ประวัติ

โรงเรียนบ้านดงม่วงหัวดงหนองบาก ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2482 โดยมีขุนวิสุทธิอักษร นายอำเภอบรบือ และนายสมบูรณ์ แสนศรี ศึกษาธิการอำเภอบรบือ เป็นผู้จัดตั้งขึ้นเรียกชื่อว่า โรงเรียนประชาบาลตำบลเขวาไร่ 14 (วัดบ้านดงม่วง) โดยแยกนักเรียนหมู่บ้านนี้ ที่เดินทางไปร่วมเรียนที่โรงเรียนบ้านเขวาไร่และโรงเรียนบ้านหนองคูขาด ทางราชการได้ย้ายนายบุญมี ศรีเทพ จากโรงเรียนบ้านม่วง ตำบลบัวมาศ อำเภอบรบือ มาเป็นครูใหญ่ และย้ายนายบุญจันทร์ เสนา มาเป็นครูน้อย เปิดเรียนวันแรกมีนักเรียนชาย 12 คน และนักเรียนหญิง 19 คน รวมเป็น 31 คน การเรียนการสอนแบ่งเป็น 5 ชั้น คือชั้นเตรียมประถมศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 4 จนถึง พ.ศ. 2494 ทางราชการได้ประกาศการศึกษาแห่งชาติใหม่ โดยยกเลิกชั้นเตรียมประถมศึกษา คงเหลือเปิดสอน 4 ชั้นเรียน ต่อมาคณะครูและชาวบ้านได้ขอย้ายอาคารเรียน จากศาลาวัดบ้านดงม่วงมาอยู่สถานที่ปัจจุบัน และได้รับงบประมาณจากทางราชการ 50,000 บาท ชาวบ้านบริจาคสมทบ 25,000 บาท จัดสร้างอาคารเรียนแบบ ป. 1 ฉ ขนาด 3 ห้องเรียน และก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2511 และเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนบ้านดงม่วง ปีการศึกษา 2521 ทางราชการได้เปิดขยายชั้นเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นชั้นสูงสุด ปัจจุบันนี้โรงเรียนเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 รวม 8 ห้องเรียน วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2540 คณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัดมหาสารคาม ได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนบ้านดงม่วง เป็นโรงเรียนบ้านดงม่วงหัวดงหนองบาก ตามจำนวนหมู่บ้านในเขตบริการที่มี 3 หมู่บ้าน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาโรงเรียน

วิสัยทัศน์

ภายในปี 2550 โรงเรียนบ้านดงม่วงหัวดงหนองบาก จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานผ่านเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาทุกด้าน ผู้เรียนได้รับการพัฒนาโดยครูมืออาชีพ ให้มีความรู้ เป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข มีความเป็นสากล สามารถใช้เทคโนโลยีในการสืบค้นวิทยาการสมัยใหม่ ควบคู่กับการอนุรักษ์ ความเป็นไทย ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่น

คำขวัญ

เรียนดี กีฬาเด่น เน้นคุณธรรม นำชุมชน

เป้าหมาย

1. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระ
2. นักเรียนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี
3. นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรมที่ดี
4. นักเรียนมีทักษะและศักภาพในการใช้เทคโนโลยี

อักษรย่อ

ด.ม.

ปรัชญา

นตถิ ปญญา สมาอาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี