ประวัติ

โรงเรียนวัดบางขันแตก(บำเพ็ญอยู่รังสฤษดิ์) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสงคราม ตั้งอยู่ในบริเวณวัดบางขันแตก หมู่ที่ 1 ต. บางขันแตก อ. เมืองสมุทรสงคราม จ. สมุทรสงคราม มีเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 68 ตารางวา
เปิดสอนครั้งแรก วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2465 มีครู 3 คน นักเรียน 52 คน มีนายหนุน เนตรสว่างเป็นครูใหญ่ นายป่วน กล้ายประยงค์ , พระพร้อม สุนทร เป็นครูประจำชั้น เปิดสอนครั้งแรก 3 ชั้น คือเตรียมประถม , ประถมปีที่ 1 , ประถมปีที่ 2 พระองค์แรกที่ผู้อุปการะแรกโรงเรียนคือ พระปลัดบุญรอด (อักษรทรัพย์) ต่อมารับสมณศักดิ์ที่พระครูสุตาภิรัติ เจ้าอาวาสวัดบางขันแตก ได้อาศัยศาลามหรสพเป็นที่เรียนร่วมกับศาลาพักของวัด
ต่อมาในปี พ.ศ. 2479 นายเพิ่ม บำเพ็ญอยู่ คหบดี ชาวบางขันแตก (ครูใหญ่คนแรกของ ร.ร. ศรัทธาสมุทร) ได้สร้างอาคารเรียนแบบปั้นหยา แบบ 2 ชั้นมีมุขกลาง กว้าง 8 เมตร ยาว 18 เมตร แบ่งเป็นห้องเรียนขนาดเล็ก 6 X 6 ตารางเมตร พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจากประชาชนร่วมจัดสร้างอุปกรณ์การศึกษา มี โต๊ะเรียน ม้านั่ง กระดานดำ นาฬิกา ปรากฏในสมุดเยี่ยมของโรงเรียน เป็นเงิน 4043 บาท 16 สตางค์ มีนายหลาบ กาญจนเสถียร ดำรงตำแหน่งครูใหญ่คนที่ 3 พระบำรุงบุรีราช ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เปิดและรับมอบ
พ.ศ. 2503 พระครูสมุทรวรคุณ เจ้าอาวาสวัดบางขันแตก เป็นผู้อำนวยการสร้างอาคารเรียนหลังที่ 2 (เรือนวรคุณ) เป็นอาคารเรียนแบบ 004 ดัดแปลง (ชั้นเดียว) ขนาดกว้าง 8 X 33 เมตร (ห้องเรียนมาตรฐาน 9 X 6 เมตร) 4 ห้องเรียนสิ้นค่าก่อสร้าง 111,853 บาท 90 สตางค์ โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชน 51,853 บาท 90 สตางค์ จากงบสภาตำบลบางขันแตก 20,000 บาท จากงบสภาจังหวัด 40,000 บาท นายประสิทธิ์ อุไรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมัยนั้น เป็นประธานพิธีเปิดอาคารเรียน
พ.ศ. 2504 ได้รับอนุมัติให้เปิดสอน ถึงชั้นประถมตอนปลาย มีนักเรียนสมัครเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ 5 ครั้งแรก ชายหญิง 42 คน ในปีเริ่มต้นนี้ยังไม่ได้รับอัตรากำลังครูเพิ่ม และวัสดุครุภัณฑ์ ก็ยังไม่มีให้ ทางโรงเรียนดำเนินการจัดหามาเองทั้งสิ้น นายสง่า กล้ายประยงค์เป็นครูใหญ่
พ.ศ. 2506 เข้าโครงการทดสอบ ขยายการศึกษาภาคบังคับจังหวัดสมุทรสงคราม ในปีเริ่มบังคับนี้ โรงเรียนเปิดสอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 แล้ว ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียนแบบ 022 (ชั้นเดียว) ครึ่งหลัง 4 ห้อง พร้อมวัสดุครุภัณฑ์ โต๊ะเรียน กระดานดำครบ ห้องละ 35 ชุด
ห้องวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ประกอบทั้งชุด โรงฝึกงานชาย 1 หน่วย กว้าง 7 เมตร ยาว 17.50 เมตร เครื่องมือช่างไม้ , เกษตร , การเรือน พร้อมด้วยจักร 8 คัน
พ.ศ. 2507 ได้รับงบประมาณเพิ่มเติม จากกรมสามัญศึกษา ต่อเติมอาคาร 022 อีก 2 ห้องเรียน เป็นเงิน 84,000 บาท ได้วัสดุครุภัณฑ์ประจำห้องเรียนครบ (โต๊ะ มานั่ง 70 ชุด)
พ.ศ. 2508 ได้รับงบประมาณต่อเติมอาคาร 022 ด้านขวางอีก 2 ห้องเรียน(เต็มตามรูปแบบ) เป็นเงิน 80,000 บาท แต่มิได้มีผู้ประมูลรับเหมา วัดผู้อุปการะโรงเรียนจึงเข้ารับมือต่อเติมโดยรับมาดำเนินการเอง จากนั้นเจ้าอาวาสได้ขอความร่วมมือจากประชาชน ซ่อมแซมศาลาท่าน้ำกับโรงอาหารขนาด 3 X 8 เมตร เทพื้นคอนกรีตทาสี เป็นเงิน 10,000 บาท ได้รับเงินจาก น.ส. พันธ์ ผลฟัก ทายาทผู้สร้างเดิม ทำท่าน้ำขึ้นลงด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก 5,000 บาท จากนางทรัพย์ สุขอุดม เจ้าของเท้งท่าน้ำเดิม
พ.ศ. 2509 ได้รับงบประมาณแผ่นดิน สร้างอาคารแบบ 015 จำนวน 6 ห้องเรียน เป็นเงิน 160,000 บาท (ไม่มีวัสดุครุภัณฑ์) ในที่ดินของวัดด้านหลัง ซึ่งขยายให้อีก 1 ไร่ ซึ่งเป็นสวนมะพร้าวผลประโยชน์ของวัด
พ.ศ. 2510-2512 โรงเรียนดำเนินการจัดสร้างประปาน้ำฝน โดยเจ้าอาวาสดำเนินการร่วมกับคณะครูจนสำเร็จ ได้รับงบประมาณจากกรมอนามัย 5,500 บาท นอกนั้นเป็นการร่วมมือจากประชาชนและเจ้าอาวาส ได้รับงบประมาณต่อเติมอาคาร 015 อีก 6 ห้องเรียน กับโรงฝึกงานหญิง 1 หน่วย เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 529,00 บาท
พ.ศ. 2513 เจ้าอาวาส และคณะครู รวมทั้งประชาชน ร่วมมือสร้างเขื่อนกันตลิ่งพังตั้งแต่แนวหน้าโรงเรียน ถึงสุดเขตวัดทั้งหมดเป็นระยะทาง 480 เมตร วางต่อเป็นราวคู่ตลอด สิ้นเงินงบประมาณ 150,00 บาท กับซ่อมแซมวัสดุครุภัณฑ์ เป็นเงิน 2,500 บาท
พ.ศ. 2514 ได้รับงบประมาณตามข้อบัญญัติ งบประมาณจังหวัด เป็นเงินเหลือจ่ายค่าก่อสร้าง 12,000 บาท สำหรับสร้างส้วม 5 ห้อง
พ.ศ. 2517 ได้รับงบประมาณต่อเติมอาคารเรียน 015 อีก 2 ห้องเรียน เพื่อปิดท้ายเป็นรูปออกมุข เป็นเงิน 95,00 บาท อนึ่งผลการประกวดโรงเรียนปี 2516 โรงเรียนนี้ได้รับรางวัลเป็นอันดับหนึ่งประเภทโรงเรียนใหญ่ มีโล่เป็นที่ระลึก กับประกาศนียบัตร ทั้งส่วนตัวครูใหญ่และโรงเรียน ครูใหญ่ได้รับรางวัลครูดีเด่นประจำจังหวัดจาก กรมการปกครอง
พ.ศ. 2518 ได้รับเงินงบประมาณสร้างบ้านพักครู 1 หลัง เป็นเงิน 45,000 บาท และโรงเรียนชนะการประกวดประเภทโรงเรียนใหญ่เป็นครั้งที่ 2
พ.ศ. 2523 องค์การบริหารส่วนจังหวัด อนุมัติให้รื้ออาคารเรียนหลังแรก “ อาคารบำเพ็ญอยู่รังสฤษฏ์ ” เนื่องจากสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2479 เสาปูนผุเกือบทั้งหมดไม่อยู่ในสภาพที่มั่นคงเพียงพอ พระครูสมุทรวรคุณเจ้าอาวาสเป็นผู้ดำเนินการรื้อทำที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ข้าง ๆ ศาลาท่าน้ำ
พ.ศ. 2524 ได้รับงบประมาณตามโครงการสร้างงานในชนบทของรัฐบาล ซ่อมอาคารเรือนวรคุณ เปลี่ยนเพดานจากเซฟวิ่งบอร์ด เป็นกระเบื้องแผ่นเรียบ และอาคาร 022 อีก 6 ห้อง เปลี่ยนช่องลมอาคารโรงฝึกงานชาย เป็นไม้เนื้อแข็ง เพราะของเดิมเป็นลวดตาข่ายผุพังหมด คณะครูและประชาชนได้ร่วมบริจาคเงินจำนวนหนึ่งสร้างสนามเด็กเล่น หน้ามุขอาคาร 015 ซื้อลูกรังถมบ่อ ทำรั้วด้วยแป๊ป สร้างเครื่องเล่นจำนวน 9 อย่าง เป็นอนุสรณ์งานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
พ.ศ. 2525 วิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึง ส่งนักศึกษาฝึกงานรุ่นแรกจำนวน 7 คนมาฝึกสอนที่โรงเรียนนี้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2525
พ.ศ. 2540 ได้รับงบประมาณจัดห้องวิทยาศาสตร์ และห้องปฏิบัติการทางภาษา
พ.ศ. 2541 โรงเรียนได้รับมอบหมายจากสำนักงานประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงครามได้จัดทำโครงการพัฒนาโรงเรียนหลักต้นแบบเพื่อการเรียนร่วมของโรงเรียนขนาดเล็ก โดยมี
1. โรงเรียนวัดบางขันแตก เป็นโรงเรียนหลัก
2. โรงเรียนบ้านบางขันแตก เป็นโรงเรียนร่วม
3. โรงเรียนวัดแม่น้ำ เป็นโรงเรียนร่วม
4. โรงเรียนวัดโพงพาง เป็นโรงเรียนร่วม
5. โรงเรียนวัดวชิรคาม เป็นโรงเรียนร่วม
โดยจัดการเรียนการสอนร่วมกันที่โรงเรียนหลัก โรงเรียนร่วมจะนำนักเรียน ชั้นประถมปีที่ 5 , 6 มาเรียนร่วมกันในวันพฤหัสบดี เฉพาะวิชาสปช. , วิชาภาษาอังกฤษ , วิชานาฏศิลป์ , วิชาลูกเสือ ประจำทุกสัปดาห์ ในภาคเรียนที่ 2 โรงเรียนบ้านบางขันแตกได้เปลี่ยนจากโรงเรียนร่วมมาเป็นโรงเรียนสาขา โครงการเรียนร่วมนี้ได้รับงบประมาณ 300,000 บาท มาทำสนามเอนกประสงค์เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด จัดเตรียมห้องปฏิบัติการห้องคอมพิวเตอร์ จัดสรรเป็นค่าพาหนะให้นักเรียนมาเรียนร่วม และจัดหาเงินมาเพิ่มเติมทำห้องปฏิบัติการทางภาษาอีกโดยจัดซื้อเก้าอี้พร้อมโต๊ะ 20 ที่นั่ง
พ.ศ. 2542 อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดโพงพางได้ทำหน้าที่รักษาการอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดบางขันแตกอีกตำแหน่งหนึ่ง การเรียนร่วมชั้นประถม 5 , 6 เพิ่มเป็น 5 วัน/สัปดาห์
พ.ศ. 2543 อาจารย์ใหญ่รักษาการ(นายประยูร สุพรรณอ่วม) ได้ทำหน้าที่อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดบางขันแตก โรงเรียนวัดโพงพาง , โรงเรียนวัดแม่น้ำ เปลี่ยนจากโรงเรียนร่วม มาเป็นโรงเรียนสาขาของโรงเรียนวัดบางขันแตก แต่โรงเรียนวัดวชิรคามยังเป็นโรงเรียนร่วมอยู่ ทางโรงเรียนได้จัดหาคอมพิวเตอร์ จำนวน 22 เครื่อง เพื่อใช้ในการเรียนการสอนและจัดอบรมหลักสูตรการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้นให้แก่ครูทุกคนในโรงเรียน เพื่อพัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนการสอน เปลี่ยนสายไฟทุกอาคารเรียนพร้อมทั้งติดตั้งเครื่องตัดไฟอัตโนมัติ ปรับปรุงโรงฝึกงานชายและโรงฝึกงานหญิงให้เป็นโรงอาหาร สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่พร้อมทั้งจัดอาหารของนักเรียนเป็นระบบครัวรวม
พ.ศ. 2544 โรงเรียนวัดวชิรคามถอนจากการเรียนร่วมเนื่องจากไปเป็นสาขาของโรงเรียนวัดท้ายหาด การจัดการเรียนการสอนจึงนำนักเรียนชั้น ป.4 – ป.6 จากโรงเรียนสาขามาเรียนที่โรงเรียนวัดบางขันแตกทุกวัน ส่วน ป.1 – ป. 3 จะนำมาเรียนที่โรงเรียนหลักเฉพาะวันศุกร์
พ.ศ. 2545 นำนักเรียนสาขาทุกโรงเรียนมาจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนหลักเพียงแห่งเดียว และในวันศุกร์ ภาคบ่ายมีการจัดการเรียนการสอนแบบบรูณาการ
พ.ศ. 2546 ได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสร้างลานกีฬาต้านยาเสพติด บ้านบางนางจีน (โรงเรียนวัดบางขันแตก) ตามรูปแบบเลขที่ 50/2545 เป็นเงิน 815,000 บาท
พ.ศ. 2547 ได้รับงบประมาณจัดสร้างถังเก็บน้ำฝน 70,000 บาท จากองค์การบริหารส่วนตำบลบางขันแตก และได้จัดสร้างสวนวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนขึ้น ในบริเวณโรงเรียนหลังโรงอาหาร ซึ่งได้รับงบประมาณมา 14,000 บาท
พ.ศ. 2548 ได้จัดทำฐานเสาธงและสร้างเสาธงขึ้นหน้าอาคารเรียน 014 เพื่อไว้สำหรับให้เด็กเข้าแถวตอนเช้า เคารพธงชาติ ได้รับบริจาคหิน , ปูน , ทราย จากคณะครูและประชาชน – อาจารย์อุไร อินทรสมหวังและครอบครัว คุณกิตติ คุณไพลิน พฤทธิพัฒนะพงศ์ ได้จัดสร้างฐานครอบองค์พระที่ลานธรรมของโรงเรียนวัดบางขันแตกเป็นเงิน 25,000 บาท
พ.ศ. 2549 ได้จัดสร้างห้องส้วมด้วยเงินบริจาค ภายในอาคารเรียน 022 เป็นเงิน 40,000 บาท , อาคารเรียน 015 เป็นเงิน 25,000 และอาคาร 004 จากเงินบริจาคและงบประมาณองค์การบริหารส่วนตำบลบางขันแตก เป็นเงิน 10,000 บาท อาคารละ 1 ห้อง สร้างอ่างสำหรับทำความสะอาดภาชนะ ณ โรงอาหาร โดยใช้งบประมาณเงินอุดหนุน เป็นเงิน 30,000 บาท
พ.ศ. 2550 ได้จัดสร้างแนวกำแพงจากโดยใช้ตะแกรงเหล็กกั้นขอบสนามกีฬา จากงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบลบางขันแตก เป็นเงิน 70,000 บาท สร้างบ่อเลี้ยงปลาและปรับปรุงโรงอาหารเก่า โดยใช้งบประมาณ SML เป็นเงิน 100,000 บาท
สร้างส้วมขนาด 13 ห้อง ประกอบด้วย ห้องส้วมชาย 7 ห้อง หญิง 6 ห้อง และมีห้องส้วมสำหรับผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง จากการร่วมบริจาคของหน่วยงานต่างๆ ,พระ , ครู , ผู้ปกครองและชุมชน เป็นเงิน 661,331 บาท
พ.ศ. 2551 จัดสร้างลานธรรมสำหรับการทำสมาธิของนักเรียน จากการบริจาคของพระครูอุดมสมุทรคุณ เจ้าอาวาสวัดปทุมคณาวาส เป็นเงิน 13,000 บาท และร้านอุดมชัยร่วมบริจาคแผ่นคอนกรีต เป็นเงิน 20,000 บาท
สร้างรั้วคอนกรีตรอบบริเวณโรงเรียนและประตูเหล็กเลื่อนบริเวณทางเข้า-ออก จากเงินบริจาค เป็นเงิน 120,000 บาท
สร้างสนามฟุตซอลพื้นคอนกรีต โดยงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบลบางขันแตก เป็นเงิน 250,000 บาท
พ.ศ. 2552 ได้สร้างพื้นคอนกรีตบริเวณหน้าโรงอาหาร จากการบริจาคปูนของบริษัทปูนตรานกอินทรีย์ จำนวน 20 ถุง และงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลบางขันแตก เป็นเงิน 150,000 บาท
ได้รับเงินบริจาคจาก บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) จัดสร้างหลังคาเหล็กเมทัลชีท บริเวณลานเอนกประสงค์ข้างอาคารเรียนอนุบาลเพื่อเป็นลานกีฬาในร่ม เป็นเงิน 120,000 บาท และปรับปรุงห้องสมุด เป็นเงิน 50,000 บาท
สร้างอ่างล้างหน้าและแปรงฟันสำหรับนักเรียน จากงบประมาณเงินอุดหนุน เป็นเงิน 15,000 บาท
พ.ศ. 2553 ได้สร้างอ่างน้ำพุแปดเหลี่ยม จากเงินบริจาค เป็นเงิน 30,000 บาท
สร้างหลังคาป้องกันแดดบริเวณโรงอาหาร เป็นเงิน 23,000 บาท
โรงเรียนวัดบางขันแตก(บำเพ็ญอยู่รังสฤษดิ์) สังกัดกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายบางขันแตก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสงคราม เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 (4 ขวบ)ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีข้าราชการครู จำนวน 7 คน แยกเป็นชาย 1 คน หญิง 6 คน และลูกจ้างประจำ 2 คน มีเขตพื้นที่บริการ 5 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1, 2 , 9 , 12 ตำบลบางขันแตก หมู่ 5 ตำบลแหลมใหญ่ ปัจจุบันมีนายเสวก สินประเสริฐ เป็นผู้บริหารสถานศึกษา

วิสัยทัศน์

โรงเรียนวัดบางขันแตกมุ่งพัฒนาคุณภาพสู่โรงเรียนดีมีคุณภาพตามมาตรฐาน ผู้เรียนมีความรู้คู่คุณธรรม ดำเนินชีวิตตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง รักและภูมิใจในท้องถิ่น มีความเป็นไทยควบคู่กับความเป็นสากล

คำขวัญ

“ โรงเรียนน่าอยู่ ครูใจดี เด็กมีคุณภาพ ”

พันธกิจ

1. พัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2. พัฒนาบุคลากรสู่ความเป็นมืออาชีพ
3. พัฒนาระบบบริหารแบบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
4. พัฒนาโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายมากมายพัฒนาการ
5. ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เป้าหมาย

1. มีหลักสูตรสถานศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐานที่สอดคล้องกับสภาพของสถานศึกษาและท้องถิ่น
2. มีการจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีความรู้คู่คุณธรรม
3. มีระบบบริหารจัดการที่ดีมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียงและธรรมาภิบาล
4. ครูและบุคลากรได้รับการพัฒนาคุณภาพอย่างเต็มศักยภาพ
5. มีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายในสถานศึกษาและใช้อย่างคุ้มค่า
6. มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่ปลูกฝังให้รักความเป็นไทย ภูมิใจในท้องถิ่น และใช้ความเป็นสากลเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
7. มีระบบสารสนเทศที่ใช้ในการบริหารจัดการจัดและการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพสูง

อักษรย่อ

ข.ต.

ปรัชญา

"ปลูกฝังสร้างปัญญา พัฒนาความคิด มีชีวิตด้านเทคโนโลยี"