ประวัติ

โรงเรียนบ้านทำนบตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 โดยร้อยตำรวจโทยนต์ ประพิตรภา นายอำเภอขุขันธ์ ให้ชื่อว่าโรงเรียนบ้านทำนบ ตำบลโสน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีนายมาก ทิพศร เป็นครูใหญ่ นายบุญมี ประวัติพงษ์ เป็นครูน้อย เนื่องจากทางราชการยังไม่มีงบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียน จึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมแรงและร่วมใจ โดยผู้ใหญ่บ้านและราษฏรหมู่บ้านทำนบและหมู่บ้านใกล้เคียงคือ บ้านห้วย บ้านภูดิน บ้านขะยูงทุกคนได้เสียสละกำลังกาย กำลังทรัพย์และกำลังความคิดปลูกสร้างขึ้น คิดเป็นราคาประมาณ 500 บาท (ห้าร้อยบาท)
พ.ศ. 2505 นายมาก ทิพศร ครูใหญ่ได้ลาออกจากราชการและทางราชการได้มอบหมายงานในหน้าที่ครูใหญ่แก่นายบุญมี ประวัติพงษ์ ครูน้อยในขณะนั้นรักษาการในตำแหน่งครูใหญ่
วันที่ 1 กันยายน 2505 ทางราชการได้แต่งตั้ง นายพิมพ์ ไชยนิล ครูโรงเรียนบ้านแดง เป็นครูใหญ่ ในช่วงดังกล่าวได้มีการพัฒนาโรงเรียนโดยจัดทำป้ายสถิติ 5 แผ่น กระดานดำ 3 แผ่น ม้ารองเขียน 18 ตัว เก้าอี้ 1 ตัว โดยนายพิมพ์ ไชยนิล เป็นผู้เสียสละทุนทรัพย์ส่วนตัว ในปีเดียวกัน นายบุญมี ประวัติพงษ์ ได้ลาออกจากราชการจึงเหลือครูใหญ่อยู่เพียงคนเดียวทำการสอนอยู่ ต่อมาทางราชการได้แต่งตั้งนายจันทร์ อุดมศรี ครูน้อยโรงเรียนบ้านขนุนมาเป็นครูผู้สอน นายพิมพ์ ไชยนิล ได้รับรองให้นายสง่า ไชยนิลและนายทำนอง ไชยนิล เป็นครูผู้ช่วยสอน ผู้ว่าราชการจังหวัดได้อนุญาตให้ทำการสอนได้และให้อยู่ในความดูแลของครูใหญ่ รวมมีครูทั้งสิ้น 4 คน
พ.ศ. 2506 นายพิมพ์ ไชยนิล ได้เสียสละทุนทรัพย์ส่วนตัว ปลูกสร้างบ้านพักส่วนตัวในบริเวณโรงเรียนราคาประมาณ 3,000 บาท เพื่อให้เป็นที่พักอาศัยของครูทุกคน
พ.ศ. 2507 นายพิมพ์ ไชยนิล ได้เสียสละทุนส่วนตัวทรัพย์ส่วนตัวสร้างเสาธง คิดเป็นราคา 200 บาท โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการแต่ประการใด
พ.ศ. 2509 นายพิมพ์ ไชยนิล ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่น ทางราชการได้แต่งตั้งนายจำรัส ประดิษฐ์ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ และได้บรรจุครูอีก 3 รายคือ นายประสิทธิ์ แย้มโสภา , นายจรูญ ม่วงมิตร , นายบุญเลิศ นามวงศ์ ในระหว่างนี้มีครูช่วยสอน 1 คน คือ นายสง่า ไชยนิล
พ.ศ. 2510 นายจำรัส ประดิษฐ์ ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่น ทางราชการได้แต่งตั้งนายดี อะสิพงษ์ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านทำนบ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ในระหว่างนี้ทำการสอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
พ.ศ. 2512 ทางราชการได้แต่งตั้งนายดี อะสิพงษ์ ไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนบ้านปรือคัน ทางราชการได้แต่งตั้ง นายเสนีย์ อวะสี เป็นครูใหญ่ และแต่งตั้ง นายจันทร์ อุดมศรี ไปดำรงตำแหน่งครูผู้สอนโรงเรียนบ้านสนามสามัคคี ในช่วงนี้มีครูอยู่ 3 คน คือ นายเสนีย์ อวะสี ครูใหญ่ นายบุญเลิศ นามวงศ์ ครูผู้สอน และนายเหลียน ศรีกาล เป็นครูช่วยสอน และทางราชการได้บรรจุและแต่งตั้งนายนิสิต แก่นเกษ และนายศิริ จตุรพิมพ์พันธ์ เป็นครูผู้สอน
พ.ศ. 2513 ประชาชนได้มีมติให้ขยายที่ดินโรงเรียนไปทางทิศใต้ ประมาณ 2 งานและได้ทำการตัดถนนทางด้านทิศเหนือของโรงเรียนกว้างประมาณ 6 เมตร ยาวประมาณ 2 เส้นเพื่อใช้เป็นถนนสาธารณะประโยชน์ในการสัญจรไปมา โรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนแบบ ป.1 ซ จำนวน 1 หลัง 3 ห้องเรียน ในปีเดียวกันได้ขออนุญาตรื้อถอนอาคารเรียนที่ประชาชนสร้างให้ มาสร้างเป็นโรงฝึกงานสำหรับนักเรียนและทางราชการได้อนุมัติงบประมาณสร้างบ้านพักครูแบบ ศก. 83/13 เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น 2 ห้องนอน 1 ห้องครัว ไม่มีห้องส้วม ราคา 21,000 บาท
พ.ศ. 2515 ทางราชการได้ให้โรงเรียนเปิดทำการสอนจาก ป.4 ขยายเป็น ป.5 ในปี 2515 และสอนชั้น ป.6 ในปี 2516 และเปิดสอน ป.7 ในปี 2517 ตามลำดับ ได้บรรจุครู จำนวน 3 ราย คือ นายบุญธรรม ถูกศรี , นายสันติ อุปไมย , นางปทุมมา อาจอินทร์
พ.ศ. 2517 ทางราชการได้บรรจุและแต่งตั้งนายกุล คำแสน , นายต่วน แขมคำและนายสวัสดิ์ พิมพา เป็นครูสายผู้สอน
พ.ศ. 2520 คณะครู กรรมการศึกษาและประชาชนชาวบ้านห้วย บ้านทำนบ บ้านตามอญ ได้ร่วมมือร่วมใจสร้างรั้วโรงเรียนโดยใช้เสาไม้แก่นสูงประมาณ 1.50 เมตร ติดลวดหนามรอบที่ดินโรงเรียนทั้งหมดคิดเป็นราคาประมาณ 5,000 บาท ในปีเดียวกัน โรงเรียนได้รับงบประมาณเป็นค่าก่อสร้างอาคารเรียนแบบ ศก.04 ก. จำนวน 1 หลัง ขนาด 3 ห้องเรียน และทางราชการได้บรรจุและแต่งตั้งนายนิรันดร์ คันศร เป็นครูผู้สอนและรับราชการได้ประมาณ 6 เดือน ก็ลาออกไปบรรจุครูโรงเรียนขุขันธ์สังกัดกรมสามัญศึกษา
พ.ศ. 2521 ทางราชการได้บรรจุและแต่งตั้ง นางสาวพิบูล สุทธิกุล, นายประเสริฐ สูงสุด, นายชูศักดิ์ พงษ์ชอุ่มดี , นายเรืองวิทย์ วรบุตร มาดำรงตำแหน่งครูผู้สอน
พ.ศ. 2522 ทางราชการได้อนุมัติให้บ้านห้วยสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ตั้งชื่อว่า โรงเรียนบ้านห้วยตามอญ นักเรียนที่มีภูมิลำเนาอยู่ใกล้เคียงบ้านห้วย บ้านตามอญ บ้านภูดิน จึงย้ายที่เรียนไปเรียนที่โรงเรียนบ้านห้วยตามอญ
พ.ศ. 2523 ได้รับงบประมาณสร้างโรงฝึกงาน จำนวน 1 หลัง แบบสามัญ 312
พ.ศ. 2524 ได้รับงบประมาณสร้างบ้านพักครู อาคารไม้ 2 ชั้น ขนาด 2 ห้องนอน 1 ห้องครัวส้วม 1 ห้อง และในปีเดียวกันทางราชการได้อนุมัติงบประมาณสร้างส้วมแบบ ศก.32 จำนวน 1 หลัง ขนาด 5 ที่
พ.ศ. 2537 นายเสนีย์ อวะสี เกษียณอายุราชการและได้แต่งตั้งนายประภาส ไชยโพธิ์ ตำแหน่ง อาจารย์ 1 ระดับ 5 รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ จนกระทั่งวันที่ 21 พฤศจิกายน 2537 สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษได้แต่งตั้งนายสนั่น เตชะสุข ครูใหญ่โรงเรียนบ้านโนนดั่ง อำเภอเมืองศรีสะเกษ ดำรงตำแหน่งครูใหญ่จากนั้นได้ทำปริมาณงานเพื่อขอกำหนดตำแหน่งอาจารย์ใหญ่และได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่และตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนตามลำดับ
พ.ศ. 2544 นายสนั่น เตชะสุข ได้ขออนุญาตเปลี่ยนเส้นทางชีวิตตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด ตามนโยบายรัฐบาลและได้มอบหมายให้นายเทอดศักดิ์ โสดาพรหม อาจารย์ 2 ระดับ 7 รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2544 สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษได้แต่งตั้งนายปวิช บุญมา อาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านดองกำเม็ดดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่และต่อมานายปวิช บุญมา ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่น เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2545
วันที่ 14 พฤษภาคม 2545 สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษได้แต่งตั้งนายชื่น แก้วนิมิตร ครูใหญ่โรงเรียนบ้านคำเผือและเป็นผู้สอบขึ้นบัญชีได้มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ จากนั้นได้ทำปริมาณงานขอกำหนดตำแหน่ง ได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนจนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2548
วันที่ 25 พฤษภาคม 2548 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 3 ได้แต่งตั้งนางวราภรณ์
กองทรัพย์ ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปุดเนียม อำเภอไพรบึง มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน
จนถึงปัจจุบัน

วิสัยทัศน์

โรงเรียนบ้านทำนบจัดการศึกษาเพื่อวางพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีความรู้คู่คุณธรรม เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัย รักการอ่าน การเขียน ใฝ่รู้ใฝ่เรียนใช้ทักษะทางด้านการสื่อสารเทคโนโลยี มีทักษะพื้นฐานในการทำงานและประกอบอาชีพ มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รักประเทศชาติและท้องถิ่น

คำขวัญ

ความรู้คู่ความดี
รู้หน้าที่มีความกตัญญู

พันธกิจ

1. นักเรียนได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและสติปัญญา
2. พัฒนาระบบบริหารและการจัดการของโรงเรียนให้สนองตอบภาระงานที่ปฏิบัติ
3. พัฒนาบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. พัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนการสอน โดยสื่อสมัยใหม่ เช่นคอมพิวเตอร์ ระบบการสอนจากจานดาวเทียม
5. พัฒนาอาคารสถานที่ และจัดสภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในห้องเรียนให้อื้อต่อการจัดการเรียนการสอน มีบรรยากาศร่มรื่น น่าดู น่าอยู่และน่าเรียน
6. จัดการศึกษาโดยแสวงหาความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครองและชุมชน

เป้าหมาย

1. นักเรียนทุกคนได้รับโอกาสในการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาและระดับประถมศึกษา ตามสิทธิอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน
2. ผู้เรียนทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

อักษรย่อ

ท.น.

เพลง

-

ปรัชญา

นัตถิ ปัญญา ษมา อาภา
แสงสว่าง เสมอด้วยปัญญาไม่มี