ประวัติ

โรงเรียนแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2465 ณ ศาลาวัดร้าง ในท้องที่หมู่ 4 โดยหลวงสมประสาทย์ นายอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาทเป็นผู้จัดตั้งขึ้น มีนายสนิท ปานสิงห์ เป็นครูใหญ่ ต่อมาหลวงกิจจานุการ นายอำเภอมโนรมย์ขอย้ายข้ามเขตมาอาศัยศาลาวัดท่าซุงในท้องที่ หมู่ 1 ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ให้นายเต็ม ขำเปรมศรี เป็นครูใหญ่ จนถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2470 ต่อมาทางราชการได้บรรจุ นายสุวรรณ สุขปิยังคุ และได้แต่งตั้งให้เป็นครูใหญ่ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2473
โรงเรียนนี้ได้ย้ายที่ตั้งอีกครั้ง เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2485 ไปอยู่ที่ศาลาวัดยาง ท้องที่หมู่ 2 ตำบลท่าซุง อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เพราะทางจังหวัดอุทัยธานี ต้องการสร้างโรงเรียนของจังหวัดอุทัยธานีขึ้นเอง เมื่อ พ.ศ. 2488 ทางราชการได้โอน 3 ตำบล ของ อำเภอมโนรมย์ ซึ่งมีตำบลท่าซุงด้วย ให้มาขึ้นกับอำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี โรงเรียนซึ่งอาศัยศาลาวัดยางอยู่จึงย้ายมารวมกับโรงเรียนวัดท่าซุง และย้าย นายจันทร์ บุญธัญกิจ ครูใหญ่โรงเรียนวัดท่าซุง ไปเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านภูมิธรรม แล้วแต่งตั้ง นายสุวรรณ สุขปิยังคุ เป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดท่าซุงต่อไปการศึกษาของโรงเรียนวัดท่าซุง มีความเจริญขึ้นเป็นลำดับ จำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น ศาลาวัดท่าซุงเริ่มคับแคบ นายสุวรรณ สุขปิยังคุ คณะครูและผู้ปกครองนักเรียน ได้นำเรื่องเสนอนายอำเภอ และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี นายสุวรรณ เจนสาริกรณ์ ศึกษาธิการอำเภอเมืองอุทัยธานี ได้เสนอวิธีการหาเงินโดยบอกบุญกับประชาชนที่มีจิตศรัทธา ได้เงินมา 7,358 บาท และได้เงินสมทบจากคุณหญิงภักดี นรเศรษฐ์ (สิน) จำนวน 51,000 บาท และได้มีข้าราชการได้บริจาคเพิ่มอีก 700 บาท จึงได้ทำการประมูลก่อสร้างอาคาร แบบ 004 สองชั้น กว้าง 8 เมตร ยาว 36 เมตร สร้างได้เพียงชั้นบนชั้นเดียว แล้วเสร็จเมื่อ วันที่ 2 ธันวาคม 2497
ต่อมา ปี พ.ศ. 2498 ฯพณฯ ท่าน จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมา จังหวัดอุทัยธานี และได้เดินทางผ่านโรงเรียนวัดท่าซุง และได้เข้าตรวจเยี่ยมโรงเรียนและได้มอบเงินจำนวน 25,000 บาท ให้ต่อเติมชั้นล่างให้เสร็จสิ้น
ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2503 ทางโรงเรียน ได้ปรับปรุงขยายชั้นเรียน ประถมปลาย (ป.1 – ป.7) เป็นทางการ ทางอำเภอจำเป็นต้องปรับปรุงตัวบุคลากรโดยเฉพาะผู้บริหาร ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และมีวุฒิสูงตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของทางราชการ จึงได้ย้ายนายสุวรรณ สุขยังคุ ครูใหญ่ไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนวัดท่าซุง และแต่งตั้ง นายสนิท ทิพยวัลย์ มาดำรงตำแหน่ง ครูใหญ่โรงเรียนวัดท่าซุงแทน นายสุวรรณ สุขปิยังคุ
ปี พ.ศ. 2509 ทางราชการได้แต่งตั้ง นายสนิท ทิพยวัลย์ ไปดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ จังหวัดอุทัยธานี และได้แต่งตั้ง นายสิงโต กางกรณ์ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านท่าตาโป้ย มาดำรงตำแหน่ง ครูใหญ่โรงเรียนวัดท่าซุง (เลิศ – สิน อุปถัมภ์) ในระยะเวลาที่นายสิงโต กางกรณ์ มาปฏิบัติหน้าที่โรงเรียนนี้ ได้ปรับปรุงโรงเรียนวัดท่าซุงให้เจริญก้าวหน้า ได้รับความร่วมมือจากอนามัยอำเภอ ได้จัดตั้ง ถังน้ำประปา และเจาะบ่อบาดาลเพื่อให้นักเรียนได้มีน้ำสะอาดไว้ใช้และดื่มในโรงเรียนต่อไป
ปี พ.ศ. 2510 ทางราชการได้ย้าย นายสิงโต กางกรณ์ ไปดำรงตำแหน่ง ครูใหญ่ โรงเรียนวัดหนองเต่า และแต่งตั้ง นายจิรันทร์ เพ็ญสุข ครูใหญ่โรงเรียนวัดหนองเต่า มาดำรงตำแหน่งโรงเรียนวัดท่าซุง มีนายประจวบ เปรมจิตต์เป็นผู้ช่วย ครูใหญ่ จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ อาคารเรียนที่มีอยู่เริ่มคับแคบ
ปี พ.ศ. 2511 นายจิรันทร์ เพ็ญสุข ครูใหญ่จึงดำเนินการจัดทำเรื่องของบประมาณ สร้างอาคารเรียนเพิ่มขึ้นอีกหลังหนึ่ง ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 36 เมตร 4 ห้องเรียน โดยใช้งบประมาณ 130,000 บาท (หนึ่งแสนสามหมื่นบาท) ทางราชการอนุมัติสร้างแล้วเสร็จ ในเดือน กรกฎาคม 2511 นายสง่า จันทรสาขา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีประกอบพิธีเปิด อาคารหลังนี้ (แบบ ป.1 ข) และในปี พ.ศ. 2511 ทางราชการประกาศให้โรงเรียนวัดท่าซุงเป็นประถมปลายภาคบังคับ มีนักเรียน 350 คน ครู 13 คน นายจิรันทร์ เพ็ญสุข บริหารงานเจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ ได้ปรับปรุงการเรียนการสอน อาคารสถานที่ได้สวยงาม จัดโรงเรียนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และปรับปรุงการเรียนการสอน สร้างประตูรั้วโรงเรียนก่ออิฐถือปูนมั่นคงแข็งแรงโดยได้งบประมาณ 5,000 บาท (ห้าพันบาท) และสร้างโรงอาหารแบบกรมสามัญ (แบบ 312)
ในปี พ.ศ. 2515 ทางราชการได้ย้ายนายจิรันทร์ เพ็ญสุข ให้ไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่ โรงเรียนวัดหนองเต่า และได้แต่งตั้ง นายสมควร เรืองวงษ์
ครูใหญ่โรงเรียนวัดหนองเต่า มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนวัดท่าซุง และได้รับงบประมาณ มาซ่อมแซมอาคารเรียน 1 หลัง โดยทำการซ่อมหลังคา ฝาและพื้น ทาสี กับให้งบประมาณสร้างอาคารเรียนหลังที่ 3 อีก 1 หลัง ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 36 เมตร 4 ห้องเรียน แบบ (ป. 1 ข) มีอุปกรณ์ครบ ใช้งบประมาณ 180,000 บาท (หนึ่งแสนแปดหมื่นบาท)
ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ทางราชการได้ย้ายนายสมควร เรืองวงษ์ ไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนวัดท่าทอง และย้ายนายถวิล เพ็ญสุข ครูใหญ่โรงเรียนบ้านท่าทอง มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนวัดท่าซุง ต่อมาคณะครูได้มอบเงิน 5,000 บาท (ห้าพันบาท) จัดซื้อเครื่องขยายเสียง โต๊ะหมู่บูชา ชุดรับแขก และได้รับงบประมาณจากโครงการ ช.พ.ร.ด. 5,000 บาท ซ่อมฝาและหลังคาเรียน อาคารหลัง 2 เสร็จเรียบร้อย
ในปี พ.ศ. 2519 ได้เจาะบ่อบาดาลใหม่จนใช้ได้และของบประมาณ พ.ป.ช. จำนวน 30,000 บาท (สามหมื่นบาท) ซ่อมอาคารเรียนหลัง 1 ชั้นล่าง โดยเปลี่ยนจากฝาไม้เป็นก่ออิฐถือปูนและทาสีเสร็จเรียบร้อย
ในปี พ.ศ. 2520 คณะครู นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน บริจาคทรัพย์เพื่อช่วยซื้ออุปกรณ์ ดังนี้ ซื้อ เทป 1 เครื่อง เป็นเงิน 1,244.50 บาท ซ่อมเรือนเพาะชำ 1,000 บาท ซื้อกลองพาเหรด 1 ชุด เป็นเงิน 1,200 บาท ก่อสร้างกระถางดอกไม้เป็นเงิน 2,000 บาท ศูนย์สุขาภิบาลเขต 6 มอบเงิน 1,000 บาท ปรับปรุงสุขาภิบาล โดยครูบริจาคเพิ่ม 7,000 บาท งานเสร็จเรียบร้อย
ใน พ.ศ. 2521 กรมทรัพยากรธรณี ได้ติดตั้งหม้อกรองน้ำให้ 1 ที่ เพื่อให้นักเรียนได้ดื่มน้ำสะอาดและในปีนี้โรงเรียนได้รับคัดเลือก เป็นโรงเรียนดีเด่นของจังหวัดอุทัยธานี
ในปี พ.ศ. 2522 ได้จัดตั้งสหกรณ์โรงเรียนเพื่อฝึกให้นักเรียนรู้จักใช้บริการและกระบวนการสหกรณ์ดีขึ้น ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายด้วยดี
ในปี พ.ศ. 2523 ทางราชการได้ตั้งโรงเรียนวัดท่าซุงเป็นโรงเรียนชุมชน ใช้ชื่อเต็มว่า โรงเรียนชุมชนวัดท่าซุง (เลิศ – สิน อุปถัมภ์)

วิสัยทัศน์

โรงเรียนชุมชนวัดท่าซุง(เลิศ-สินอุปถัมภ์) ให้การสนับสนุน และส่งเสริมให้บุคลากรมีการพัฒนาด้านความรู้ความสามารถ เพื่อนำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียน การสอนที่หลากหลายโดยเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ มุ่งให้นักเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อ และสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ มุ่งส่งเสริมให้นักเรียนระเบียบวินัย มีสุขภาพพลานามัยและสุขนิสัยที่ดี ใช้คอมพิวเตอร์พื้นฐานได้ จัดอาคารสถานที่ให้สะอาด ร่มรื่น เหมาะสม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน โดยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น และชุมชน

คำขวัญ

สุขภาพดี ทวีปัญญา
มายาทเด่น เน้นวินัย
ประชาธิปไตยเลิศล้ำ มีคุณธรรมทั่วหน้า

พันธกิจ

1. ส่งเสริม สนับสนุน ครูผู้สอนทุกคนให้ได้เข้ารับการอบรม สัมมนา พัฒนา ความรู้
ความสามารถ เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยมุ่งเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ
2. ส่งเสริมให้นักเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อ และ
สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
3. ส่งเสริมให้นักเรียนระเบียบวินัย
4. ส่งเสริมให้นักเรียนมีสุขภาพพลานามัยและสุขนิสัยที่ดี
5. ส่งเสริมให้นักเรียนสามารถใช้คอมพิวเตอร์พื้นฐานได้
6. ปรับปรุงอาคารสถานที่ให้สะอาด ร่มรื่น เหมาะสม
7. ปลูกฝังให้นักเรียนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชน
8. มุ่งใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ตามความเหมาะสม

เป้าหมาย

1. ผู้ที่เข้าโรงเรียนแล้วสามารถเรียนจบทุกช่วงชั้น
2. ครูทุกคนสามารถจัดกระบวนการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
3. นักเรียนอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
4. นักเรียนมีสุขภาพอนามัยที่ดี มีระเบียบวินัย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90
5. โรงเรียนมีระบบการบริหารการจัดการที่ดี มีการใช้เทคโนโลยี ผ่านเกณฑ์คุณภาพดี ร้อยละ 50

อักษรย่อ

ว.ท.ซ.

ปรัชญา

วิชชาจรณสมฺ ปนฺโน เสฎฺโฐ คนมีความรู้และประพฤตดี ประเสริฐที่สุด