"ณรงค์"หนุนแยกสกอ.เป็นกระทรวง

\"ณรงค์\" หนุนแยกกระทรวงอุดมฯ เตรียมเรียกเลขาฯ กกอ. ปลัด ศธ. และผู้เกี่ยวข้องปรับแก้รายละเอียดใน พ.ร.บ.อุดมฯ ลั่นถ้าเรียบร้อยพร้อมเสนอเข้า ครม.ทันที แจงเน้นเพิ่มอำนาจให้ สกอ.หวังแก้ปัญหาคุณธรรมจริยธรรมในมหาวิทยาลัย ส่วนเรื่องอื่นๆ ยังคงมีอิสระเช่นเดิม
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เป็นประธาน ได้นำร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา ที่เสนอโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มาพิจารณา จากเดิมที่ ทปอ.เคยเสนอผ่านกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แต่ต้องชะลอไป เพราะรัฐบาลมีนโยบายไม่ให้แต่ละกระทรวงยุ่งเกี่ยวกับการปรับโครงสร้าง ว่า เรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ สนช. ซึ่งตนในฐานะ รมว.ศธ.คงไม่ขัดขวางหรือไม่เห็นด้วย เพราะเดิมก็เคยมีทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งดูแลอุดดมศึกษาอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ย้ำเสมอว่า การปรับโครงสร้างของทุกกระทรวงขอให้ชะลอเอาไว้ก่อน เพื่อไม่ให้กระทบกับการพัฒนาในส่วนอื่นๆ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้ยุติการดำเนินการทั้งหมด แต่อาจจะทำไว้เพื่อเสนอในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าหากจะแยกอุดมศึกษาออกจาก ศธ. ควรจะต้องดูเรื่องข้อกฎหมายรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจน จะต้องวางโครงสร้างให้ดี ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงาน การดูแลมหาวิทยาลัย และที่สำคัญต้องไม่ลิดรอนสิทธิทางการศึกษา
พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวต่อว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ส่งร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษามาให้ตนพิจารณาแล้ว แต่เมื่อดูในรายละเอียดยังพบข้อสงสัยและไม่เห็นด้วยอยู่หลายมาตรา ซึ่งคงต้องมีการหารือกัน โดยเร็วๆ นี้จะเชิญ นพ.กําจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.) นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. และนางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัด ศธ. มาพูดคุยว่ามีมาตราไหนที่ยังติดขัดและจำเป็นต้องปรับแก้ เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวสามารถเดินหน้าได้ต่อไป และถ้าไม่มีข้อขัดแย้งแล้ว ตนก็พร้อมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทันที
“ผมเห็นด้วยที่จะมี พ.ร.บ.อุดมศึกษาเกิดขึ้น เพราะจะช่วยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการกับมหาวิทยาลัย แต่ทั้งนี้การเขียนรายละเอียดใส่ไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะออกมาในรูปแบบไหน มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับใดบ้าง หรือจะเพิ่มความเข้มงวดมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องมาพิจารณาภาพรวมความเหมาะสมทั้งหมดอีกครั้ง ส่วนข้อกังวลของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ว่า พ.ร.บ.อุดมศึกษา จะให้อำนาจ รมว.ศธ.มากเกินไปนั้น เท่าที่ดู กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เพิ่มอำนาจดังกล่าว แต่เพิ่มอำนาจ กกอ.ในการเข้าไปบริหารจัดการมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาคุณธรรมจริยธรรมในและปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ไม่ได้ไปจำกัดสิทธิอะไรของมหาวิทยาลัย ยังคงมีอิสระทางวิชาการเช่นเดิม ดังนั้นมหาวิทยาลัยใดที่ไม่มีปัญหาก็ไม่น่ากังวล” รมว.ศธ.กล่าว
วันเดียวกัน เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัย ประมาณ 20 คน นำโดยนายสุมิตร สุวรรณ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ในฐานะประธานเครือข่ายฯ ยื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เพื่อขอให้ช่วยผลักดันร่าง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา โดยนายสุมิตรกล่าวว่า ขอให้ สนช.ช่วยผลักดันกฎหมายดังกล่าว เพราะถือเป็นหลักประกันที่ดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพขั้นต่ำของพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณกว่า 100,000 รายในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ และขอให้มีผลบังคับใช้กับมหาวิทยาลัยทุกแห่ง รวมถึงจะดูแลครอบคลุมถึงเรื่องสิทธิการปรับเงินเดือน โดยระบุว่า หากข้าราชการได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือน รัฐบาลก็ควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มให้ในอัตราที่เท่ากันด้วย
ด้านนายพรเพชรกล่าวว่า กฎหมายนี้ต้องเสนอผ่านทาง ครม. มาถึง สนช. จึงจะสามารถพิจารณาได้ ดังนั้นตนขอแนะนำให้ทางเครือข่ายฯ ไปหารือปรับแก้รายละเอียดในมาตราต่างๆ ที่ยังเป็นความขัดแย้งให้เห็นตรงกัน และขอความเห็นชอบจาก ครม.ตามขั้นตอนต่อไป


ที่มา:หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ Apr 10, 2015



10/04/2558