ประวัติ

โรงเรียนบ้านแม่พลู ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 บ้านแม่พลู ตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ตั้งขึ้นโดยความเห็นชอบจากสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอท่าสองและคณะครูโรงเรียนบ้านหนองบัว ชาวบ้านหนองบัว – แม่พลู ร่วมกันก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว ขึ้นในเดือนเมษายน 2526 โดยใช้งบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2526 นายสุรพล โมราถม ปลัดอำเภอท่าสองยาง ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด จัดการเรียนการสอนจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรประถมศึกษาพุทธศักราช 2521 ทำการสอนตั้งแต่ ่ชั้นเด็กเล็กถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 นักเรียนแรกเปิดจำนวน 23 คน เป็นชาย 11 คนหญิง 12 คน มีนายสมหมาย ศรีเมฆ ครู 1 โรงเรียนบ้านหนองบัวมาทำการสอนเป็นคนแรก

ในปีงบประมาณ 2528 ได้รับจัดสรรอาคารเรียนแบบ สปช. 105/2526 จำนวน 1 หลัง 4 ห้องเรียน (ปัจจุบันชำรุดต้องทุบทิ้ง) พร้อมถังน้ำซีเมนต์ แบบ ฝ. 30 (พิเศษ) 1 ชุด จำนวน 4 ถัง (น้ำรั่วขังน้ำไม่ได้ ต้องทุบทิ้ง) ส้วม แบบ สปช. 601/26 จำนวน 1 หลัง 3 ที่นั่ง (ปัจจุบันใช้การไม่ได้ รอการจำหน่ายและทุบทิ้ง) และได้แยกตัวออกเป็นโรงเรียนเอกเทศเมื่อปีการศึกษา 2540

ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 นายธงชัย สุขประชาพันธ์ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ จนถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2541 และนายภิญโญ อุโคตร อาจารย์ 1 ระดับ 4 รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ จนถึงวันที่ 29 กันยายน 2542 นายนราวิชญ ์ บวรบุญฤทธิ์ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทนครูใหญ่คนเดิม ที่ย้ายไป และในปี 2545 ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่ที่โรงเรียนอื่น นางวนิดา เจริญศิลป์ อาจารย์ 1 ระดับ 3 รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่

ในปีงบประมาณ 2544 ได้จัดตั้งห้องเรียนสาขาในเขตบริการขึ้น 1 แห่ง คือ ห้องเรียนสาขาบ้านมอทีทะ ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียน บ้านแม่พลู ประมาณ 55 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางด้วยเท้าประมาณ 6 ชั่วโมง จากโรงเรียนตำรวจตระเวน ชายแดนเทคนิคอาสา ซึ่งเป็นหมู่บ้านสุดท้ายที่รถยนต์เข้าถึง ในฤดูแล้งสามารถเดินทางด้วยรถยนต์โดยไปตาม เส้นทาง บ้านแม่ระเมิง ผ่านบ้านต่อปล้าคี บ้านยะแปทะ บ้านวะแบลลู่ บ้านตะพิเดอ บ้านดอกไม้สด ไปถึงบ้านมอทีทะ ระยะทาง 93 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากอำเภอท่าสองยางถึงบ้านมอทีทะ ประมาณ 6 ชั่วโมง แรกเปิด มีนักเรียน 60 คน ทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 นักเรียนทุกคนเป็น ชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ปัจจุบันมีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยรับเด็กจากหมู่บ้านใกล้เคียง เช่น บ้านมิญ่อโจ บ้านมอแคลอะคี บ้านซินะดูลู่ บ้านขะเนจือคี เข้ามาเรียนด้วย โดยในระยะเริ่มแรกได้ให้พักนอนที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน บ้าน อบต. และ บ้านกรรมการสถานศึกษา เพราะยัง ไม่มีเรือนพักนอน มีนักเรียนพักนอนประมาณ 19 คน และในปีการศึกษา 2548 ทางโรงเรียนได้รับการสนับสนุน เรือนพักนอนจากองค์การคอนซอร์เทียม ประเทศไทย สร้างในบริเวณโรงเรียน และจะมีนักเรียนพักนอนประมาณ 50 คน มีครูอัตราจ้าง 1 คน ครูพี่เลี้ยงเด็กขององค์การบริหารส่วนตำบลสนับสนุน 2 คน ครูพี่เลี้ยงเด็กของ องค์การท็อปสนับสนุน 1 คน รวม 4 คน

ในปีงบประมาณ 2545 ได้รับจัดสรรงบประมาณ 45,450 บาท (สี่หมื่นห้าพันสี่ร้อยห้าสิบบาทถ้วน) สร้างส้วม แบบ สปช. 106/29 จำนวน 1 หลัง 2 ที่นั่ง เมื่อเดือนมีนาคม 2545

วันที่ 5 กันยายน 2545 นางตวงรัตน์ นิ่มแสง ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนแม่สอด มารักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ และในวันที่ 8 ตุลาคม 2545 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่

ปีงบประมาณ 2546 ได้รับจัดสรรงบประมาณ 1,741,000 บาท (หนึ่งล้านเจ็ดแสนสี่หมื่นหนึ่งพันบาทถ้วน) ก่อสร้างอาคารเรียนถาวร แบบ สปช. 105/29 ขนาด 4 ห้องเรียน จำนวน 1 หลัง แทนอาคารหลังเดิมที่ทุบทิ้ง และได้จัดสร้างเสร็จ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2546

วันที่ 30 มิถุนายน 2549 นายสมศักดิ์ เลิศรัตนพันธุ์ ครู คศ.3 ชำนาญการพิเศษ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงเรียนสรรพวิทยาคม ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน จนถึงปัจจุบันนี้

ปัจจุบันโรงเรียนบ้านแม่พลู มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 7 ไร่ พื้นที่เป็นภูเขาสูงชันมาก เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีข้าราชการครูปฏิบัติ การสอนรวม 6 คน พนักงานราชการ 2 คน ครูพี่เลี้ยง 1 คน มีนักเรียน รวม 346 คน

วิสัยทัศน์

ภายในทศวรรษนี้โรงเรียนบ้านแม่พลู ต้องเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนมคุณภาพชีวิตและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้วยการปฏิรูป

คำขวัญ

วิสัยทัศน์กว้างไกล ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมนำความรู้ ก้าวสู่งานอาชีพ

พันธกิจ

1.พัฒนาบุคลากรให้เป็นครูมืออาชีพ
2.จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาการด้านภาษาไทย ด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน
3.จัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อชุมชน
4.ปลูกฝังคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้เกิดแก่ผู้เรียนทุกคน
5.ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะวิชาชีพ และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มี และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
6.จัดกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนมีสุขภาพดีทั้งทางร่างกาย จิตใจและห่างไกลยาเสพติด
7.ส่งเสริมให้ชุมชนและหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
8.สนับสนุนนโยบาย 4 ประกัน คือ ประกันโอกาสทางการศึกษา ประกันคุณภาพการศึกษา ประกันประสิทธิภาพการศึกษา และประกันความปลอดภัย

เป้าหมาย

เพื่อจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับประชากรวัยเรียนอย่างทั่วถึง ครอบคลุม
1.เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามเกณฑ์และคุณลักษณะที่พึงประสงค์
2.เพื่อพัฒนาครูให้มีประสิทธิภาพสู่มืออาชีพ
3.เพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยการมี ส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ปรัชญา

ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน