นักวิชาการเสวนาปฏิรูปการศึกษาปลดล็อกได้จริงหรือ

นักวิชาการเสวนาปฏิรูปการศึกษาปลดล็อกได้จริงหรือ

ระดมคนดังร่วมเครือข่ายแนะวิธีเตรียมเสนอความเห็น คสช.



เครือข่ายนักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดโครงการเสวนาหัวข้อ “ปฏิรูปการศึกษา ปลดล็อกได้จริงหรือ?” เพื่อระดมความคิดเห็นเชิงรุกทางการศึกษาอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษา เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อไป

ศ.ระพี สาคริก อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงการศึกษาไทยควรเปลี่ยนศาสตร์ (Sciences) ให้เป็นปรัชญาของชีวิต (Philosophy of Life) ซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องมีศิลปะในการแก้ปัญหาโดยให้ความสำคัญกับจิตใจแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เห็นถึงแกนของปัญหา เพราะการปฏิบัติได้แสดงถึงจิตวิญญาณที่อยากทำ การดูคนต้องรู้จักไม่ใช่แค่การพิจารณาจากผลการเรียนในใบทรานสคริป เพราะคำว่า “ปฏิรูป” คือต้องทำความเข้าใจกับตัวเราเองมากกว่า โดยไม่มองอะไรแค่เพียงด้านเดียว ปากพูดแต่ใจไม่ทำ ดังนั้น “การปฏิรูป” ต้องปฏิบัติก่อน เพราะหากไม่มีการปฏิบัติจะกลายเป็น “ปฏิกูล”

ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กล่าวถึงสิ่งสำคัญแห่งการปฏิรูป 3 ประการ คือ การนำบทเรียนทั้งความสำเร็จและความล้มหลวในอดีตทั้งบทเรียนของไทยเองและนานาประเทศมาเป็นแนวทาง ความเข้าใจถึงความสำคัญว่าอะไรบ้างที่ต้องปฏิรูปที่เป็นพลังอำนาจสำคัญในสังคมเนื่องมีประเทศชาติเป็นเดิมพัน และเป้าหมายของการปฏิรูปต้องเน้นผลผลิตคือ เด็กไทยต้องมีคุณภาพระดับโลกแต่มีความเป็นไทยอย่างแน่นแฟ้น แนวทางการปฏิรูปที่ได้ผลคือ ประการแรกต้องเปลี่ยนแปลงให้โรงเรียนสามารถสอนเด็กให้เรียนรู้และมีทักษะ ประการที่สองต้องมีการบริหารจัดการที่กระจายอำนาจและมีผู้รับผิดชอบชัดเจน


ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ได้กล่าวถึงสิ่งที่ควรปลดล็อกทางการศึกษา คือ การพัฒนาการศึกษาให้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ โดยมีการพิจารณาและเข้าใจเป้าหมายทางการศึกษาในภาพรวมทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับประถม มัธยม อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา พร้อมทั้งแนวทางการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับทิศทางของปัญหาทางการศึกษาในเชิงปริมาณและคุณภาพที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ในอดีต การขับเคลื่อนการปฏิรูปต่างๆ ในระบบราชการ ได้ผลน้อยเพราะการประเมินผลไม่ได้เน้นผลลัพธ์อย่างชัดเจน และไม่มีการลงโทษเมื่อไม่บรรลุเป้าหมาย

รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้กล่าวว่า มหาวิทยาลัยต้องเป็นกลไกของการพัฒนา โดยพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน และพัฒนาการศึกษาระดับอื่น รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมตามแผนพัฒนาฯ นโยบายอุดมศึกษาจึงต้องชัดเจนและต่อเนื่อง ที่จะทำให้มหาวิทยาลัยเป็น engine for growth และรัฐบาลต้องลงทุนเพื่อให้ไปถึง 3 เป้าหมาย คือ การก้าวพ้นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง การลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยควรตั้งเป้าหมายอย่างท้าทายเพื่อพัฒนาผลิตภาพทั้งของ LE และ SME โดยเฉพาะ SME ให้มีสัดส่วนรายได้สูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ วิธีการปลดล็อกคือต้องสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม โดยแทรกเข้าไปในหลักสูตรทุกระดับ เพื่อให้ผู้เรียนคิดเป็นทำเป็น ประเด็นปฏิรูปควรประกอบด้วย 1.การเพิ่มสัดส่วนการผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2.การเพิ่มงบวิจัยต่อ GDP จาก 0.2% เป็น 1-2% โดยเร็ว และต้องมาจากภาคเอกชนในสัดส่วนที่สูงกว่าภาครัฐ 3.การมีมาตรการทั้งด้านส่งเสริมและลงโทษ เพื่อให้เกิด accountability 4.การส่งเสริมเครือข่ายและความร่วมมือในทุกระดับ

ทั้งนี้ มีสิ่งที่คณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ดำเนินการแล้วเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นที่จะเป็นผลดีต่อการพัฒนาอุดมศึกษา เช่นปรับปรุงมาตรฐานหลักสูตรให้มีทั้งหลักสูตรวิชาการและหลักสูตรเน้นการปฏิบัติ การยืดหยุ่นให้มหาวิทยาลัยที่อยู่ใน world ranking สามารถมีระบบการประกันคุณภาพของตนเอง ฯลฯ

ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้แนวคิดในการปฏิรูปการศึกษา คือ คนต้องเป็นศูนย์กลางการพัฒนาทุกมิติ โดยมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพประชาชน (Human Capital) ซึ่งการพัฒนาคุณภาพการศึกษาต้องอาศัยปัจจัยด้านการเรียน การสอน และการจัดการ มีการปรับเปลี่ยนสถานะโรงเรียนเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ชุมชน มีการสอนเป็นทีม

ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ ประธานกรรมการพัฒนาระบบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สมศ.) ได้กล่าวถึงสิ่งที่ต้องปลดล็อกการศึกษาไทย 4 ประการ คือ การศึกษาต้องปลอดจากอิทธิพลทางการเมือง การได้คนดี-คนเก่งมาบริหารบ้านเมือง ผู้บริหารมีการใช้ข้อมูลและงานวิจัยเพื่อประกอบการตัดสินใจ และการให้อิสระแก่สถานศึกษา

ผศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค อดีตรองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ดำเนินการอภิปราย ได้สรุปว่า การปฏิรูปต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีแนวทางที่สามารถปฏิบัติได้จริง และสิ่งสำคัญจะต้องมีเจ้าภาพที่รับผิดชอบที่ชัดเจน เนื่องจากหลายครั้งในเวทีแห่งการปฏิรูปล้วนมีแนวคิด แนวทางที่สร้างสรรค์อย่างมากมาย แต่สุดท้ายที่ไม่สามารถเห็นผลได้เนื่องจากไม่มีผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนต่างๆ

ทั้งนี้เครือข่ายนักวิชาการ มก.จะประชุมเพื่อสรุปแนวทางการปฏิรูปการศึกษาอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 8 สิงหาคม 2557 เวลา 09.00-16.00 น. ณ อาคารบุญอินทรัมพรรย์ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


ที่มา:หนังสือพิมพ์บ้านเมืองวันพุธที่ 06 สิงหาคม พ.ศ. 2557