การศึกษาที่คืนความสุขให้ประชาชน

การศึกษาเป็นความทุกข์ ตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัย ทุกข์ให้ลูก ทุกข์ให้พ่อแม่ ทุกข์ให้ชุมชนที่เมื่อก่อนนี้ดิ้นรนให้ลูกหลานไปเรียนสูงๆ เพื่อจะได้เป็นเจ้าคนนายคน วันนี้ก็ยังต้องดิ้นรนต่อไปให้ลูกได้ โรงเรียนดีๆ มหาวิทยาลัยดีๆ จะได้ทำงานดีๆ มีเงินเดือนสูง
โรงเรียนเล็กในหมู่บ้าน หรือแม้แต่โรงเรียนใหญ่ในชานเมืองก็ปิดไปเพราะพ่อแม่นิยมส่งลูกไปเรียนในเมือง รถตู้รถสองแถววิ่งขวักไขว่ งานใหม่รายได้ดีรับส่งเด็กๆ ไปเรียนในเมือง ครูมีงานทำรายได้ดี นอกจากรับส่งเด็กยังสอนพิเศษอีกต่างหาก
การศึกษาบ้านเราผิดตั้งแต่วิธีคิดแล้ว ทำให้การศึกษาเป็นการแข่งขันเพื่อชนะคนแพ้คัดออก ชนะจะได้ดิบได้ดี เอาตัวรอด เป็นการศึกษาที่รับใช้ทุนนิยมที่มีเป้าหมายที่วัตถุ เงินทอง ความสะดวกสบายส่วนตน ถ้ายังเชื่อในปรัชญาการศึกษาที่มีฐานคิดแบบนี้ก็ไม่มีทางปฏิรูปการศึกษาได้
การปรับวิธีคิด หรือที่เรียกให้ครบ คือ ปรับกระบวนทัศน์ หมายถึงปรับทั้งวิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า (บอกว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรควร อะไรไม่ควร) ซึ่งตั้งอยู่บนฐานการมองโลกความเป็นจริงที่แตกต่างไปจากเดิม จากที่มองเห็นแต่กำไร ผลประโยชน์ รายได้ จีดีพีเป็นเป้าหมาย ปรับมาเอาความสุขเป็นเป้าหมาย ความสุขส่วนตนและส่วนรวม
ถ้าเราจริงใจและจริงจังกับ \"เศรษฐกิจพอเพียง\" เราจะต้องทำ 3 อย่าง คือ สร้างคน สร้างความรู้ และสร้างระบบ ความหมายเดียวกันกับ พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน\"
1) ปฏิรูปการศึกษาจึงเริ่มจาก \"สัมมาทิฐิ\" การคิดชอบ คนที่คิดชอบเป็นคนที่อยู่บนทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา ความถูกต้องดีงาม การศึกษาที่ดีต้องสร้างคนให้เป็นคนดี คนมีคุณธรรมเป็นอันดับแรก
2) ปฏิรูปการศึกษาให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ ไม่ใช่การท่องจำ ไม่ใช่การไปลอกไปเลียนแบบ แต่เป็นการตั้งคำถามหาคำตอบใหม่ที่เหมาะสมกับตนเอง กับชุมชน กับท้องถิ่น ทำให้คนรู้จักวางแผนชีวิต ใช้ข้อมูลใช้ความรู้ในการประกอบอาชีพ เรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเอง พัฒนาศักยภาพหรือพลังภายในให้เต็มที่ เรียนรู้ดูแลสุขภาพของตนเอง มีข้อมูลความรู้เพื่อกินเป็นอยู่เป็นและมีสุขภาพดี
ปฏิรูปการศึกษาสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ จัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการให้เรียนแล้วมีความสุขและพึ่งพาตนเองได้ จึงเน้นการปฏิบัติ การสร้างความรู้ใหม่มากกว่าการท่องหนังสือแล้วไปสอบ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงการเรียนกับชีวิตจริง
3) ปฏิรูปการศึกษาพัฒนาระบบการศึกษาใหม่ ระบบที่กระทรวงศึกษาธิการไม่ใช่ผู้ไปควบคุมการจัดการศึกษา แต่ให้การส่งเสริมสนับสนุนแนวคิด วิชาการ เทคโนโลยี ด้วยการวิจัย การจัดการเรียนรู้ให้ครู ผู้นำชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้จัดการศึกษาที่เหมาะสมกับผู้เรียน กับท้องถิ่น
ระบบการศึกษาเช่นนี้เน้นการสร้างความสัมพันธ์แนวนอน ไม่ใช่แนวดิ่ง ไม่ใช้อำนาจ แต่สร้างแรงบันดาลใจให้ครู ให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ความสัมพันธ์แนวราบเช่นนั้นสร้างความร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากกว่าการเอาชนะและเอาเปรียบ
ระบบการศึกษาเช่นนี้จะไม่มีการเอาเงินไปจ้างคณะกรรมการหรือผู้บริหารเพื่อจะได้ตำแหน่ง เพื่อจะได้ขอย้ายที่ย้ายโรงเรียน ระบบที่ดีจะทำให้คนผิดได้ยาก ทำถูกได้ง่าย เพราะเป็นระบบที่เน้นคุณธรรม เน้นเป้าหมายของการจัดการศึกษาเพื่อให้คนเรียนแล้วพึ่งตนเองได้และมีความสุข
ระบบการศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษามี 3 ขาเพื่อยืนอยู่อย่างมั่นคง เป็น Education ที่มี 3 E คือ
๑) Engagement คือ การศึกษาที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง ผูกพันและผูกมัดตนเองกับปัญหาและ
ศักยภาพของตนเอง ของชุมชน ของท้องถิ่น ไม่ใช่ท่องหนังสือที่ส่วนใหญ่ท่องแล้วก็ลืม เอาไปใช้ในชีวิตจริงไม่ได้ เพราะไม่เคยใช้เลยตั้งแต่ขณะที่เรียน
๒) Emancipation คือ การศึกษาที่ปลดปล่อยจากการครอบงำทั้งหลาย จากความไม่รู้ ความยากจน
หนี้สิน ความเจ็บป่วย สิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ ความโดดเดี่ยวและความเหงา ตลอดจนอำนาจ อิทธิพลต่างๆ ทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ที่ทำให้คนเป็นเหมือนไม้ในกระถาง ไม่สามารถพัฒนาตนเองและเติบโตเป็นไม้ใหญ่ให้พึ่งพาตนเองได้ เป็นการศึกษาที่คืนศักดิ์ศรีความเป็นคนให้กับผู้เรียนและปวงชน
๓) Empowerment คือ การศึกษาที่สร้างความเข้มแข็ง สร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้เรียน ให้ชุมชน ให้
ท้องถิ่น ให้สังคมโดยรวม เป็นการศึกษาที่เรียนแล้วไม่มีเงินก็ได้เงิน ไม่มีที่ดินก็ได้ที่ดิน มีโรคภัยไข้เจ็บก็ได้สุขภาพดี ไม่ใช่การศึกษาที่ยิ่งเรียนยิ่งโง่ ยิ่งจน ยิ่งเจ็บ ยิ่งทุกข์มากขึ้น
ถ้าเรามุ่งมั่นนำเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นปรัชญาของการปฏิรูปการศึกษา เราจะวางเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาว่า ทำอย่างไรการศึกษาจึงจะปลดเปลื้องความทุกข์ของคนทั้งแผ่นดิน คืนความสุขให้ประชาชน ให้พวกเขาเป็นอิสระและพึ่งตนเองได้

เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com


ที่มา:หนังสือพิมพ์สยามรัฐ



04/10/2557