มหา'ลัยตื่นซื้อเครื่องมือไล่จับวิทยานิพนธ์จอมปลอม

มหา\'ลัยตื่นตัว ป้องกันคัดลอกผลงาน หรือรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ ซื้อเครื่องมือโปรแกรมตรวจสอบ อธิการฯ นิด้าชี้ยังตรวจไม่ได้ผล 100% ต้องอาศัยอาจารย์ที่ปรึกษาสอบปากเปล่าด้วย พร้อมเสนอ สกอ.เป็นหน่วยงานกลางตรวจสอบ ด้าน \"สมคิด เลิศไพฑูรย์\" มองสถาบันจ่ายครบ จบแน่ น่ากลัวกว่า
นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เปิดเผยถึงปัญหาการลอกเลียนผลงานทางวิชาการ หรือวิทยานิพนธ์ ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ว่า ทางมหาวิทยาลัยต่างๆ พยายามพัฒนาระบบการตรวจสอบการคัดลอกผลงานทางวิชาการให้เข้มข้นมากขึ้น แต่พบว่าปัญหาใหญ่อยู่ที่มีการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งต้องเร่งแก้ไข โดยปัญหานี้เป็นผลจากมหาวิทยาลัยเปิดสาขาวิชาเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้การรับจ้างต้องมากขึ้นตามไปด้วย แต่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีก ส่วนการตรวจสอบถือว่าทำได้ยาก ซึ่งเครื่องตรวจสอบสามารถตรวจได้เฉพาะผลงานที่ลอกเลียนมาเท่านั้น ไม่สามารถตรวจได้ว่าเป็นการจ้างทำหรือทำเอง ดังนั้นทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ มหาวิทยาลัย อาจารย์ที่ปรึกษา และคณะกรรมการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ จะต้องเข้มงวดในกระบวนการตรวจสอบความถูกต้อง และมีการซักถามข้อมูลที่ค่อนข้างละเอียด เพราะหากนักศึกษาทำงานด้วยตัวเองก็จะสามารถอธิบายรายละเอียดได้ ไม่ติดขัด
สำหรับนิด้าใช้โปรแกรม Turnitin ป้องกันการลอกเลียนผลงาน ซึ่งซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ แต่โปรแกรมดังกล่าวยังมีข้อเสียคือ จะตรวจได้เฉพาะผลงานของนักวิชาการ หรือวารสารต่างประเทศซึ่งเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น ขณะที่โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเป็นภาษาไทย แต่ส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษยังอาจจะมีน้อย ดังนั้นจึงคิดว่าหากใช้ทั้งสองโปรแกรม การตรวจสอบการคัดลอกผลงานน่าจะมีความครอบคลุมมากขึ้น
\"ในอนาคตผมอยากให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นหน่วยงานกลางทำเครื่องตรวจสอบวิทยานิพนธ์ และทำฐานข้อมูลกลางจัดเก็บวิทยานิพนธ์จากทั่วโลก เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ และเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถใช้บริการได้อย่างสะดวกมากขึ้น เพราะปัจจุบันมหาวิทยาลัยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการใช้โปรแกรมที่ซื้อมาจากต่างประเทศตกปีละไม่ต่ำกว่า 7-8 แสนบาท\"
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มธ.ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาสาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาระบบตรวจสอบการคัดลอกผลงานวิชาการ หรือมายแคท เพื่อตรวจสอบวิทยานิพนธ์และบทความทางวิชาการของนักศึกษาและอาจารย์ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป กระบวนการตรวจสอบจะเริ่มจากนักศึกษาส่งไฟล์ร่างวิทยานิพนธ์มา จากนั้นระบบจะประมวลผลว่าวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ลอกผลงานคนในสัดส่วนไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งคัดลอกข้อความใดบ้าง โดยใช้แถบสีป้ายที่ข้อความนั้น และส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษาพิจารณาว่าจะให้วิทยานิพนธ์เล่มนี้ผ่านหรือไม่ ซึ่งในเร็วๆ นี้จะหารือกันอีกครั้งว่าการคัดลอกในสัดส่วนเท่าใดถึงจะให้วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ตกหรือผ่าน แต่โดยทั่วไปในต่างประเทศจะกำหนดว่า หากคัดลอกเกิน 20% จะถือว่าไม่ผ่าน
สำหรับปัญหาการจ้างทำวิทยานิพนธ์นั้น ใน มธ.ค่อนข้างจะมีน้อย เพราะมีระบบตรวจสอบวิทยานิพนธ์ที่ค่อนข้างเข้ม โดยอาจารย์จะมีการสอบถามรายละเอียด ซึ่งไม่ใช่แค่ข้อมูลภายในวิทยานิพนธ์เท่านั้น แต่รวมถึงข้อมูลที่อยู่นอกเหนือจากวิทยานิพนธ์ด้วย ดังนั้นหากใครไม่ทำเองก็จะไม่สามารถตอบคำถามได้
“ถึงแม้ปัญหานี้จะมีน้อยลงก็ใช่จะไม่มีเลย และที่ผ่านมามหาวิทยาลัยพยายามสร้างระบบป้องกันและปราบปราม ที่ผ่านมาหากเราพบว่ามีการลอกวิทยานิพนธ์ก็จะสั่งถอดถอนปริญญาทันที ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ค่อนข้างจะระมัดระวัง และเอาจริงเอาจังกับเรื่องเหล่านี้มาก เพราะกระทบกับชื่อเสียง แต่ที่น่าห่วงคือมหาวิทยาลัยประเภทจ่ายครบ จบแน่ ที่จะทำให้คุณภาพการศึกษาต่ำลง” อธิการบดี มธ.กล่าว.


ขอบคุณ :หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ Friday, 27 June, 2014 - 00:00