ประวัติ

โรงเรียนช่างฝีมือทหาร ตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและ ออสเตรเลีย ภายใต้องค์การสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกัน แห่งเอเชียอาคเนย์ (สปอ.) โดยร่วมกันจัดทำโครงการ รวม ๓ โครงการ คือ.-
๑. โครงการช่างกลโรงงาน พ.ศ.๒๕๐๑ รัฐบาลออสเตรเลีย ได้เสนอความช่วยเหลือประเทศไทยจัดตั้งโครงการช่างกลโรงงาน โดยรัฐบาลออสเตรเลียเป็นผู้ จัดหา เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์การฝึก พร้อมกับส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแนะนำ รัฐบาลไทยเป็นฝ่ายจัดหาที่ดินและก่อสร้างอาคาร จัดเจ้าหน้าที่ดำเนินงานจากกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ๑๘ มกราคม ๒๕๐๓ วางศิลาฤกษ์โดย พลเอก ถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้น) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ๘ กันยายน ๒๕๐๓ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และ กรมตำรวจ ส่งข้าราชการเข้าศึกษารุ่นแรก รวม ๔ สาขาวิชาชีพ คือ.-
๑. ช่างปรับทั่วไป
๒. ช่างปรับอุปกรณ์ไฟฟ้า
๓. ช่างเครื่องมือกล
๔. ช่างเหล็ก เชื่อมประสาน ประกอบโลหะแผ่น
๒. โครงการช่างยานยนต์ พ.ศ.๒๕๐๙ รัฐบาลออสเตรเลีย และรัฐบาลไทย ได้ร่วมกันจัดตั้งโครงการช่างยานยนต์ โดยรัฐบาลออสเตรเลียเป็นผู้จัดหาเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์การฝึกพร้อมกับส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแนะนำ รัฐบาลไทยเป็นฝ่ายจัดหาที่ดินและก่อสร้างอาคาร จัดเจ้าหน้าที่ดำเนินการ จาก กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ วางศิลาฤกษ์โดย จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ๑ ตุลาคม ๒๕๑๒ นักเรียนช่างฝีมือทหาร วิชาชีพ ช่างยานยนต์ รุ่นที่ ๑ เข้าศึกษา
๓ โครงการช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.๒๕๑๕ รัฐบาลออสเตรเลีย และรัฐบาลไทย ได้ร่วมกันจัดตั้ง โครงการช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยรัฐบาล ออสเตรเลียเป็นผู้จัดหาเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์การฝึก พร้อมกับส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแนะนำ รัฐบาลไทยเป็นฝ่ายจัดหาที่ดิน และก่อสร้างอาคาร รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ดำเนินงานจากกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ พ.ศ.๒๕๑๖ - ๒๕๑๗ ก่อสร้างอาคาร และติดตั้งเครื่องจักรกล แล้วเสร็จ พ.ศ.๒๕๑๗ นักเรียนช่างฝีมือทหาร วิชาชีพช่างอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ ๑ เข้าศึกษา
การพัฒนาของโรงเรียนช่างฝีมือทหาร หลังจากสิ้นสุดโครงการช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์(พ.ศ.๒๕๑๕-๒๕๑๗)รัฐบาล ออสเตรเลีย ได้ยุติโครงการช่วยเหลือ โรงเรียนช่างฝีมือทหาร ทำให้โรงเรียนช่างฝีมือทหาร จำเป็นต้องพัฒนาโรงเรียน โดยใช้งบประมาณจากรัฐบาลไทยเท่านั้น ซึ่ง ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงได้เล็งเห็นศักยภาพของโรงเรียนช่างฝีมือทหาร ที่จะเป็นสถานศึกษาด้านวิชาชีพ ผลิตกำลังพลด้านช่าง พื้นฐานให้กับส่วนราชการต่างๆ ใน กห. ได้อย่างดียิ่ง จึงได้อนุมัติให้ โรงเรียนช่างฝีมือทหาร เพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ช่างฝีมือประเภทต่าง ๆ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล อีกด้านหนึ่ง ดังนี้.-
พ.ศ.๒๕๓๔ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้อนุมัติหลักการให้โรงเรียนช่างฝีมือทหาร เปิดการศึกษาหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ภาคสมทบ เพื่อตอบสนองความต้องการช่างฝีมือในตลาดแรงงานได้ และ โรงเรียนช่าง ฝีมือทหาร ได้เปิดรับนักเรียนช่างฝีมือทหาร ระดับ ปวช. ภาคสมทบ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นต้นมา
พ.ศ.๒๕๓๔ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้อนุมัติหลักการให้โรงเรียนช่างฝีมือทหาร เปิดการศึกษาหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยให้เปิดการศึกษา ๘ วิชาช่าง คือ.- ๑. วิชาช่างเครื่องกล
๒. วิชาช่างกลโรงงาน
๓. วิชาช่างโลหะ
๔. วิชาช่างผลิตเครื่องมือและแม่พิมพ์
๕. วิชาช่างยานยนต์
๖. วิชาช่างไฟฟ้า
๗. วิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์
๘. วิชาช่างท่อและประสาน
แต่ด้วยขีดจำกัดทางด้านบุคลากร อุปกรณ์การสอน และจำนวน ห้องเรียน โรงเรียนช่างฝีมือทหาร จึงได้เปิด รับนักเรียนช่างฝีมือทหาร ภาคสมทบ เข้าศึกษา ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ตั้งแต่ปีการ ศึกษา ๒๕๓๕
เพียง ๓ วิชาช่าง คือ.-
๑. วิชาช่างยานยนต์
๒. วิชาช่างไฟฟ้า
๓. วิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์
ปัจจุบัน โรงเรียนช่างฝีมืทหาร ใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พ.ศ.๒๕๔๖ ในการเรียนการสอน
มีสาขาที่เปิดสอนดังนี้
๑. วิชาชีพช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล
๒. วิชาชีพช่างเครื่องมือกล
๓. วิชาชีพช่างเชื่อมโลหะ
๔. วิชาชีพช่างยานยนต์
๕. วิชาชีพช่างไฟฟ้า
๖. วิชาชีพช่างอิเล็กทรอนิกส์

หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พ.ศ.๒๕๔๙ มีสาขาที่เปิดสอนดังนี้
๑. วิชาช่างเทคนิคยานยนต์
๒. วิชาช่างอุตสาหกรรมการผลิต
๓. วิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม

คำขวัญ

ความประพฤตินำหน้า วิชาตามหลัง

อักษรย่อ

รร.ชท.ยศ.ทหาร