ประวัติ

ประวัติโรงเรียน
โรงเรียนบ้านทุ่งโต๊ะดัง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต1กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลบางปอ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส เปิดทำการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2484 มีนักเรียน 84 คน นายยาน เทพเงิน เป็นครูใหญ่ โดยให้ชื่อโรงเรียนว่า“โรงเรียนประชาบาลบางปอ (บ้านทุ่งโต๊ะดัง) อาคารเรียนเป็นอาคารเรียนชั่วคราว ต่อมา อาคารเรียนชำรุด ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้าน ได้ช่วยกันบริจาควัสดุ สิ่งของและสละแรงงานร่วมกันสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้นใหม่ และได้ย้ายมาสร้างในที่ดินซึ่งตั้งโรงเรียนในปัจจุบัน และใช้ชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนบ้านทุ่งโต๊ะดัง ในปีต่อมาได้รับจัดสรรงบประมาณจากทางราชการ ได้ก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบต่าง ๆ ปี พ.ศ.2537 โรงเรียนบ้านทำนบ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลบางปอ ได้ยุบรวมมาเรียนร่วมกับโรงเรียนบ้านทุ่งโต๊ะดังได้มีมติให้ล้มเลิกเป็นโรงเรียนเดียวกับโรงเรียนบ้านทุ่งโต๊ะดัง
ในคืนวันที่ 22 เมษายน 2547 เวลาประมาณ 19.10 น. โรงเรียนได้ถูกลอบวางเพลิง จากผู้ไม่ประสงค์ดี ทำให้โรงเรียนได้รับความเสียหายเกือบหมด คณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียนและหน่วยงานอื่นๆ ไดช่วยกันบริจาค วัสดุ สิ่งของ และสละแรงงานร่วมกัน สร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้น 1 หลัง เพื่อให้นักเรียนได้มีที่เรียน ต่อมาได้รับงบประมาณจากทางราชการจำนวน 3,525,700 บาท(สามล้านห้าแสนสองหมื่นห้าพันห้าเจ็ดร้อยบาท) เพื่อสร้างอาคารเรียนแบบ สปช. 105/29 ขนาด 2 ชั้น 12ห้องเรียน จำนวน 1 หลัง ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2548 ได้เปิดใช้อาคารเรียนเมื่อ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 ส่วนอาคารเรียนชั่วคราวได้จัดทำเป็นโรงอาหารเพื่อให้นักเรียนใช้เป็นที่รับประทานอาหารกลางวัน
ปัจจุบันโรงเรียนบ้านทุ่งโต๊ะดัง เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 240 คน เป็นนักเรียนชาย 128 คน นักเรียนหญิง 112 คน ครูจำนวน 14 คน พนักงานราชการ จำนวน 1 คน วิทยากรสอนศาสนา จำนวน 1 คน ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งนักการภารโรง 1 คน

วิสัยทัศน์

นักเรียน บุคลากร และสถานศึกษามีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน
ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

คำขวัญ

ตรงเวลา รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความรู้ คู่คุณธรรม

พันธกิจ

1.จัดทำสำมะโนนักเรียน เพื่อให้เด็กในเขตบริการได้เข้าเรียนอย่างทั่วถึง เสมอภาค
2.จัดระบบการเรียนการสอนให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา
3.พัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพ
4.พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยี การเงิน พัสดุ สารสนเทศ และอื่นๆ
5.พัฒนาระบบการบริหารจัดการ โดยแยกกระจายอำนาจและให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
6.ส่งเสริมให้บุคลากรนำภูมิปัญญาท้องถิ่น มาจัดกระบวนการเรียนการสอน

เป้าหมาย

1.เด็กในเขตบริการ เรียนจบชั้นสูงสุดของโรงเรียน
2.นักเรียนระดับก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษามีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา
3.บุคลากรทุกคนได้รับการพัฒนา ตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาและมาตรวิชาชีพ
4.บุคลากรทุกคนมีความรู้ด้านเทคโนโลยี สามารถปฏิบัติงานด้านการเงิน พัสดุ สารสนเทศ และอื่นๆได้
5.โรงเรียนมีระบบบริหารจัดการ โดยแยกการกระจายอำนาจและให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
6.ชุมชนและบุคลากร นำภูมิปัญญาท้องถิ่น มาจัดการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรสถานศึกษา

อักษรย่อ

ตด.

ปรัชญา

การศึกษาคือชีวิต ชีวิตคือการศึกษา