การศึกษาภายหลังปี 2558

การประชุมระดับรัฐมนตรีศึกษา เกี่ยวกับการศึกษาภายหลังปี 2558

โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพฯ – ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีศึกษา เกี่ยวกับการศึกษาภายหลังปี 2558 (Ministerial Forum on Education Beyond 2015) และงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำแก่ผู้เข้าร่วมประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการศึกษาในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Regional Education Conference : APREC) เมื่อค่ำวันที่ 7 สิงหาคม 2557

ปลัด ศธ.กล่าวว่า การประชุมระดับรัฐมนตรีศึกษาฯ ในวันนี้ นับเป็นโอกาสดีที่จะได้หารือและพิจารณาเรื่องของการศึกษาในหัวข้อที่สำคัญ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการดำเนินงานการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) โดยจะมีการอภิปรายถึงความสำเร็จด้านการศึกษา ทบทวนบทเรียนจากการดำเนินงานที่ผ่านมา กำหนดทิศทางและตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายด้านการศึกษาที่จำเป็นในอนาคต รวมทั้งเป้าหมายที่จะช่วยขับเคลื่อนการศึกษาภายหลังปี 2558 และนำไปสู่การประชุมโลกด้านการศึกษา ในปี 2558 ที่เมืองอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี

การประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการศึกษาในเอเชียแปซิฟิก จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลและพิจารณาถึงความก้าวหน้า ความสำเร็จ ความล้มเหลวของการดำเนินการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ผ่านมา การดำเนินงานในวาระเกี่ยวกับการศึกษาที่ยังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายของการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน อีกทั้งเพื่อก่อให้เกิดข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการศึกษา การพัฒนาการศึกษาของโลก และส่งเสริมให้เกิดกรอบการดำเนินการในระดับนานาชาติ

ดังนั้น ต้องร่วมมือกัน แลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ และความรู้ความชำนาญ เพื่อรับมือกับความท้าทายในการจัดการศึกษาของภูมิภาคในอนาคต อีกทั้งต้องมองไปถึงอนาคต คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ผ่านมาและที่กำลังเกิดขึ้น วิวัฒนาการด้านการศึกษาที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของแต่ละประชาคมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

จากที่มีความร่วมมือในการบรรลุเป้าหมายของการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน จึงเชื่อมั่นว่าการประชุมในครั้งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อตัวบุคคล หน่วยงานระดับชาติ และองค์กรระหว่างประเทศ ในการดำเนินการร่วมกันต่อไปในอนาคต ภายใต้ความเป็นผู้นำ คำแนะนำ และการประสานงานขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก

การดำเนินการด้านการศึกษาเพื่อปวงชน เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2553 ที่อำเภอจอมเทียน จังหวัดชลบุรี ซึ่ง ศธ.รู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการประชุมระดับภูมิภาคด้านการศึกษาเป็นครั้งแรก ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ลงทุนด้านการศึกษาเป็นจำนวนมาก และดำเนินการอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าสุขภาวะและความสำเร็จในอนาคตของพลเมืองในประเทศ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของการศึกษาที่ได้รับ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมุ่งเน้นที่การปฏิรูปการศึกษาใน 6 ประเด็น คือ ปฏิรูปครู เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา เพิ่ม-กระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม ปฏิรูประบบการบริหารจัดการสถานศึกษา เพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน และเพิ่มการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา นอกจากนี้ จะให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ ส่งเสริมให้คนไทยมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต การคิดวิเคราะห์ และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นพลเมืองที่ดี มีวินัย คุณธรรมและจริยธรรม รวมถึงการส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์เอกลักษณ์ ค่านิยมของความเป็นไทย และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสงบสุข สมานฉันท์

ทั้งนี้ ได้เห็นพ้องต้องกันกับแนวคิดของความเป็นพลเมืองโลก และเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของพลเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ประชาชนคนไทยจะต้องได้รับการศึกษาเพื่อก้าวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สุดท้ายนี้ รู้สึกยินดีและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนที่มีคุณภาพ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีความร่วมมือกันในการบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมนี้ และทำให้เกิดการสนับสนุนในทางบวก ซึ่งนำไปสู่การจัดการประชุมโลกด้านการศึกษา ที่เมืองอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี


ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 171/2557

กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
8/8/2557