ประวัติ

เมื่อปี พ.ศ. 2470 พ่อมา แม่นวล ได้อพยพมาจากบ้านแดง ต.หนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม มาตั้งฐิ่นฐานอยู่บริเวณที่โนหรือที่ดอน ซึ่งชาวบ้านเรียกลักษณะของป่าเช่นนี้ว่า”เหล่า” ซึ่งมีต้นละหุ่งมากมาย ต่อมามีคนจากบ้านโนนขี้สูดอพยพมาสมทบ จึงตั้งชื่อว่าบ้านเหล่าหุ่ง มีนายทอง ปะเตนัง
และเมื่อปี พ.ศ.2479 หมู่บ้านโนนขี้สูด(บ้านย่อยของบ้านดงเค็ง)เกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรง จนทำให้ชาวบ้านล้มตายไปเป็นจำนวนมาก จากนั้นมีคนกลุ่มแรกจำนวน 6 ครอบครัว ซึ่งประกอบด้วย ครอบครัวนายแหล่ สิงห์เสน ครอบครัวนายจำปา ปัจจัย ครอบครัวนายซา ศรีพิษ ครอบครัวนายอ่ำ บุญเรือ ครอบครัวนางหนึ่ง ปิจจโร และครอบครัวนายโม้ ขันทัพไทย มาอยู่ตามหัวไร่ปลายนาของตนเอง ที่โนนหนองโอ้ ต่อมามีการกั้นทำฝายกั้นคลองย่อยของลำเสียวจึงเรียกว่าหนองนาฝาย ครั้นเมื่อตั้งหมู่บ้านในปี พ.ศ.2480 จึงตั้งชื่อว่าบ้านนาฝาย มีนายแหล่ สิงห์เสน เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก
ประชาชนทั้งสองหมุ่บ้านได้ ส่งบุตรหลานไปรับการศึกษาที่โรงรียนวัดบ้านหนองบัวซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ต่อมาทางราชการได้ยุบรวมโรงเรียนวัดบ้านหนองบัว และโรงเรียนวัดบ้านกุดอ้อเข้าด้วยกันโดยตั้งป็นโรงเรียนบ้านหนองบัวกุดอ้อซึ่งอยู่ระหว่างบ้านหนองบัวและบ้านกุดอ้อ ทำให้ชาวบ้านนาฝาย และบ้านเหล่าหุ่งต้องเดินทางไปโรงเรียนไกลมากขึ้น
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2504 จึงขอแยกโรงเรียนมาตั้งที่วัดบ้านนาฝาย มีชื่อว่าวัดบ้านนาฝาย ตำบลหัวเรือ อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม โดยเปิดสอนตั้งแต่ ป.1-4 มีครูที่ย้ายติดตามมาทำการสอน 2 คน คือ นายศิลา อันสุวรรณ และนายหิริชัย อำพันธ์
ปีการศึกษา 2516 ชาวบ้านเห็นว่าควรแยกโรงเรียนออกจากวัดเพื่อตั้งเป็นเอกเทศจึงเลือกทำเลที่ตั้งโรงเรียนใหม่ ในที่สุดก็มีผู้ที่เสียสละบริจาคที่ดินซึ่งเป็นที่ทำกินปลูกปอขาย อยู่ทิศใต้ติดกับหมู่บ้านจำนวน 2 รายได้แก่
1.นายบุญมา ประทุม บริจาคที่ดินส่วนที่ติดกับถนนสายบ้านเหล่าหุ่ง-บ้านโคก จำนวน 3 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา คิดเป็นมูลค่า 2,700.- บาทในขณะนั้น
2.นายทอง ปัตตานัง บริจาคที่ดินส่วนที่ติดกับนายบุญมา ประทุม เข้ามาทางทิศตะวันตก จำนวน 2 ไร่ 2 งาน 82 ตารางวา คิดเป็นมูลค่า 1,900.- บาทในขณะนั้น
รวมเนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 42 ตารางวา ทั้งสองคนที่บริจาคที่ดินดังกล่าวนับว่าเป็นแบบอย่างของผู้ที่เสียสละทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อความเจริญของประเทศชาติบ้านเมืองที่ควรได้รับการสรรเสริญยิ่งนัก
ชาวบ้านได้ร่วมใจกันก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว ขนาด 4 ห้องเสา จำนวน 1 หลังทางทิศเหนือของแปลงที่ดิน
วันที่ 9 ตุลาคม 2517 ได้รับงบประมาณ 15,000.- บาท สร้างอาคารแบบ ป.1 ฉ. เตี้ย 3 ห้องเรียน บนที่ดินที่ได้รับบริจาค
วันที่ 23 ธันวาคม 2517 ได้ย้ายจากวัดบ้านนาฝายมาทำการที่อาคารเรียนหลังใหม่ พร้อมเปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนวัดบ้านนาฝาย เป็น “โรงเรียนบ้านนาฝาย (ประทุมทองวิทยา)” โดยใช้นามสกุล และชื่อของผู้ที่บริจาคที่ดินต่อท้ายเพื่อให้เกียรติบุคนทั้ง 2 คนที่บริจาคที่ดินให้เป็นที่ก่อสร้างโรงเรียน
วันที่ ตุลาคม 2518 ได้รับงบประมาณก่อสร้างบ้านพักครู 1 หลัง
วันที่ 2 กันยายน 2522 ได้รับงบประมาณหมวดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 225,000.- บาท ปลูกสร้างอาคารแบบ ป.1 ฉ. สูง ขนาด 2 ห้องเรียน ทางทิศใต้ของอาคารเรียนแบบ ป.1 ฉ. เตี้ย 3 ห้องเรียน
วันที่ 15 กันยายน 2524 ได้รับงบประมาณ 140,000.- บาท ปลูกสร้างอาคารประกอบ(โรงฝึกงาน) แบบ 213 จำนวน 1 หลัง ทางทิศใต้ของอาคารเรียน ป.1 ฉ. สูง
วันที่ 19 ธันวาคม 2532 ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น โรงเรียนบ้านนาฝายเหล่าหุ่ง เนื่องจากคณะครู-อาจารย์ กรรมการศึกษา เห็นว่าชื่อโรงเรียนยังไม่เหมาะสมตามความนิยมเรียกขานของชุมชน อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมเขตพื้นที่บริการของโรงเรียน จึงได้ขอเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนบ้านนาฝายเหล่าหุ่ง” และใช้ชื่นี้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
วันที่ 25 เมษายน 2546 รื้อถอนบ้านพักครูเพราะอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก
วันที่ 6 ธันวาคม 2548 รื้อถอนอาคารแบบ ป.1 ฉ. เตี้ย 3 ห้องเรียนเพราะอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก
ปัจจุบันโรงเรียนบ้านนาฝายเหล่าหุ่ง มีอาคารเรียน 1 หลัง โรงฝึกงาน 1 หลัง อาคารชั่วคราว 1 หลัง (ชำรุดใช้การไม่ได้) ส้วม 2 หลัง (ชำรุด 1 หลังใช้การไม่ได้) ถังเก็บน้ำฝนแบบ ฝ.33 จำนวน 2 ชุด (ชำรุดรั่วที่ท้องฐานใช้การไม่ได้ทั้งหมด)
ปีการศึกษา 2554 เปิดสอนตั้งแต่ ชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปี่ที่ 6 มีนักเรียนจำนวน 33 คน มีเขตบริการ 2 หมู่บ้านคือบ้านนาฝายหมู่ที่ 12 และบ้านเหล่าหุ่งหมู่ที่ 14 ตำบลหัวเรือ อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคามครู 4 คน ลูกจ้างชั่วคราวตำแหน่งภารโรง 1 คน โดยมีนายพรเถลิง วิสุงเร เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน (28 กุมภาพันธ์ 2554 -ปัจจุบัน)

วิสัยทัศน์

ภายในปี การศึกษา 2555 โรงเรียนบ้านนาฝายเหล่าหุ่ง จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาของชาติทุกด้าน ปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยครูมืออาชีพ พัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม รักความเป็นไทย ก้าวไกลกับการใช้เทคโนโลยี อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมไทย มีนิสัยรักการอ่าน สืบสานตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

คำขวัญ

มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง

พันธกิจ

1.ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมและมีนิสัยรักการอ่าน
2.พัฒนาบุคลากรให้เป็นครูมืออาชีพ มีคุณธรรม และมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครูของคุรุสภา
3.จัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีการแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้สาระสนเทศที่หลากหลาย

เป้าหมาย

1.ผู้เรียนมีคุณภาพและมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาของชาติและอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
2.นักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 สามารถใช้เทคโนโลยีแสวงหาความรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน
3.ครูร้อยละ 90 สามารถนำกระบวนการวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน
4.จัดสภาพแวดล้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ และเอื้อต่อการจัดการเรียนการสอน มีความปลอดภัย ห่างไกลยาเสพติด
5.นักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

ปรัชญา

โย คาเว ชายเตภูริ / ปัญญาย่อมเกิดจากการฝึกฝน