ชง3แนวทางลดภาระค่าเทอม

วันนี้ (7 ส.ค.) ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวถึงข้อเสนอยกเลิกการเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายผู้ปกครองที่ได้ยื่นเรื่องถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ว่า เรื่องนี้คสช.ได้ส่งเรื่องอย่างเป็นทางการมาที่ ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทนรมว.ศึกษาธิการ ซึ่งปลัด ศธ.ได้แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)หารือกับกลุ่มเครือข่ายผู้ปกครอง ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยกันอย่างชัดเจนในเบื้องต้น 3 แนวทางคือ 1.ถ้าจะให้ฟรีทั้ง 100% จะต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เมื่อคำนวณเบื้องต้นเฉพาะในส่วนของสพฐ.รัฐจะต้องจัดเงินสนับสนุนอย่างน้อยกว่า 6 หมื่นล้านบาท แนวทางที่ 2.ให้มาดูว่ารายการที่อนุญาตให้เรียกเก็บเงินสนับสนุนจากผู้ปกครองได้นั้นมีรายการใดที่สามารถปรับลดลงหรือยกเลิกได้ และเมื่อปรับลดลงแล้วจะต้องมาคำนวณอีกครั้งว่ารัฐจะต้องสนับสนุนเงินจำนวนเท่าไหร่ และ แนวทางที่ 3 ถ้ายังคงให้สถานศึกษาเก็บเงินสนับสนุนจากผู้ปกครองได้ตามรายการที่อนุญาตเหมือนเดิมทุกประการ แต่ต้องมีเกณฑ์ว่า คนที่ลำบากขนาดไหนที่จะถูกเรียกเก็บ ซึ่งแนวทางนี้ปัจจุบันหลายโรงเรียนก็ทำอยู่ แต่จะต้องมากำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนว่าเด็กกลุ่มใดที่จะเข้าข่ายไม่ถูกเรียกเก็บ โดยอาจจะพิจารณาจากรายได้ครอบครัวไม่เกินเท่าไหร่ เป็นต้น แต่ทั้งนี้เด็กจะต้องยังได้รับสิทธิในการเรียนตามปกติที่โรงเรียนจัดให้

“ขณะนี้สำนักนโยบายและแผนกำลังหาข้อมูลค่าใช้จ่ายต่อหัวที่แท้จริงของเด็กแต่ละคนว่าเป็นเท่าไร โดยสำรวจจากโรงเรียนทั่วประเทศ คาดว่าจะได้ข้อสรุปตัวเลขที่ชัดเจนภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายที่สำรวจทั้งหมดจะรวมถึงค่าสาธารณูปโภค ค่าซ่อมแซมอาคารเรียน ค่าห้องเรียนพิเศษ ทั้ง English Program ,Mini English Program ห้องเรียนพิเศษด้านภาษาต่างประเทศด้านวิชาการและด้านอื่น ๆ เช่น ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามเท่าที่ดูการจะให้ได้ทั้ง 100% ในทุกรายการผมมองว่าคงต้องทำใจว่าน่าจะเป็นเรื่องลำบาก เพราะขนาดค่าสาธารณูปโภคของโรงเรียนที่ค้างจ่ายอยู่ปัจจุบันก็มีประมาณกว่า 300 ล้านบาท ซึ่ง สพฐ.ก็ทยอยจ่ายอยู่ แต่เราก็ต้องหาข้อมูลเสนอให้ คสช.เพื่อเป็นทางเลือกที่จะแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง เพราะถ้าเป็นแนวทางแรกก็ต้องทุ่มเงินอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทั้งฟรีจริงกันทั้งประเทศและทุกรายการ ขณะที่แนวทางที่ 2 และ3 ก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ปกครองที่จะสนับสนุนโรงเรียน ขณะเดียวกันก็ต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ดีด้วย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้

นายสวัสดิ์ เพชรบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนหอวัง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)กทม.เขต 2 กล่าวว่า ปัจจุบันสถานศึกษามีการจัดการศึกษาที่หลากหลายตามความต้องการของผู้เรียน เช่น ห้องเรียนพิเศษที่เน้นการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการ ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนนอกเหนือหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครอง แต่ถ้าจะไม่ให้โรงเรียนขอรับการสนับสนุนจากผู้ปกครองก็สามารถทำได้ แต่รัฐต้องจัดให้อย่างเพียงพอ แต่ในความเป็นจริงทุกวันนี้เงินอุดหนุนที่รัฐสนับสนุนก็ยังไม่เพียงพอต่อการจัดการศึกษาที่เพิ่มคุณภาพ ตามความต้องการของผู้ปกครอง ดังนั้นเมื่อโรงเรียนจัดห้องเรียนพิเศษให้ ผู้ปกครองก็ยินดีให้การสนับสนุน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมายอมรับว่าเงินสนับสนุนจากผู้ปกครองก็ไม่ได้เก็บได้ทั้ง 100% โดยจะเก็บได้เพียง 70-80% เท่านั้น ส่วนที่เหลือโรงเรียนก็ต้องจัดทุนมาดูแล ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ทุกโรงเรียน.


ที่มา:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์วันพฤหัสบดี 7 สิงหาคม 2557



08/08/2557