ปลาย ก.พ.เริ่มรับนักเรียน ปี 2557

ที่สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา รามอินทรา เมื่อวันที่ 13 ม.ค.57 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการรับนักเรียนปี 2557 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ออกประกาศรับนักเรียนและประกาศแนวปฏิบัติไปแล้วเมื่อเดือน ต.ค.56 โดยที่ประชุมยืนยันให้มีการรับสมัครตามกำหนดการเดิม ซึ่งในระดับประถมศึกษา รับสมัครวันที่ 27 ก.พ.-3 มี.ค.57 และระดับมัธยมศึกษา วันที่ 20-24 มี.ค.57
แต่ ศธ.เป็นห่วงเรื่องจำนวนนักเรียนต่อห้อง จึงได้หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาหารืออีกครั้งแม้ว่า ในประกาศรับนักเรียนของ สพฐ.จะระบุจำนวนนักเรียนต่อห้องไว้เรียบร้อย โดยกำหนดขนาดห้องเรียนระดับประถมฯ และมัธยมฯ ไม่เกิน 40 คน ขยายเพิ่มได้อีก 10 คน รวม 50 คนต่อห้อง แต่ ศธ.เห็นว่าจำนวนนักเรียนที่เหมาะสมต่อห้องควรอยู่ที่ 40 คน จึงมาหารือกันว่า สพฐ.ยังพอจะทำอะไรได้หรือไม่ เพื่อควบคุมจำนวนนักเรียนต่อห้องให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม สพฐ.ไม่มีข้อมูลจำนวนนักเรียนต่อห้องที่ละเอียดพอสำหรับการตัดสินใจกำหนดมาตรการ มีแต่ข้อมูลในภาพรวมเป็นค่าเฉลี่ย เช่น ค่าเฉลี่ยของห้องเรียนชั้น ม.4 ในโรงเรียนแข่งขันสูง 293 โรง จำนวน 3,403 ห้อง ระหว่างปี 53-56 อยู่ที่ 43 คน ข้อมูลที่เป็นค่าเฉลี่ยนี้ไม่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่แท้จริง และไม่สะท้อนให้เห็นว่าจำนวนนักเรียนต่อห้องที่มากเกินไปส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างไร จึงขอ สพฐ.ไปรวบรวมและจัดทำข้อมูลมาอีกครั้ง เพื่อใช้วางแผนแก้ปัญหาในระยะต่อไปและระยะยาว
\"เราได้แต่สันนิษฐานว่า ห้องเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมากๆ จะกระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง แต่ไม่มีข้อมูลที่แท้จริงว่า ห้องเรียนส่วนใหญ่ของ สพฐ. มีจำนวนนักเรียนเท่าใด และห้องเรียนที่มีจำนวนมากๆ นั้น กระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนจำนวนเท่าใด ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนอย่างไร จึงให้ สพฐ.ไปทำข้อมูลมาใหม่ เพื่อจะได้เห็นว่า ปัญหาหนักหนาแค่ไหน และยังจะสามารถทำอะไรอีกได้บ้าง เพราะขณะนี้ สพฐ.ได้ประกาศใช้ประกาศรับนักเรียนปี 57 ไปแล้ว คงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ แต่ก็ต้องหาทางทำอย่างอื่น เพราะถ้าปล่อยให้ห้องเรียนมีจำนวนนักเรียนอย่างที่เป็นอยู่ต่อไป ก็ยากมากที่เราจะจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้\"
นายจาตุรนต์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ที่ประชุมต้องการให้ สพฐ.ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) อย่างใกล้ชิดขึ้น เพื่อหาทางสนองนโยบายเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนต่อสายอาชีพด้วย โดย ศธ.ต้องการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนต่อสายอาชีวะอีก 9% อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพจะมีแนวโน้มดีขึ้น ดูจากการแนะแนวในหลายพื้นที่พบว่า มีผู้ปกครองและนักเรียนสนใจจะเรียนต่อสายอาชีพมากขึ้น แต่บอกไม่ได้ว่าจะได้ตามเป้า 9% หรือไม่
ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ปีการศึกษา 2556 จะมีผู้จบชั้น ม.3 จำนวน 745,053 คน ซึ่งถ้าจะปรับให้สัดส่วนผู้เรียนต่อสายสามัญและสายอาชีพอยู่ที่ 55:45 นั้น สายอาชีพต้องรับผู้เรียนให้ได้ 335,200 คน สายสามัญรับ 409,853 คน เฉพาะวิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐ ต้องรับเพิ่มให้ได้ 48,539 รวมอาชีวศึกษาทุกประเภทต้องรับเพิ่มให้ได้ประมาณ 80,000 คน


ที่มา:หนังสือพิมพ์สยามรัฐ