ประวัติ

โรงเรียนบ้านนาคำแคน ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓ โดยมี นายนวล รัตนเทพ ผู้ใหญ่บ้านนาคำแคน ดาบตำรวจประสาทศิลป์ นนทะนำ ครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านนาต้อง นายทองดี ภูมิภาค รองหัวหน้าชุดคุ้มครองหมู่บ้าน พระธรรมฑูตสมพร เจ้าอธิการลำดวน เจ้าอาวาสวัดบ้านนาคำแคน พร้อมด้วยชาวบ้านนาคำแคน ร่วมกันจับจองที่ดินไว้สำหรับสร้างโรงเรียน ได้เนื้อที่ประมาณ ๕๒ ไร่ ๒ งาน และได้ร่วมกันบริจาคเงิน แรงงานก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้นจำนวน ๑ หลัง ๒ ห้องเรียน เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ในปีแรกมีนักเรียนเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ จำนวน ๒๕ คน ชาย ๑๓ คน หญิง ๑๒ คน โดยมี นายประไพ มะลาลัย เป็นครูใหญ่คนแรก
ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๔ ได้ทำการก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติมอีก ๑ หลัง เป็นอาคารถาวรแบบ ป.๑ ฉ. จำนวน ๓ ห้องเรียน ด้วยเงินงบประมาณของทางราชการ ลักษณะเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๐ นายปิยะพงษ์ เนตรพรหม ย้ายมาดำรงตำแหน่งเป็นครูใหญ่แทน นายประไพ มะลาลัย ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว และได้ขยายการศึกษาจากชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เป็นชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕, ๖ และ ๗ ในปีเดียวกันนี้ได้ก่อสร้างอาคารเรียนถาวรด้วยเงินงบประมาณเพิ่มเติมอีก ๑ หลัง แบบ ป.๑ ฉ ๕ ห้องเรียน ลักษณะเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูงในปีพุทธศักราช ๒๕๒๓ ได้ก่อสร้างอาคารเรียนถาวรด้วยเงินงบประมาณเพิ่มเติมอีก ๑ หลัง แบบองค์การบริหารส่วนจังหวัด ขนาด ๓ ห้องเรียน ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว ใต้ถุนสูงในปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ ได้ก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ แบบ สปช.๒๐๑/๒๕๒๖ จำนวน ๑ หลังในปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ นายปิยะพงษ์ เนตรพรหม ตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่น นายอุฤทธิ์ บุษบง ย้ายมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่แทน
ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ นายอุฤทธิ์ บุษบง ตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่น นายนิพันธ์ สุวรรณวงศ์ ย้ายมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่แทนในปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ โรงเรียนได้รับการคัดเลือกเข้าร่วม “โครงการด้วยรักและห่วงใย” ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ ข้าราชการครู นักการภารโรง อำเภอศรีวิไล อำเภอโซ่พิสัย และชาวบ้านนาคำแคนร่วมกันบริจาคเงิน แรงงาน ก่อสร้างห้องสมุดโรงเรียน นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนเงินจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท (หกหมื่นบาทถ้วน) จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูหนองคาย จำกัด เพื่อสมทบทุนก่อสร้างห้องสมุดจนแล้วเสร็จ ได้อาคารห้องสมุดเป็นเอกเทศจำนวน ๑ หลัง ๓ ห้อง ขนาดกว้าง ๓ เมตร ยาว ๑๐.๕๐ เมตร ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาทรงไทย มุงกระเบื้อง เป้าหมายเพื่อทูลเกล้าฯถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมโรงเรียนและทอดพระเนตรกิจกรรมโครงการด้วยรักและห่วงใย ในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๖ในปีพุทธศักราช๒๕๓๗ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ ระดับจังหวัด ประเภทโรงเรียนดีเด่น
ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ ได้ก่อสร้างอาคารเรียนด้วยเงินงบประมาณเพิ่มเติมอีก ๑ หลัง แบบ สปช.๑๐๕/๒๕๒๙ ขนาด ๔ ห้องเรียนในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ “โรงเรียนปฏิรูปการศึกษา” และได้รับจัดสรรงบประมาณปรับปรุงพัฒนาห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ และห้องปฏิบัติการทางภาษา ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ ได้รับรางวัลโรงเรียนดีเด่น ขนาดกลาง ลำดับที่ ๒ ของจังหวัดหนองคาย และได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนระดับจังหวัดเข้าประกวดเพื่อชิงรางวัลพระราชทาน
ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๓ นายนิพันธ์ สุวรรณวงศ์ ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่น นายวิชัย โพธิกมล ย้ายมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่แทน
ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๔ นายวิชัย โพธิกมล ตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ เสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว ทำให้ตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ว่างลง ทางราชการได้แต่งตั้ง นายปรีชา เจริญรบ ตำแหน่งอาจารย์ ๒ ระดับ ๗ เป็นผู้รักษาการในตำแหน่ง ต่อมาในวันที ๑๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๔ ทางราชการได้แต่งตั้งให้นายทองคำ โมกขศิริ มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านนาคำแคน ต่อมาในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ทางราชการได้แต่งตั้งให้ นายสมบูรณ์ วิชิต ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแทนจนถึงปัจจุบัน
ในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมโรงเรียนและทอดพระเนตรกิจกรรมโครงการด้วยรักและห่วงใย เป็นครั้งที่ ๒
ปัจจุบัน ปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ โรงเรียนบ้านนาคำแคนได้เปิดทำการสอนตั้งแต่ ชั้นอนุบาล ๑ ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ มีนักเรียน ๒๕๐ คน ชาย ๑๓๕ คน หญิง ๑๑๕ คน รวม ๙ ห้องเรียน มีผู้อำนวยการ ๑ คน ข้าราชการครู ๑๐ คน ครูอัตราจ้าง จำนวน ๑ คน ครูธุรการ ๑ คน ลูกจ้าง จำนวน ๑ คน

วิสัยทัศน์

“ภายในปีการศึกษา ๒๕๕๔ โรงเรียนบ้านนาคำแคนจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับก่อนประถมศึกษาและระดับประถมศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาในกานสืบค้นวิทยาการใหม่ ๆ ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา และมีศักยภาพในการเรียนรู้ระดับสากล”

คำขวัญ

เรียนดี กีฬาเด่น เน้นปฏิบัติ พัฒนาสิ่งแวดล้อม เพียนพร้อมคุณธรรม

พันธกิจ

พันธกิจ (MISSION)
๒.๑ จัดบริการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ
๒.๒ ปฏิรูปการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ
๒.๓ ส่งเสริม สนับสนุนการจัดบรรยากาศการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ
๒.๔ พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
๒.๕ พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้
๒.๖ จัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาให้มีคุณภาพและให้ได้มาตรฐาน
๒.๗ ปฏิรูประบบการบริหารจัดการ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของบุคลากรและชุมชน
๒.๘ ดำเนินการโครงการตามพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
๒.๙ น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเชื่อมโยงสู่การเรียนการสอนสู่วัฒนธรรมองค์กรและนำไปสู่ระบบช่วยเหลือนักเรียน

เป้าหมาย

เป้าหมาย (GOAL)
๓.๑ เกณฑ์เด็กเข้าเรียน ในเขตบริการได้อย่างทั่วถึงและครบทุกคน คิดเป็นร้อยละ ๑๐๐
๓.๒ ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ คิดเป็นร้อยละ ๗๕
๓.๓ ผู้เรียนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และพัฒนาสิ่งแวดล้อม คิดเป็นร้อยละ ๘๐
๓.๔ ผู้เรียนมีความสามารถคิด วิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีคิดสร้างสรรค์ คิดไตรตรองและมีวิสัยทัศน์ คิดเป็นร้อยละ ๗๕
๓.๕ ผู้เรียนมีทักษะในการทำงาน รักการทำงานสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริต คิดเป็นร้อยละ ๗๕
๓.๖ ผู้เรียนมีความรู้และทักษาที่จำเป็นตามหลักสูตร ตามเกณฑ์ คิดเป็นร้อยละ ๘๐
๓.๗ ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ ๗๐
๓.๘ ผู้เรียนมีสุขนิสัย สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี คิดเป็นร้อยละ ๙๕
๓.๙ ผู้เรียนมีสุนทรียภาพและลักษะนิสัยด้านศิลปะดนตรีและกีฬา คิดเป็นร้อยละ ๘๐
๓.๑๐ ครูมีคุณธรรมและจริยธรรม มีมนุษยสัมพันธ์ที่ทีกับผู้เรียน ผู้ปกครองและชุมชน คิดเป็นร้อยละ ๙๐
๓.๑๑ ครูมีความมุ่งมั่น แสวงหาความรู้และเทคนิคใหม่ๆในการสอน คิดเป็นร้อยละ ๘๐
๓.๑๒ มีจำนวนครูพอเพียง สอนตรงตามวิชาเอก คิดเป็นร้อยละ ๗๐
๓.๑๓ ครูมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คิดเป็นร้อยละ ๘๐
๓.๑๔ ผู้บริหารมีคุณธรรม จริยธรรม มีภาวะผู้นำและมีความสามารถในการบริหารจัดการศึกษา คิดเป็นร้อยละ ๙๐

อักษรย่อ

น.ค.ค.

ปรัชญา

ปัญญา เจนํ ปลาสติ : ปัญญาเป็นเครื่องปกครองคน