สาเหตุของการศึกษาไทยตกต่ำ

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 มีข่าวเรื่องการสอบโอเน็ตว่านักเรียนสอบได้คะแนนต่ำลง ค่าเฉลี่ยคะแนนในแต่ละวิชาส่วนใหญ่ไม่ถึงร้อยละ 50 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ออกมาวิจารณ์โดยกล่าวส่วนหนึ่งว่า หลายคนมองว่าสาเหตุที่คะแนนลดลงอย่างหนึ่งคือการสอนแบบเน้นการท่องจำ........ เป็นการโทษความจำว่าทำให้การศึกษาตกต่ำ แต่ผมเห็นว่ามันตรงข้ามคือ “จำไม่ได้จึงไม่มีความรู้” จะเห็นได้ว่าเคยมีหลายคนสอบโอเน็ตได้คะแนนศูนย์ เป็นไปได้ไง?

นักการศึกษาไทยชอบทำตามฝรั่งตะพึด ฝรั่งมีแนวคิดอย่างไรก็มักจะพยายามทำตาม พวกฝรั่งส่วนใหญ่มีแนวคิดจากการวิจัยเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำให้นักการศึกษาไทยเอานักเรียนไทยเป็นหนูตะเภาทดลองทำตามอย่างฝรั่ง ตัวอย่างเช่น 1. สมัยก่อนมีการแยกโรงเรียนหญิงโรงเรียนชายตามฝรั่ง แล้วฝรั่งรุ่นหลังมีข้อมูลใหม่ว่ามันไม่ดีเพราะผิดธรรมชาติเมืองไทยจึงเปลี่ยนเป็นสหศึกษาตามเดิม 2. อีกตัวอย่างหนึ่งฝรั่งเคยมีแนวคิดว่าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรสอนการบ้านเด็กเพราะสอนผิดแล้วทำให้เด็กเสียหาย ระยะหลังนี้เปลี่ยนแนวคิดตามฝรั่งรุ่นใหม่ว่าการที่พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยสอนเด็กจะทำให้เด็กเรียนได้ดีขึ้น (นอกจากนี้ก็มีแนวคิดเรื่อง Child Center, เรื่องลดชั่วโมงเรียนเพื่อให้เด็กมีเวลาคิดสร้างสรรค์) แล้วทุกวันนี้ก็มาถึงแนวคิดว่าเรียนแบบ “ท่องจำ” ไม่ดีตามแบบฝรั่ง ไม่ดีอย่างไร?

ผมมีความเห็นตรงข้ามคือ ไม่มีวิชาใดที่ไม่ต้องจำ การสอนไม่ให้ท่องจำมันไม่เหมือนกับการสอนว่าให้เข้าใจเพื่อที่จะจำได้ แต่ทุกวันนี้นักเรียนไทยตีความหมายของคำว่าไม่ต้องท่องจำเป็นว่า “ไม่ต้องจำอะไรเลย” เมื่อจบการเรียนการสอนการบรรยายในชั้นเด็กหลายคนแทบจะไม่ได้อะไรเพราะไม่พยายามจำอะไรเลย (ก็ครูบอกว่าไม่ต้องท่อง) แลครูในเมืองไทยสมัยนี้ไม่กล้าสอนให้เด็กท่องจำอะไรเลยเพราะกลัวถูกนายเพ่งเล็งว่าไม่ทันสมัย ผมเคยคุยกับครูและอาจารย์หลายคนต่างก็รู้สึกไม่กล้าทำตรงข้ามกับนโยบายของกระทรวงที่ว่า “ไม่ต้องจำ” เรื่องนี้ไปไกลถึงขนาดว่าสมัยนี้โรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งโฆษณาความวิเศษของการสอนของตนว่า “ไม่ต้องจำ” ผมว่าเรียนแล้วจำไม่ได้เลยจะไปเสียเวลาเรียนทำไม ข้อสอบส่วนมากต้องใช้ความจำทั้งนั้น แม้แต่ข้อสอบวิเคราะห์ก็ยังต้องจำข้อมูลพื้นฐานได้ก่อนจึงจะวิเคราะห์ได้ ดูเหมือนว่าคำว่า “ไม่ต้องจำ” จะเป็นสิ่งที่โก้หรูสำหรับคนไทยที่จะอวดตัวว่าฉลาดล้ำในยุคนี้

นักเรียนนอกเช่นคอลัมนิสต์ของบางกอกโพสต์หลายคนชอบเขียนว่าการศึกษาไทยล้มเหลวเพราะการเรียนแบบท่องจำ เขาใช้คำว่า “Rote Learning Fails Thai Education” พวกนักเรียนนอกนักเรียนโรงเรียนอินเตอร์ชอบแสดงความเห็นว่านักเรียนไทยเราเรียนกันมากเกินไป เรียนที่โรงเรียนแล้วยังต้องไปเรียนกวดวิชาอีกน่าสงสาร นักเขียนพวกนี้พูดอย่างนี้ได้เพราะตัวเองเรียนแบบโรงเรียนฝรั่งส่วนมากเวลาจะเข้ามหาวิทยาลัยเขาก็เอาแค่เกรดไปสมัครเข้า ไม่ต้องไปสอบเอ็นทรานซ์แข่งขันกันมากมาย (ยกเว้นส่วนน้อยถ้าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ ที่ต้องแข่งขันกันมากทั้งสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ก็ต้องเตรียมตัวอย่างหนักเช่นกัน) แม้แต่โรงเรียนอินเตอร์ในเมืองไทย มหาวิทยาลัยไทยก็เตรียมอิงลิชโปรแกรมไว้คอยรับอยู่แล้ว ไม่ต้องแข่งขันอะไรมาก บางภาควิชาที่ผมรู้เช่นวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษเขาสอบแค่การเขียน Essay เท่านั้น ไม่ต้องไปสอบภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เหมือนเด็กไทยเวลาสอบเอ็น การที่ต้องแข่งขันกันมากจึงต้องกวดวิชาจึงต้องเรียนมากเป็นเรื่องธรรมดา

นักเรียนเก่งๆ ที่เขาจะไปสอบแข่งขันโอลิมปิก แม้ว่าจะเก่งอยู่แล้วแต่เขายังต้องจับเด็กพวกนี้มาเข้าค่ายติวเข้ม ยัดความรู้โดยอาจารย์ที่เก่งและสอนเก่ง (ส่วนมากเคยเป็นเด็กโอลิมปิกเก่า) และให้ทำแล็บวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อให้มีความเข้าใจจดจำมีความรู้ความคิดและวิเคราะห์เป็น ครูคนหนึ่งกล่าวว่า “ไม่มีวิชาไหนที่ไม่ต้องจำ”

การเรียนแล้วจำไม่ได้เลยแล้วจะได้ความรู้อะไรครับ มีวิชาไหนบ้างที่ไม่ต้องจำ มีตำรามากมายที่เขาเห็นความสำคัญของความจำ เขาสอนเทคนิคช่วยจำเพื่อให้นักเรียนจำเนื้อหาวิชาได้ แต่เมืองไทยครูไทยไม่กล้าสอน มิน่าเล่าเด็กจึงไม่มีความรู้ที่จะสอบผ่านโอเน็ตได้ ตั้งแต่สมัยที่ครูเทพ หรือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเคยเขียนบทความในสมัยก่อนเมื่อเห็นคนไทยยังโง่ตีปีบไล่ราหูอมจันทร์ว่า “ควรจะมีพระราชบัญญัติประถมศึกษากันได้หรือยัง” พอมีกฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้ การศึกษาไทยก็ขยับเขยื้อนเคลื่อนที่พัฒนาขึ้นมา สำหรับสมัยนี้ผมคิดว่าแนวคิดที่ว่า “ไม่ต้องจำ” หรือไม่สอนให้ท่องในสิ่งที่ต้องจำ เป็นบ่อเกิดของความล้มเหลวการศึกษาไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งในปัจจุบัน ถึงเวลาแล้วที่เจ้ากระทรวงศึกษาธิการจะต้องลงมือทำการลบหรือ Delete แนวคิด “ไม่ต้องจำ” ออกจากกระทรวงศึกษาไทย และสมองของครูไทยให้หมดได้แล้ว ถ้าอยากจะปฏิรูปการศึกษา.

โดย...นพ.นริศ เจนวิริยะ


ที่มา:หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 19 มีนาคม 2558 13:50 น.