นร.บดินทรเดชา 4 สร้างสรรค์งานศิลป์ จากเมล็ดข้าวเปลือก

หลังจากฤดูการเก็บเกี่ยวข้าว พื้นที่ของโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 4 เขตหนองจอก กรุงเทพฯ กว่า 9 ไร่ ที่ถูกทำเป็นแปลงนา มีเมล็ดข้าวเปลือกนับหมื่นๆ เมล็ดร่วงหล่นอยู่ ด้วยไม่มองข้ามคุณค่าของเมล็ดข้าว นอกจากจะให้ประโยชน์มากมายสารพัดแล้ว สิ่งที่ได้จากการต่อยอดจากของตกหล่นบนพื้นนาเหล่านั้นกลับกลายเป็นงานหัตถกรรมที่สวยงามและใช้ประโยชน์ได้

แนวคิดที่ว่านี้เกิดจากการรวมกลุ่มของน้องๆ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 ประกอบไปด้วย น.ส.กรวิภา พิราทุม, นายญาปกะ บุญสูงเนิน, น.ส.ชุติมา ร่มจันทร์, น.ส.กฤษณา แต้มมณี, น.ส.ลลิตพรรณ พรหมสาขา ณ สกลนคร, น.ส.จันทิรา ดีปราสัย และ น.ส.กิตติยา ปานสมัย ที่คิดว่าหากนำเอาสิ่งใกล้ตัวโดยเฉพาะเมล็ดข้าวเปลือก เมล็ดข้าวลีบที่อาจไม่มีค่า นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ก็จะสามารถยกระดับให้ของไร้ค่ากลายเป็นเครื่องประดับตกแต่ง กิ๊บติดผม หมวก กรอบรูป ดอกไม้ประดิษฐ์ และเข็มกลัด สามารถเพิ่มมูลค่าขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ

น.ส.กิตติยา ปานสมัย เล่าให้ฟังถึงที่มาของการรวมกลุ่มและทำกิจกรรมว่า เดิมทีโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 4 ได้จัดแหล่งเรียนรู้ให้เป็นศูนย์เกษตรเพื่อชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งเนื้อที่ในการทำนาจำนวน 9 ไร่ หลังการเก็บเกี่ยวจะพบเมล็ดข้าวตก คือรวงข้าวที่ตกค้างในการเก็บเกี่ยวไม่หมด ซึ่งมีทั้งข้าวเมล็ดที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ ฟางข้าว และวัชพืชอื่นๆ ในนา หลังการเก็บเกี่ยวจะปล่อยให้เมล็ดข้าว ฟาง และวัชพืชเน่า หรือจะเผาทิ้งเพื่อการเตรียมพื้นที่ทำนาในฤดูต่อไป ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ จึงมีแนวคิดและร่วมกันนำเมล็ดข้าวเปลือกที่ตกค้างจากการเก็บเกี่ยวข้าวในนาแต่ละครั้ง หรือวัสดุอื่นๆ ที่เหมาะสมมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นเครื่องประดับ ของที่ระลึก

กิตติยาบอกว่า ทุกครั้งเวลาเก็บเกี่ยวมีข้าวตกปล่อยทิ้ง แต่เรานำมาต่อยอดเพราะมองว่ากลุ่มลูกค้าตอบรับถ้านำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ แต่ก็ต้องกลับมาดูว่าจะทำเป็นผลิตภัณฑ์อะไร หากเป็นผลิตภัณฑ์อื่นจะรู้สึกยากลำบากในการทำ จึงมุ่งไปที่งานหัตถกรรมฝีมือ การสร้างสรรค์งานศิลป์ จึงได้ร่วมกันออกแบบโดยการนำเมล็ดข้าวเปลือกมาจัดเรียงให้เป็นรูปต่างๆ เช่น ดอกไม้ ผีเสื้อ หรือ ทำเป็นรูปสัตว์ชนิดต่างๆ แล้วตกแต่งด้วยสีสันที่สวยงาม โดยเฉพาะการทำเป็นดอกไม้สามารถนำไปประดับตกแต่งหมวกให้สวยงาม หรือทำเป็นกิ๊บติดผมได้อีกด้วย

สำหรับสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดนั้น น.ส.ลลิตพรรณ พรหมสาขา ณ สกลนคร ระบุว่าหมวกเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีเพราะเป็นสินค้าแฟชั่น โดยจะขายในโรงเรียน และฝากไปตามร้านของผู้ปกครอง ที่มีร้านขายสินค้าประเภทเครื่องหนังอยู่แล้ว ส่วนงานที่เป็นกรอบรูปจะเน้นขายตามบริษัทห้างร้านที่นำไปเป็นของที่ระลึกของขวัญมอบให้ลูกค้าต่างๆ ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่สนใจมีทั้งวัยรุ่นวัยผู้ใหญ่ และลูกค้าต่างชาติ เพราะลองนำไปจำหน่ายที่พัทยาปรากฏว่าชาวต่างชาติให้การตอบรับเป็นอย่างดี

สอดรับกับ น.ส.กฤษณา แต้มมณี ที่เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ในการจัดจำหน่ายในครั้งที่ได้ออกงานนำเสนอผลงานและจัดนิทรรศการในการประชุมสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนในฝัน ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน พัทยา มีผู้สนใจผลิตภัณฑ์จำนวนมาก รวมถึงสอบถามความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากเมล็ดข้าวเปลือกของโรงเรียน ระยะเวลาที่จำหน่ายเพียง 2 วัน มียอดเงินถึง 20,000 กว่าบาท และติดตามมาดูงานที่โรงเรียน ทั้งดูการทำนา และชมการสาธิตการประดิษฐ์ผลงาน เป็นต้น

กฤษณา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ด้านการตั้งราคานอกจากจะพิจารณาจากต้นทุน จากความต้องการและการแข่งขันเป็นหลักแล้ว ยังพิจารณาชนิดของผลิตภัณฑ์ เพราะผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย อาจจะมีสินค้าตกค้าง ควรออกแบบให้แปลกใหม่ ทันสมัย การประดิษฐ์ที่ต้องใช้ความละเอียดสูงใช้เวลาในการผลิตนาน จึงตั้งราคาจำหน่ายไว้ประมาณ 2-2.5 เท่าของราคาต้นทุน ซึ่งไม่รวมค่าแรงงานในการผลิต โดยตั้งราคาต่อชิ้นเป็นเลขคี่ลงท้ายด้วย 9 หากต้องการซื้อ 2 ชิ้นจะมีส่วนลดเป็นเลขคู่ เช่น ชิ้นเดี่ยว ราคา 29 บาท 2 ชิ้นราคา 50 บาท ไล่ไปถึงราคาแพงสุดถึง 5,000 บาท ซึ่งจะเป็นประเภทกรอบรูปที่นำเมล็ดข้าวมาเรียงเป็นรูปต่างๆ เป็นต้น


“สำหรับการทำการตลาดและช่องทางจำหน่ายนั้นจะใช้วิธีการให้ตัวแทนนักเรียนนำไปจำหน่ายที่บ้าน และฝากผู้ปกครองนำไปจำหน่ายที่ทำงาน นักเรียนนำไปจำหน่ายตามตลาดนัดใกล้บ้าน รวมทั้งที่โรงเรียน นอกจากนี้ยังจัดจำหน่ายในงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ/เอกชน และงานแสดงสินค้า นอกจากนี้ยังได้ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาช่วยเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์คือการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ร่วมงานทราบโดยการเชื่อมโยงความสนใจทุกรูปแบบ เช่น ความเป็นลูกบดินทรเดชา การปลูกข้าวทำนาที่โรงเรียนบดินทร ซึ่งจาก 2 ประการนี้ทำให้ทุกคนที่มาร่วมงานจะให้ความสนใจเข้ามาชมผลิตภัณฑ์ ประการต่อไปที่โดดเด่น เมื่อได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากเมล็ดข้าวเปลือกซึ่งมีความละเอียดสวยงามแปลกใหม่ หลากหลายของผลิตภัณฑ์ มีผลให้เกิดความสนใจและซื้อ”

นอกจากนี้ยอดกำไรจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตลอดเป็นระยะเวลา 4 เดือน ยังได้นำผลกำไรตอบแทนสู่สังคม 15% ของกำไร คิดเป็นเงิน 3,291 บาท แยกชนิดของการจัดสรรผลประโยชน์ดังนี้ 1.เข้าเป็นทุนการศึกษาของนักเรียน จำนวนเงิน 1,000 บาท 2.จัดอบรมนักเรียนเครือข่ายและกลุ่มแม่บ้าน คิดเป็นเงิน 1,500 บาท 3.จัดเป็นของที่ระลึกของโรงเรียนมอบในวาระต่างๆ ของโรงเรียน 3 ครั้ง คิดเป็นเงิน 1,200 บาท นอกจากนี้ยังอยากต่อยอดตลาดโดยขยายเครือข่ายร่วมกันผลิตเพื่อจะร่วมกันผลิตและสอนให้กลุ่มแม่บ้านที่เป็นชาวนา ผลักดันให้เป็นสินค้าโอท็อปได้


สำหรับเครื่องประดับจากเมล็ดข้าว ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการ หนึ่งความคิดสร้างสรรค์จากน้องๆ นักเรียน ที่ผ่านเข้ารอบ 1 ใน 10 ทีมสุดท้ายจากการประกวดแผนธุรกิจในโครงการกรุงไทย ยุวาณิช ประจำปี 2556 ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 12 เพื่อจุดประกายและสร้างเยาวชนที่มีคุณธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวคิดทุนทางปัญญาไม่มีวันหมด โดยเน้นให้เยาวชนในระดับมัธยมศึกษาและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ได้มีเวทีในการฝึกปฏิบัติการดำเนินธุรกิจ มีความสนใจและตื่นตัวที่จะใช้ความคิด ความรู้ที่มีอยู่ประกอบกับการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม แล้วนำมาปฏิบัติจริงให้เป็นรูปธรรม



ขอบคุณ:หนังสือพิมพ์ บ้านเมือง วันที่ 25/07/2557 เวลา 8:14 น.