ครูพระราชทาน

“หนูชอบเรียนวิชาภาษาอังกฤษคะ/ครับ เรียนผ่านทีวีสนุก ไม่น่าเบื่อ” เสียงใส ๆ ที่แย่งกันแสดงความรู้สึกของหนูน้อยชั้น ป.1 โรงเรียนวัดบางคูบัว ต.วัดดาว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนแค่ 100 คน มีครูไม่ครบชั้น ครูสอนไม่ตรงสาขาวิชาเอก แต่เรียนด้วยเทคโนโลยีทางไกลผ่านดาวเทียม จากโรงเรียนวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

และยิ่งได้ฟังจาก คุณครูทัศนีย์ อินทร์สกุล ครูประจำชั้น ป.3 ซึ่งจบการศึกษาเอกคหกรรมศาสตร์ แต่ต้องมาสอนที่โรงเรียนขนาดเล็กแห่งนี้ในทุกวิชามากว่า 20 ปี ว่า “บางวิชาก็ไม่ถนัดแต่เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาโรงเรียนนำเทคโนโลยีทางไกลผ่านดาวเทียมมาเสริมกับการสอนของครู เด็กก็กระตือรือร้นที่จะเจออาจารย์ทางทีวีในแต่ละวิชา และดีกว่ามาเจอแต่กับครูคนเดียวทั้งวัน ครูเองก็เหนื่อยด้วย การสอนทางไกลช่วยครูได้เยอะ และผลการเรียนของเด็กก็ขยับขึ้น”

ยิ่งทำให้เห็นถึงความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม ที่ได้จัดห้องเรียนให้เด็กทุกคนได้ใกล้ชิดกับทั้งครูจริง ๆ และครูในโทรทัศน์ไปพร้อม ๆ กัน ขณะเดียวกันก็ได้ยินเสียงที่ครูสอนอย่างชัดเจน โดยที่ครูก็ได้เตรียมการก่อนการสอนเพราะมีคู่มือครู มีแผนการสอนที่ชัดเจน ว่าชั่วโมงไหนเรียนวิชาอะไรและต้องเตรียมวัสดุอุปกรณ์ใดสำหรับเด็กบ้าง

ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่โรงเรียนวัดบางคูบัวเท่านั้น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สุพรรณบุรี เขต 1 ทุกแห่ง มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ปีในทุกวิชา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2553-2556 ทั้งจากผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต และ การทดสอบระดับชาติ หรือ เอ็นที ทั้ง ๆที่ในเขตพื้นที่ฯ นี้มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน มีครูไม่ครบชั้น ครูสอนไม่ตรงสาขาวิชาเอก มากถึง 84 โรงเรียน หรือ 58% ของโรงเรียนในสังกัดทั้งหมด

เมื่อพิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า “โครงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลเฉลิมพระ เกียรติ” ที่ สพป.สุพรรณบุรี เขต 1 ให้ทุกโรงเรียนในสังกัดจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีทางไกลผ่านดาวเทียม ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และทำอย่างต่อเนื่อง ช่วยยกคุณภาพการศึกษาและแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กได้จริง และเขตพื้นที่ฯ อื่น ๆ ก็ทำได้ดีเช่นกัน

ประกอบกับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการด่วนด้านการศึกษา ให้แก้ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษา การขาดแคลนครู ด้วยการพัฒนาเชื่อมโยงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ตามโครงการพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นที่มาของ “โครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ” ทั้งในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 15,669 แห่ง เพื่อเพิ่มคุณภาพ เพิ่มโอกาส และความเท่าเทียมกันทางการศึกษาให้แก่เด็ก และเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนม พรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557 นี้ โดยนำแบบอย่างของ สพป.สุพรรณบุรีเขต 1 มาเป็นต้นแบบ

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) บอกว่า สพฐ.ได้เดินหน้าปูพรมเติมเต็มจานรับสัญญาณผ่านดาวเทียม พร้อมชุดอุปกรณ์ ให้แก่โรงเรียนที่ยังไม่มีหรือมีแล้วแต่ชำรุดเสียหาย อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของโครงการนี้ ไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือหรืออุปกรณ์ แต่อยู่ที่ครู ดังนั้นจะเน้นเรื่องการพัฒนาครู พัฒนาคนในองค์กรเป็นหลัก ถ้าทุกคนมีความตระหนักและเข้าใจก็จะสามารถจัดการเรียนการสอนทางไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จะเริ่มโครงการฯ เต็มรูปแบบได้ในภาคเรียนที่ 2/2557 หรือ ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จากนั้นในปลายเดือนมีนาคม 2558 จะมาดูว่า เมื่อใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมแล้ว ผลสัมฤทธิ์ในวิชาต่าง ๆ ของเด็กทั่วประเทศ จะเพิ่มมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราคาดหวังว่าจะเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ ผอ. สพป.สุพรรณบุรี เขต 1 บอกว่า ทางเขตพื้นที่ฯ ได้ทำการวิจัยเรื่องนี้มากว่า 4 ปี และเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า การนำเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมมาใช้สอนในทุกชั้น ทุกวิชา ทำให้เด็กได้เรียนครบถ้วน ครูโรงเรียนวังไกลกังวล เป็นครูที่สอนตรงเอก จากเด็กในโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดครู กลายเป็นเด็กทุกคน ได้เรียนกับครู 2 คน คือ “ครูตู้ที่ในหลวงพระราชทานมากับครูประจำชั้น”

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาการศึกษาของชาติอีกครั้ง.

ณัชชารีย์ วิเชียรรัตน์

ที่มา:หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ วันศุกร์ 29 สิงหาคม 2557 เวลา 00:00 น.



31/08/2557