ประวัติ

โรงเรียนบ้านมะขาม ตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2504 โดยแยกออกมาจากโรงเรียนบ้านปรือคัน เนื่องจากมีระยะทางห่างไกลและมีหมู่บ้านอยู่อย่างกระจัดกระจาย ยากแก่การเดินทางไปเรียนของบุตรหลานในชุมชน ตลอดจนระหว่างทางเป็นสภาพป่าหนาทึบ ไม่มีความปลอดภัยในการเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนของบุตรหลาน ซึ่งครั้งแรกได้อาศัยเรียนที่ศาลาวัดปรือคันเป็นการชั่วคราวก่อน โดยเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีนักเรียนที่แยกออกมาจากโรงเรียนบ้านปรือคันทั้งสิ้น จำนวน 117 คน จนถึง พ.ศ. 2506 กรรมการหมู่บ้านนำโดยผู้ใหญ่บ้าน ได้นำราษฎรปลูกสร้างอาคารชั่วคราวขึ้น เป็นอาคารแบบ ป.1 ขนาด 2 ห้องเรียน กว้าง 9 เมตร ยาว 18 เมตร เสา 24 ต้น หลังคามุงสังกะสี ปูพื้นกระดาน มีฝากั้นห้องและประตูหน้าต่างเรียบร้อย เพื่อใช้เป็นสถานที่ให้บุตรหลานได้ศึกษาเล่าเรียน จึงได้ย้ายนักเรียนมาเรียนที่อาคารหลังใหม่ ในพื้นที่ปัจจุบัน โดยมีนายคำสอน คันศร เป็นครูใหญ่คนแรก
ปัจจุบันโรงเรียนมะขาม ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลปรือใหญ่ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 3 ระยะทาง 13 กิโลเมตร เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 - ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีหมู่บ้านในเขตบริการ 4 หมู่บ้าน คือ บ้านมะขาม บ้านปรือคันตะวันตก บ้านเนินแสงและบ้านแสนสุข รวม 310 ครอบครัว ภาษาที่ใช้ส่วนใหญ่เรียงลำดับมากน้อยคือ ภาษาส่วย เขมร ลาว และภาษาไทย ตามลำดับ

วิสัยทัศน์

เรียนดี กีฬาเด่น เน้นคุณธรรม นำชุมชนพัฒนา ก้าวหน้าเทคโนโลยี ภายในปี 50

คำขวัญ

เรียนดี กีฬาเด่น เน้นคุณธรรม นำชุมชน

พันธกิจ

1. จัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา และประถมศึกษา
2. ส่งเสริมการเล่นกีฬา เพื่อเสริมสร้างสุขภาพ และความเป็นเลิศ
3. ส่งเสริมพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ และจริยธรรม
4. ประสานความสัมพันธ์กับชุมชน
5. ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการศึกษา

เป้าหมาย

1. พัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนเก่งด้านกีฬา วิชาการ งานอาชีพ
2. พัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดีของพ่อแม่ ครูอาจารย์ และชุมชน
3. นักเรียนมีความสุขในการเรียน การทำงาน และการดำรงชีวิตในสังคม
4. นักเรียนได้เล่นกีฬาเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ และพัฒนาเพื่อความเป็นเลิศในระดับเขตพัฒนาคุณภาพการศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษา
5. เพื่อจัดทำคำของบประมาณสร้างอาคารเรียน และพัฒนาอาคารสถานที่ให้สวยงาม สะอาด ปลอดภัย และเอื้อต่อการเรียนการสอน
6. ระดมทรัพยากรจากชุมชน มาร่วมพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียน
7. โรงเรียนเข้าร่วม และจัดกิจกรรมอนุรักษ์ ส่งเสริม พระพุทธศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น
8. ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร เพื่อพัฒนางาน และประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา
9. ส่งเสริม และพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของบุคลากร นักเรียน

อักษรย่อ

ม.ข.

ปรัชญา

ทนฺโต เสฏโฐ มนุสฺเสสุ
"การฝึกฝนตนดีแล้ว เป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์"