ฟันธงเพิ่มสัดส่วนโอเน็ต50%จบช่วงชั้น เตรียมออกเป็นประกาศรมว.ศธ.เพื่อมี

\"กมล\" ยืนยันเดินหน้าแก้กฎกระทรวงใช้อำนาจ รมว.ศธ.เพิ่มสัดส่วนใช้คะแนนโอเน็ตในการจบ 3 ช่วงชั้นการศึกษาเป็น 50:50 ย้ำยังไงก็ต้องสอบเพื่อวัดมาตรฐานแต่ละโรงเรียน หวังนำไปแก้จุดอ่อน
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มนักเรียนเครือข่ายยุวทัศน์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกประกาศเรื่องการปรับสัดส่วนการใช้ผลแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ให้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เหตุผลเพราะการดำเนินการเช่นนี้เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำ และสร้างความหนักใจให้แก่ผู้เรียน อีกทั้งตัวแบบทดสอบเองก็ไม่มีความเป็นกลาง ว่า ตนเข้าใจถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี และเตรียมที่จะหารือกับสำนักติดตามและประเมินผลทางการศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อทบทวนประกาศ ศธ. เรื่องการปรับสัดส่วนการใช้ผลคะแนนโอเน็ตอีกครั้ง และหากมีการปรับแก้ก็สามารถใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ดำเนินการได้ทันที สำหรับในเรื่องข้อสอบที่ไม่มีความเป็นกลางนั้น เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ที่จะไปดำเนินการกำหนดแนวทางการออกข้อสอบให้มีความเป็นกลางมากขึ้น
นายกมลกล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ในปีการศึกษา 2557 จะเป็นปีแรกที่โรงเรียนสังกัด สพฐ.ต้องนำคะแนนโอเน็ตมาใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในสัดส่วน 30% ร่วมกับคะแนนผลการเรียนสะสมตลอดหลักสูตร หรือจีพีเอเอ็กซ์ ในสัดส่วน 70% หรือสัดส่วน 70:30 ตามที่กำหนดไว้ในประกาศ ศธ. และในปีการศึกษา 2558 นี้ จะเพิ่มใช้สัดส่วนของคะแนนโอเน็ตเป็น 50% ทำให้เด็กก็เกิดข้อขัดแย้ง และเห็นว่าเป็นการเพิ่มสัดส่วนที่มากเกินไป อาจส่งผลให้เป็นภาระแก่ผู้เรียนได้ โดย สพฐ.เข้าใจถึงปัญหานี้และพร้อมจะกลับไปพิจารณาใหม่ เพราะตามหลักการแล้วควรจะขยับคะแนนโอเน็ตจาก 30% เป็น 40% ไล่ไปเรื่อยๆ มากกว่าการก้าวกระโดดจาก 30% เป็น 50% ถือว่าค่อนข้างเยอะ
“หากจะให้ยกเลิกประกาศการใช้คะแนนสอบโอเน็ตในการตัดสินจบช่วงชั้นนั้นคงไม่สามารถทำได้ แต่หากมองตามหลักวิชาการแล้ว เรื่องนี้สามารถพูดคุยทำความเข้าใจและปรับแก้ไขกันได้ เพราะการสอบโอเน็ตจะทำให้เรารู้มาตรฐานภาพรวมของประเทศ ว่าโรงเรียนแต่ละโรงมีผลสัมฤทธิ์สูงหรือต่ำ เพื่อที่ สพฐ.จะได้ปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนต่อไปได้” เลขาฯ กพฐ.กล่าว.


ที่มา:หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ Tuesday, 17 February, 2015 - 00:00