ยูเน็ต คือ อะไร

ณ เวลานี้ ประเด็นที่ร้อนแรง และเป็นชนวนสำคัญให้ถูกโจมตีอย่างหนัก คงหนีไม่พ้นกรณีที่คณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) หรือ บอร์ด สทศ. มีมติให้จัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษาหรือ ยูเน็ต ในปีการศึกษา 2557 โดยเริ่มนำร่องทดสอบกับนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีสุดท้ายของทุกสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยที่มีความสมัครใจ

ซึ่งทันทีที่มีข่าวการจะจัดสอบดังกล่าว เพียงชั่วข้ามคืนได้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวาง ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการจัดทดสอบยูเน็ต แต่ดูเหมือนเสียงฝั่งค้านการสอบจะดังกว่าเสียงสนับสนุน โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ถึงกับมี การตั้งแฟนเพจ “ต่อต้านการสอบ U-Net จาก สทศ.” กลุ่มเครือข่ายเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ที่ตั้งเป้ารวบรวมรายชื่อ 10,000 ชื่อไปยื่นต่อศาลปกครอง เพื่อฟ้องผู้อำนวยการ สทศ. และคณะกรรมการ สทศ.ทุกคน และสำคัญที่สุดกลุ่มว่าที่บัณฑิตผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการจัดสอบดังกล่าว ได้รวมตัวกันในนาม เครือข่ายผู้นำนิสิต-นักศึกษา 27 มหาวิทยาลัย ภายใต้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ออกมาแสดงท่าทีคัดค้านการสอบยูเน็ต และจะออกแถลงการณ์ร่วมกันในเร็ว ๆ นี้ พร้อมทั้งจะมีการกดดันให้ สทศ.ยกเลิกการจัดสอบยูเน็ต เพราะเห็นว่าขณะนี้ระบบการศึกษาไทยมีการจัดทดสอบกันมากอยู่แล้ว และยิ่งมี

การสอบมากเท่าไหร่ ความจำเป็นในการกวดวิชายิ่งมีมากเท่านั้น แล้วผลประโยชน์ก็จะไปตกอยู่กับธุรกิจกวดวิชานั่นเอง

การเคลื่อนไหวคัดค้านการจัดสอบยูเน็ตผ่านมาเกือบ 1 สัปดาห์ ประเด็นยังคงแรงไม่หยุด ล่าสุด นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ได้เรียกผู้บริหาร และประธานบอร์ด สทศ. มาไล่เรียงที่มาที่ไป เหตุผล ความจำเป็น ของการจัดสอบยูเน็ต และสุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่า ให้ สทศ.เดินหน้าจัดทดสอบยูเน็ตต่อไป โดยเห็นว่าการจัดให้มีการสอบยูเน็ตเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพียงแต่ ในปี 2557 ให้มีการนำร่องการสอบยูเน็ตเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษเพียงวิชาเดียวไปก่อน โดยจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผลการทดสอบ และจะดำเนินการผ่านสถาบันการศึกษาโดยไม่มีการบังคับ และจะไม่มีการสร้างสภาพบังคับหรือกึ่งบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น อาทิ ถ้าไม่สอบจะไม่จบการศึกษา หรือหากไม่สอบจะไม่สามารถไปสมัครงานได้ โดยจะมีผู้สอบเท่านั้นที่จะรู้ผลสอบของตนเอง แต่สถาบันที่ประเมินผลทั้งภายนอกและภายในจะรู้ผลโดยรวมเพื่อดูในเชิงคุณภาพเท่านั้น นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปช่วยกันดูถ้าสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) จะนำคะแนนยูเน็ตมาเป็นส่วนหนึ่งในตัวบ่งชี้การประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษารอบ 4 (พ.ศ.2559-2563) จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ และทำให้เกิดการยอมรับโดยเฉพาะจากสถาบันอุดมศึกษาก่อนที่จะไปต่อ เรามาทำความรู้จักกับยูเน็ตกันสักหน่อย

ยูเน็ต คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา (University National Education Test : U-NET ) ที่มีวัตถุประสงค์การทดสอบและประเมินมาตรฐานบัณฑิตตามที่กฎหมายกำหนด โดยยึดตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือทีคิวเอฟ ใช้ในการประกันคุณภาพภายใน และการประเมินคุณภาพภายนอกระดับอุดมศึกษา และนำผลการทดสอบมาใช้ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา

การทดสอบยูเน็ต เน้นการทดสอบความรู้ ความสามารถ และทักษะการปฏิบัติงานของบัณฑิต 3 ด้าน คือ 1. ด้านการวัดทักษะพื้นฐาน สำหรับบัณฑิตทุกสาขาวิชา 4 วิชา ได้แก่ การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร การใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต : การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) และการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) 2. ด้านคุณธรรม จริยธรรม ให้ความสำคัญกับการทดสอบเหตุผลเชิงจริยธรรม (Moral Reasoning) และ 3. ด้านทักษะวิชาชีพเฉพาะสาขาวิชา โดยจะเริ่มนำร่องทดสอบนิสิต นักศึกษา ระดับปริญญาตรีชั้นปีสุดท้ายของทุกสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยที่มีความสมัครใจ ซึ่งช่วงแรกจะสอบด้านการวัดทักษะพื้นฐาน 4 วิชาก่อน จากนั้นจะเพิ่มการทดสอบ ด้านทักษะวิชาชีพ และด้านคุณธรรม จริยธรรม และจัดทดสอบในระดับปริญญาโท และเอกต่อไปในอนาคต

การนำยูเน็ตไปใช้ประโยชน์จะมี 3 ระดับ คือระดับผู้เรียนสามารถนำไปพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ได้ตามมาตรฐาน ตามความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ระดับสถานศึกษาสามารถนำมาใช้ในด้านการประกันคุณภาพการศึกษา วางแผนระบบการจัดการเรียนการสอน เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาและ ระดับชาติมีผลต่อการประเมินคุณภาพภายในและภายนอกของสถานศึกษา ตามมาตรฐานทีคิวเอฟ ตลอดจนคุณภาพของบัณฑิตเทียบเคียงกับระดับนานาชาติ

ถึงตรงนี้คงพอจะเข้าใจการจัดสอบ “ยูเน็ต” กันบ้างแล้วว่า ยูเน็ตคืออะไร จัดสอบเพื่อใคร มีประโยชน์กันอย่างไร จากนี้เป็นหน้าที่ของว่าที่บัณฑิตที่จะช่วยกันตัดสินใจว่าจะหยุดคัดค้านหรือเดินหน้าต่อ และต้องการให้การอุดมศึกษาไทยไปในทิศทางใด ขณะเดียวกันก็ยังคงต้องติดตามต่อไปด้วยว่าฝ่ายที่คัดค้านหรือต่อต้านจะเดินต่ออย่างไร เรื่องนี้ละสายตาไม่ได้.

พูนทรัพย์ ทองทาบ


ขอบคุณ:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันศุกร์ 2 พฤษภาคม 2557 เวลา 05:05 น.