสรรค์ ใส่จินตนาการ มอบเนื้อหาคุณภาพสูงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชน ให้คิดต่าง เสริมสร้างพัฒนาการในการพัฒนาชีวิต และเติบโตไปพร้อมกับไอเดียสร้างสรรค์ในแบบของตัวเอง ซึ่งทีมงานหวังว่าช่องช็อคชิพ จะเป็นช่องยูทูบ ที่เด็กไทยใช้เพื่อทบทวนและต่อยอดการเรียนรู้

นอกจาก คอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่นำสื่อ ยูทูบ มาเป็นเครื่องมือในการศึกษาแล้ว ดร.อภิเทพ แซ่โค้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการและคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด (ประเทศไทย) บอกว่า มหาวิทยาลัยก็ได้ยูทูบมาปรับใช้ให้เข้ากับการเรียนการสอนในห้องเรียน เนื่องจากมีความเชื่อว่าเทคโนโลยีออนไลน์สามารถช่วยเพิ่มพูนศักยภาพด้านการศึกษา จุดประกายให้เยาวชนได้เข้าถึงองค์ความรู้ที่กว้างไกล และรวดเร็ว สามารถถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบที่แตกต่างจากการเรียนแบบปกติในห้องเรียน จะเป็นเสมือนแหล่งรวมวิดีโอให้ความรู้เชิงลึกภายนอกห้องเรียน หรือจะเรียกได้ว่าเป็นห้องเรียนแห่งใหม่ให้แก่เยาวชนก็ได้

นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างจากคนกลุ่มนึงที่ใช้ช่องทางอย่างยูทูบ ในการสร้างสรรค์ และเกิดประโยชน์ ทลายกำแพงแห่งการเรียนรู้ เปลี่ยนรูปแบบของการพัฒนาความรู้ ทำให้ “การเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นจากในห้อง เรียนอีกต่อไป”.

ศรัณย์ บุญทา


ที่มา:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคาร 10 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 05:59 น.



10/02/2558