เล็งติดดาบสกอ.แก้หลักสูตรเฟ้อ เผยตัวเลขบัณฑิตตกงานอื้อปีละ1.5แสน

กฤษณพงศ์ลั่นในร่าง กม.อุดมฯ ต้องติดดาบให้ สกอ.มีอำนาจอนุมัติเปิดหลักสูตรของมหาวิทยาลัย แก้ปัญหาเปิดสาขาวิชาเฟ้อ ผลิตบัณฑิตไม่ตรงความต้องการของประเทศ เผยข้อมูลแต่ละปีมีบัณฑิตตกงาน 1.5 แสนคน หรือหางานทำได้เพียง 1 จาก 3 คน ทำให้งบสูญเปล่า-เบี้ยวหนี้ กยศ. จี้จิตสำนึกมหา\'ลัย เปิดตัวเลขการได้งานทำของบัณฑิต พร้อมทั้งรายได้จากการเปิดหลักสูตร
ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศึกษาธิการ) เปิดเผยภายหลังประชุมหารือทิศทางการทำงานของอุดมศึกษากับ นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา รศ.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และ ศ.วิชัย ริ้วตระกูล รองประธาน กกอ. ว่าได้หารือกับ กกอ.เกี่ยวกับการสร้างกลไกของ กกอ.เข้าไปดูแลการเปิดหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา เพราะปัจจุบันมีการเปิดมหาวิทยาลัยใหม่ๆ และเปิดหลักสูตรใหม่ๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด และไม่สามารถที่จะหยุดยั้งได้ การเปิดหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาจึงอยู่ในภาวะที่เฟ้อ จากข้อมูลในรอบดู 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้ที่จบปริญญาตรี 3 คน สามารถหางานทำได้ในปีแรกเพียง 1 คนเท่านั้น โดยรวมแต่ละปีจะมีบัณฑิตที่ไม่สามารถหางานทำทันทีที่สำเร็จการศึกษาถึง 150,000 คน และยังมีอีกจำนวนมากที่ทำงานต่ำกว่าวุฒิ ได้รายได้ต่ำกว่าวุฒิ ทั้งหมดนี้เพราะมีการเปิดสาขาวิชาที่มากเกินไปและไม่ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงยังมีปัญหาในเรื่องของคุณภาพด้วย ทำให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาไม่สามารถหางานทำได้
รมช.ศธ.กล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นความเสี่ยงในเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศและผู้เรียน เฉลี่ยแล้วผู้เรียนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายตลอดการเรียนปริญญาตรีประมาน 3-4 แสนบาทต่อคนเป็นอย่างต่ำ แต่เรียนจบออกมาแล้วกลับไม่สามารถหางานได้ปีละ 150,000 คน รวมๆ แล้วเป็นตัวเลขความสูญเสียที่มหาศาลของผู้เรียนและผู้ปกครอง ขณะที่รัฐเองก็สูญเสียด้วย ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัย รวมถึงสนับสนุนงบประมาณให้กับกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แต่มหาวิทยาลัยกลับผลิตกำลังคนไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ จึงคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ตนจะเข้าไปแก้ปัญหา ประเด็นหลักก็คือต้องทำให้ กกอ.ต้องมีบทบาทในการอนุมัติการเปิดหลักสูตรให้ได้ โดยพิจารณาจากความต้องการของประเทศ ปัจจุบัน กกอ.ไม่มีอำนาจเลย การตัดสินใจเปิดหลักสูตรขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัย โดยอาจจะยกร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ให้อำนาจดังกล่าวแก่ กกอ.
นายกฤษณพงศ์กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นอาจจะหาทางให้มหาวิทยาลัยต้องแจ้งข้อมูลต่อสาธารณะเกี่ยวกับตัวเลขการมีงานทำของบัณฑิตที่จบสาขาวิชาต่างๆ รวมถึงอัตราเงินที่บัณฑิตได้รับจริง ปัจจุบันแม้แต่รัฐมนตรีก็ไม่มีอำนาจสั่งให้มหาวิทยาลัยชี้แจงข้อมูลดังกล่าว รวมถึงให้มหาวิทยาลัยแจ้งรายได้จากการเปิดหลักสูตรต่างๆ ด้วย แต่ถ้าสามารถทำให้มหาวิทยาลัยเปิดเผยข้อมูลนำข้อมูลเผยแพร่ออกไป ก็จะทำให้ผู้เรียนและผู้ปกครองได้มีข้อมูลตัดสินใจว่าจะเลือกเรียนสาขาวิชาอะไร
“ปัญหาผลิตบัณฑิตเฟ้อนี้ ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเบี้ยวหนี้ในการกู้เงิน กยศ. เพราะบัณฑิตจบออกมาแล้วก็ไม่มีงานทำ ฉะนั้นจึงอยากให้มหา\'ลัยเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะทั้งหมด มหา\'ลัยไม่ควรจะมีรายได้ในขณะที่ลูกศิษย์ตัวเองต้องตกงานและเป็นหนี้ มหา\'ลัยมีรายได้ แต่ผู้เรียนและรัฐเสียประโยชน์ เพราะฉะนั้นต้องลดการสูญเปล่าก่อน จากนั้นค่อยผลักดันให้มหาวิทยาลัยตอบโจทย์ในทางที่ถูกต้อง คือสนองความต้องการของประเทศและพื้นที่ และมีส่วนในการสร้างเศรษฐกิจและสังคม” รมช.ศธ.กล่าว
นายกฤษณพงศ์กล่าวอีกว่า \"ในการหารือยังมีการพูดคุยถึงการ Review profile มหาวิทยาลัย ว่าจะต้องมีการทบทวนการทำงานของมหาวิทยาลัยทั้งหมด ไม่ว่าการผลิตคนที่ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ ผลิตคนขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ผลิตคนที่รองรับการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่ ผลิตคนที่มีศักยภาพ (Smart) ในการแข่งขันเวทีระดับโลก ตลอดจนรองรับการพัฒนาตัวเองของคนวัยทำงานกว่า 20-30 ล้านคน ส่วนมหาวิทยาลัยวิจัยก็ต้องตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจระดับประเทศ ระดับพื้นที่ เช่น บริเวณเกตเวย์เข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เขตเศรษฐกิจเฉพาะ นิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งการวิจัยเพื่อแข่งขันในเวทีโลกด้วย ทั้งนี้ กกอ.จะต้องไปหารือกับกลุ่มมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่าต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนด้านใดบ้าง เช่น แนวทางการพัฒนาครู ทั้งครูในปัจจุบัน/ครูใหม่ ทุนการศึกษา ทุนการพัฒนา ระบบการจัดสรรงบประมาณ ตลอดจนถึงการประเมินทั้งภายในและภายนอก นอกจากนั้นยังมีการหารือเรื่องการสอบรับตรงของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะมีการพูดคุยกับในอีก 2 อาทิตย์ข้างหน้า.


ที่มา:หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ Friday, 26 September, 2014 - 00:00