ประวัติ

เดิมทีโรงเรียนตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล มีนายมู่สอด เบ็ญยูนุส
เป็นโต๊ะครู ซึ่งมีชาวบ้านให้การสนับสนุน เปิดทำการสอนในยามค่ำคืน เริ่มตั้งแต่เวลา ๑๙.๐๐ – ๒๓.๐๐ น.
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ เปิดทำการสอนอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านและหลักการทางศาสนาอิสลาม อุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอน หนังสืออัล-กุรอ่าน หนังสือเรียน หลักการศาสนาอิสลาม โดยวิธีการสอนแบบอ่านตามตำรา ท่องจำ บรรยายอัลกุรอ่าน เวลาสอนให้นักเรียนอ่านตาม และบรรยายออกเสียงตัวอักษรและอักขระ
สถานที่เรียน อาศัยบ้านโต๊ะครูเป็นสถานที่เรียน การรับนักเรียน รับสมัครนักเรียนไม่จำกัดจำนวน อายุ และเพศ ส่วนใหญ่นักเรียนมีอายุประมาณ ๘ – ๑๘ ปี การจำหน่ายนักเรียน อ่านอัลกุรอ่านจบเล่ม, ลาออก, ตาย
ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ผู้ปกครองได้มองเห็นความสำคัญ จากผลการเรียนของนักเรียน จึงร่วมกันปรึกษาหารือเพื่อจัดสร้างสถานศึกษา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ให้ดำเนินการก่อสร้างอาคาร ๑ หลัง ขนาดกว้าง ๔๐ ตาราง เมตรเป็นอาคารกึ่งถาวร ใช้งบประมาณ ๙,๐๐๐ บาท โดยชาวบ้านช่วยกันบริจาคทรัพย์สิน อาคารนี้เรียกตามประสาชาวบ้านว่า “บันนาซ๊ะ” สร้างแอบชิดบ้านโต๊ะครูเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของโต๊ะครู และเป็นสถานศึกษาควบคู่กันไป ขณะนั้นมีนักเรียนประมาณ ๒๐ คน ทั้งชายและหญิง การเรียนการสอนดำเนินไปตามศักยภาพ และในคืนวันพฤหัสบดี ทุกสัปดาห์ จะมีการรวมตัวของผู้ปกครองเป็นกรณีพิเศษพร้อมเตรียมอาหารคาวหวานจัดเลี้ยงกันและรับฟังการบรรยายธรรมจากโต๊ะครู หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เชิญมา
ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ โต๊ะครูได้จดทะเบียนเป็น “ปอเนาะ” เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายและดำเนินการสอนต่อไป โดยใช้ชื่อปอเนาะดังกล่าวว่า “ปอเนาะตัรกี้ยะตุลอุมมะห์” ซึ่งมีความหมายเป็นภาษาไทยว่า “ การยกระดับประชาชาติ ” ได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙
ปี พ.ศ.๒๕๑๑ จากปอเนาะได้แปรสภาพเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามโดยนายมู่สอด เบ็ญยูนุส เป็นผู้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อจัดการเรียนการสอนให้เข้าสู่ระบบ และได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลพร้อมข้าราชการครูช่วยสอน
ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ นายมู่สอด เบ็ญยูนุส ได้เจรจาทำการตกลงกับนายหมาน มาราสา ซึ่งเคยดำรง ตำเหน่งครูใหญ่โรงเรียนดารุลมาอาเรฟ และตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนแสงธรรม เพื่อขอย้ายสถานที่ตั้งจากตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง มาตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล ตามใบอนุญาตเลขที่ ๑/๒๕๑๙ ลงวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๑๙ และนายหมาน มาราสา ได้ทำหน้าที่แทนผู้รับใบอนุญาต
ปีพ. ศ. ๒๕๑๙ นายหมาน มาราสา ได้รับอนุญาตให้เป็นครูสอนศาสนา และทำหน้าที่แทนผู้รับใบอนุาต ผู้จัดการ ครูใหญ่ ต่อมานายมู่สอด เบ็ญยูนุส ได้ขออนุญาตถอดถอนตัวเองจากตำแหน่งผู้จัดการโดยขออนุญาตให้นายหลี มาราสา ดำรงตำแหน่งแทน ตามใบอนุญาตเลขที่ ๑๖/๒๕๒๒ ลงวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒
ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ โรงเรียนได้เปลี่ยนแปลงสภาพจาก ๑๕(๒) เป็นโรงเรียนเอกชนเอกชน ตามมาตรา ๑๕(๑) และพร้อมกันนั้นได้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหลักสูตรจากหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นหลักสูตร อิสลามศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ปี พ.ศ.๒๕๓๕ ตามใบอนุญาตเลขที่ สต ๒๑/๒๕๓๖ ลงวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๖
ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ นายมู่สอด เบ็ญยูนุส ได้ขออนุญาตเปลี่ยนครูใหญ่โดยขอถอดถอนตัวเองและขออนุญาตให้นายตายุดดีน มาราสา ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ตามใบอนุญาตเลขที่ สต ๔/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๑๑เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๑
ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ นายมู่สอด เบ็ญยูนุส ผู้รับใบอนุญาต ได้เจรจาทำความตกลงกับนายหมาน มาราสา ผู้ซึ่งทำการแทนผู้รับใบอนุญาต และนายตายุดดีน มาราสา ครูใหญ่ เพื่อขอโอนกิจการของโรงเรียนทั้งหมด เนื่องจากชราภาพไม่สามารถบริหารและพัฒนาโรงเรียนให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ จึงขออนุญาตโอนกิจการทั้งหมดให้กับนายตายุดดีน มาราสา เพื่อเป็นผู้บริหารกิจการของโรงเรียนต่อไป ตามใบอนุญาตเลขที่ สต ๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๕ เป็นต้นไป
สภาพโดยทั่วไปของโรงเรียนตัรกี้ยะตุลอุมมะห์ ตามภาษาของท้องถิ่นมีเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ปอเนาะท่าน้ำเค็ม” ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ บ้านท่าน้ำเค็มใต้ ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล บนเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ๒ งาน ติดถนนสายฉลุง – ละงู กิโลเมตรที่ ๑๑ จากตำบลฉลุง และตั้งอยู่ตรงข้ามสนามกีฬากลางอำเภอท่าแพ มีอาคารเรียนจำนวน ๔ หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกถาวร ๓ หลัง เป็นอาคารไม้ยกพื้น ๑ หลังและอาคารประกอบ ๑ หลัง ที่พักนักเรียนประจำจำนวน ๖๐ หลัง (เป็นกระท่อม)
ปัจจุบันเปิดทำการเรียนการสอนในวันจันทร์ถึงศุกร์และหยุดเรียนวันเสาร์และอาทิตย์

วิสัยทัศน์

โรงเรียนตัรกี้ยะตุลอุมมะห์ มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม ปฏิบัติตามหลักคำสอนศาสนาอิสลาม มีจิตสำนึกในความเป็นไทย มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข บุคลากรได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น เทคโนโลยีที่เหมาะสม ช่วยในการจัดการเรียนการสอนตลอดจนสามารถให้บริการแก่ชุมชนได้อย่างเต็มที่

คำขวัญ

"สะอาด มารยาทดี มีความรู้"

พันธกิจ

๑.ปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความรู้ มีคุณธรรมจริยธรรม ตามหลักคำสอนของศาสนา และมีจิตสำนึกในความเป็นไทย
๒.ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียนอย่างต่อเนื่อง
๓.จัดกิจกรรมส่งเสริมให้ผู้เรียนมีสุขภาพอนามัยที่ดี
๔.ส่งเสริมพัฒนา บุคลากรให้มีศักยภาพในการจัดการเรียนการสอน
๕.บุคลากรและผู้เรียนสามารถนำภูมิปัญญาท้องถิ่น และภูมิปัญญาไทยมาใช้ในชีวิตประจำวัน
๖.ส่งเสริมให้ชุมชน ผู้ปกครอง มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

เป้าหมาย

๑.ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ท้องถิ่น และการเปลี่ยนแปลงของสังคม
๒.จัดการเรียนการสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
๓.ผู้เรียนทุกคนเป็นผู้มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบและคุณลักษณะอันพึงประสงค์
๔.ผู้เรียนทุกคนตระหนักเห็นคุณค่าและภูมิใจในความเป็นไทย
๕.ผู้เรียนมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ แข็งแรง ทั้งร่างกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์และสังคม
๖.ผู้เรียนมีจิตสำนึกที่ดีในคุณธรรม จริยธรรมตามหลักคำสอนของศาสนา
๗.ผู้เรียนสามารถนำภูมิปัญญาท้องถิ่น และภูมิปัญญาไทยมาใช้ในชีวิตประจำวันและดำเนินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
๘.ผู้เรียนสามารถปฏิบัติตน และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข
๙.บุคลากรและผู้เรียนนำนวัตกรรมมาช่วยในการจัดการเรียนการสอน

อักษรย่อ

ต.อ.