ใครคือผู้ทำลายวิชาชีพครู

กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนในวงการการศึกษา เมื่อ ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เจ้าเก่า ใช้ความพยายามอีกรอบในภาวะไม่ปกติ ผลักดันให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ ให้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เพื่อเป็นครูสอนได้ทันที



แม้พยายามเอาหลังพิงอ้างอิงกระแสไปถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่บรรดาสภาคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยรัฐเดิม กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ผนวกกับกลุ่มครูอาจารย์ นักวิชาการสายการศึกษา นักศึกษาครู และสภา ครูของคุรุสภา ต่างประสานเสียงไม่เห็นด้วยอย่างเป็นเอกภาพ



ด้วยการฉายภาพให้เห็นว่า ทุกเส้นทางจะต้องรักษามาตรฐานในการกลั่นกรอง ผู้ที่จะเป็นครูให้มีคุณภาพทัดเทียมกัน ยินดีที่จะรับคนที่หากต้องการมาเป็นครูสามารถมาเป็นครูได้



วันนี้วิชาชีพครูเดินมาไกลมากแล้ว การที่จะถอยหลังกลับไปสู่การได้มาซึ่งใบอนุญาตฯโดยไม่มีหลักเกณฑ์ถือเป็นการทำลายวิชาชีพ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศอย่างสิ้นเชิง



ทั้งๆ ที่เรียนกล่าวกับคนเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ไม่รู้สักกี่ครั้งไปแล้วว่า สภาครูเองไม่ได้ปิดกั้นผู้จบสาขาอื่นที่ไม่ได้จบสายการศึกษาหรือเรียนสายครู ก็สามารถเข้ามาได้โดยได้รับใบอนุญาตการสอนชั่วคราว



ซึ่งวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงหรือวิชาชีพเฉพาะทาง จำเป็นต้องวางระบบขั้นตอนชัดเจนจึงต้องมีกติกาภายใน 2 ปี เมื่อเข้ามาแล้วต้องพัฒนาตนเองเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หากยังไม่ได้ก็สามารถทำงานสอนต่อได้อีก 2 ปี รวมแล้ว 4 ปี น้อยเสียเมื่อไหร่



เมื่ออยากได้ใบประกอบวิชาชีพอัตโนมัติแบบง่ายๆ ไม่ยอมทำตามกฎ คุรุสภาในฐานะเป็นผู้ควบคุมวิชาชีพ ไม่ปกป้องไม่รักษากติกา ก็ไม่สมควรมี และวันนี้วิชาชีพครูไทยได้พัฒนาจะถึงมาตรฐานนานาชาติแล้ว



การพยายามของปลัดกระทรวงศธ. ที่จะกดดันให้ใบอนุญาตฯ แก่ผู้ที่ไม่ได้เรียนครูโดยอัตโนมัติดังกล่าว เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง จึงไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมต่อนักศึกษาครู ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าคนที่ไม่ได้เรียนครู แต่ได้ใบอนุญาตฯ แบบอัตโนมัติเป็นครูที่มีคุณภาพ



วิชาชีพลักษณะนี้ ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองคงแยกแยะ ได้ว่า ควรเข้าไปยุ่งให้เปลืองตัวด้วยหรือไม่ คิดเอา


เลาะเลียบคลองผดุงฯ
ตุลย์ ณ ราชดำเนิน [email protected]


ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 01 สิงหาคม พ.ศ. 2557